สรุปผลการเยือนญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ ๕๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว

สรุปผลการเยือนญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ ๕๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ธ.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 ธ.ค. 2566

| 4,306 view

เมื่อวันที่ ๑๔ - ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมคณะของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ ๕๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว

ภารกิจสำคัญของนายกรัฐมนตรีในระหว่างการเยือนญี่ปุ่น ประกอบด้วย

(๑) การเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ไทยมีบทบาทสำคัญในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์ฯ ได้ผลักดันเรื่องความเชื่อมโยงในภูมิภาค การพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน ซึ่งจะมีมูลค่าสูงถึง ๒ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๐๓๐ นายกรัฐมนตรียังได้เสนอความร่วมมือด้านซอฟต์พาวเวอร์ โดยเชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมมือในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งในด้าน ดีไซน์ แฟชั่น อาหาร ดนตรี ศิลปวัฒนธรรม และดิจิทัลคอนเทนต์ ผู้นำอาเซียนและญี่ปุ่นยังได้รับรองแถลงการณ์ร่วมวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น และแผนดำเนินงานฉบับใหม่ เพื่อกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน-ญี่ปุ่นในอนาคต

(๒) การหารือทวิภาคีนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในอนาคต โดยเฉพาะการส่งเสริมการค้าการลงทุน อาทิ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการยานยนต์ญี่ปุ่นในไทย ซึ่งเป็นการช่วยผู้ประกอบการไทยที่เป็น supply chain ไทยได้ยกเว้นวีซ่าให้นักธุรกิจญี่ปุ่นเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้น นอกจากนี้ ยังส่งเสริมความร่วมมือเศรษฐกิจใหม่ อาทิ ซอฟต์พาวเวอร์และเศรษฐกิจดิจิทัล

(๓) การพบหารือกับภาคธุรกิจชั้นนำของญี่ปุ่น ๑๐ บริษัท เป็นธุรกิจยานยนต์ ๗ บริษัท ได้แก่ ซูซิกิ มาสด้า ฮอนด้า นิสสัน มิตซูบิชิ อีซูซุ และโตโยต้า และบริษัทที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ๓ ราย ได้แก่ Misui Kubota Panasonic และธนาคาร MUFG ของญี่ปุ่นที่ประกอบกิจการในไทยด้วย นอกจากนั้น หารือกับบริษัท Muji เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการส่งเสริมสินค้าท้องถิ่น และการต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์ของไทย

(๔) การกล่าวปาฐกถาในงาน Thailand-Japan Investment Forum จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล และประชาสัมพันธ์โอกาสและลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย และงาน Thailand Landbridge Roadshow จัดโดยกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการ เชิญชวนภาคเอกชนญี่ปุ่นที่สนใจและมีศักยภาพ เข้ามาร่วมพัฒนาโครงการดังกล่าวเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการแลนด์บริดจ์ให้แก่นักลงทุนภาคธุรกิจญี่ปุ่น

(๕) การเข้าร่วมการประชุม Asia Zero Emission Community (AZEC) Leaders Meeting นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม Asia Zero Emission Community (AZEC) Leaders Meeting พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรี และนายกุลิศ สมบัติศิริ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โดยที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยกล่าวถึงนโยบายไทยเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานสะอาด และเชิญชวนภาคเอกชนญี่ปุ่นให้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานให้ตอบโจทย์การเติบโตสีเขียว

(๖) การพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น และประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) รองนายกรัฐมนตรีร่วมคณะนายกรัฐมนตรีพบหารือกับนายไซโต เค็น รัฐมนตรี METI คนใหม่ และนายอิชิกูโระ โนริฮิโกะ ประธาน JETRO โดยเน้นการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ EV พลังงานสะอาด ความร่วมมือด้านนวัตกรรมและนวัตกรรมแบบเปิด (open innovation) การร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

(๗) การเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น ก่อนเดินทางกลับไทย ในวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น และมกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นและพระชายา ที่พระราชวังอิมพีเรียล

(๘) การหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีลาว กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ได้หารือประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ อาทิ การเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะระบบรางและถนนเชื่อมโยงกับลาว การส่งเสริมการค้าและการเคลื่อนย้ายของแรงงานกัมพูชากับไทย การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การร่วมมือกับลาวในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน รวมถึงได้ตอบสนองคำขอซื้อข้าว ๒ ล้านตันในปี ๒๕๖๖ - ๒๕๖๗ ของอินโดนีเซีย เป็นต้น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ