ไทยร่วมหารือกับสมาชิกเอสแคปเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ไทยร่วมหารือกับสมาชิกเอสแคปเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 เม.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 เม.ย. 2567

| 1,523 view

เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๗ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในช่วงพิธีเปิดการประชุมประจำปี สมัยที่ ๘๐ (80th Session of the Commission: CS80) ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Leveraging digital innovation for sustainable development in Asia and the Pacific” โดยได้ย้ำวิสัยทัศน์ “Ignite Thailand” ซึ่งส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของไทยไปสู่เศรษฐกิจและระบบการเงินดิจิทัล และความสำคัญของการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล เช่น อาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยทุกประเทศต้องร่วมมือกันเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านนั้นเป็นไปอย่างปลอดภัย เป็นธรรม และเป็นประโยชน์กับประชาชนในภูมิภาค

ในโอกาสนี้ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้แทนระดับสูงที่เข้าร่วมการประชุม โดยมีนางอาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา เลขาธิการบริหารเอสแคป ได้เป็นเจ้าภาพ โดยในวันเดียวกัน นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเลขาธิการบริหารเอสแคปได้ร่วมเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำ ซึ่งได้มีการนำเสนออาหารไทย และการแสดงวัฒนธรรมไทยแก่ผู้เข้าร่วมการประชุม

นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทยเพื่อนำเสนอการใช้นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย และนางสาวพินทุ์สุดา ชัยนาม อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้รับคัดเลือกจากเอสแคปเป็นหนึ่งในรองประธานการประชุมฯ เพื่อดำเนินการประชุม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยร่วมกล่าวถ้อยแถลงภายใต้ระเบียบวาระต่าง ๆ

นอกจากนี้ หน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องได้ร่วมจัดแสดงบูธในนิทรรศการนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีของไทย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการดำเนินงาน รวมถึงสร้างเครือข่าย ได้แก่ (๑) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นำเสนอนิทรรศการสมุดสุขภาพ “Health Book” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพและบริการสุขภาพ (๒) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำเสนอนิทรรศการ “AI for Better Life” การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดโดยใช้เทคโนโลยี AI และ (๓) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมนำเสนอนิทรรศการเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมการประชุมตลอดทั้งสัปดาห์

ในช่วงท้ายของการประชุมฯ ที่ประชุมฯ รับรองข้อมติและข้อตัดสินใจจำนวน ๕ ฉบับ ซึ่งรวมถึงข้อตัดสินใจให้จัดการประชุมประจำปี สมัยที่ ๘๑ ระหว่างวันที่ ๒๑–๒๕ เมษายน ๒๕๖๘ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อหลัก “Regional cooperation for resilient and sustainable urban development in Asia and the Pacific” ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ประเทศสมาชิกหารือเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเมืองให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ