สรุปการแถลงข่าวโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในประเด็นการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี ๒๕๖๖

สรุปการแถลงข่าวโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในประเด็นการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี ๒๕๖๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 พ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2566

| 4,093 view

การแถลงข่าวโดยนายปานปรีย์ พหิทธานุกร
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ในประเด็นการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี ๒๕๖๖

ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ

วันศุกร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๔๐ - ๑๒.๐๐ น.

  • การประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี ๒๕๖๖ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙-๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในรอบ ๗ ปี ซึ่งตรงกับช่วงที่รัฐบาลเข้ารับหน้าที่ได้เพียง ๒ เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ได้รับทราบนโยบายของรัฐบาล ซึ่งให้ความสำคัญกับดำเนินการต่างประเทศในยุคใหม่ที่จับต้องได้ และตอบสนองผลประโยชน์ของประเทศชาติและสร้างความกินดีอยู่ดีแก่ประชาชนผ่านการดำเนิน “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก”
  • การประชุมฯ ครั้งนี้ มีเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ อุปทูต และรักษาการกงสุลใหญ่ เข้าร่วม ๙๗ คน จากสถานเอกอัครราชทูต ๖๕ แห่ง สถานกงสุลใหญ่ ๒๘ แห่ง คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติและอาเซียน ๓ แห่ง รวมถึงสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ๑ แห่ง นอกจากนี้ ยังได้เชิญเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมด้วย
  • ในช่วงเย็นของวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ รวมทั้งผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ณ ศาลาดุสิดาลัย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ รวมถึงเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ ได้ศึกษาดูงานที่ศูนย์ฝึกโรงเรียนจิตอาสา ๙๐๔ (บางเขน) ด้วย
  • นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายต่อเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ และผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์และฝ่ายส่งเสริมการลงทุนในฐานะทีมประเทศไทยด้านเศรษฐกิจ โดยย้ำความสำคัญของ “การทูตเชิงรุก” เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาอยู่ในจอเรดาร์ของประชาคมระหว่างประเทศ มีสถานะ ศักดิ์ศรี และความน่าเชื่อถือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับหุ้นส่วนทางการค้า นักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้ร่วมกันระดมสมองเพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินการในการส่งเสริมการค้าและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในบริบทของความท้าทายของภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ และการแข่งขันทางเทคโนโลยี
  • เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังผลการระดมสมองที่กระทรวงฯ โดยหน่วยงานทั้งสาม (กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ได้ร่วมกันกำหนดประเทศเป้าหมายด้านการค้าและการลงทุน ๑๐ ประเทศ โดยพิจารณาจากศักยภาพของประเทศและตลาดต่าง ๆ Mega Trends และยุทธศาสตร์การลงทุนของไทย โดยแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มประเทศเป้าหมาย ได้แก่
    • (๑) ตลาดหลักที่ต้องรักษาไว้ ได้แก่ (i) สหรัฐฯ (ii) จีน (iii) ญี่ปุ่น (iv) เยอรมนี และ (v) ฝรั่งเศส
    • (๒) ตลาดศักยภาพ ได้แก่ (i) อินเดีย (ii) UAE และ (iii) เกาหลีใต้ และ
    • (๓) ตลาดศักยภาพใหม่ ได้แก่ (i) ซาอุดีอาระเบีย และ (ii) แอฟริกาใต้ 
  • ขณะเดียวกัน ไทยก็ยังจำเป็นต้องกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับประเทศอื่น ๆ ที่มีความสำคัญสำหรับไทย โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ACMECS อาเซียน BIMSTEC GCC และ EU อีกทั้งจำเป็นต้องเข้าร่วมกรอบความร่วมมืออื่น ๆ เช่น OECD เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานและโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย
  • การประชุมทูตและกงสุลใหญ่ในครั้งนี้ ยังจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ได้แก่
    • (๑) กิจกรรมภายใต้ concept “ทีมประเทศไทย” ได้แก่ การประชุมระหว่างเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่กับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน
    • (๒) กิจกรรมภายใต้ concept “ทีมประเทศไทยพลัส” ซึ่งประกอบด้วยทีมประเทศไทย บวกกับภาคเอกชน ได้แก่ การรับฟังความเห็นและความคาดหวังต่อบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศจากผู้บริหารภาคเอกชนในภาคการค้า อุตสาหกรรม การเงิน อสังหาริมทรัพย์ การบริการ พลังงาน และ Start-up
  • เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ยังได้มีโอกาสรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นกับหน่วยงานราชการและภาควิชาการในหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของโลกและโครงการสำคัญของรัฐบาล ผ่านการสัมมนา การบรรยายและปาฐกถา อาทิ การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ การท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน เศรษฐกิจดิจิทัล Soft Power เทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงการ Landbridge ความมั่นคงทางพลังงาน และการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและคาร์บอนเครดิต
  • การประชุมในครั้งนี้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ โดยเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ และผู้บริหารกระทรวงฯ ได้หารือเกี่ยวกับ “โอกาส” ของไทยในการดำเนินนโยบายต่างประเทศยุคใหม่ ซึ่งจะมีความเป็นเชิงรุก (proactive) และมองไปข้างหน้า (forward-looking) โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงของภูมิภาค และมีบทบาทร่วมในประเด็นสำคัญ ของโลกและภูมิภาค เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืนและการบรรลุเป้าหมาย SDGs การสาธารณสุข เศรษฐกิจสีเขียว ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน
  • เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับ “การทูตเพื่อประชาชน” ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกระทรวงการต่างประเทศและจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในสถานการณ์โลกที่ผันผวน โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือและอพยพคนไทยในกรณีฉุกเฉิน และการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์หรือวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
  • การสื่อสารกับประชาชนเพื่อความโปร่งใสและให้การต่างประเทศเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลและผมให้ความสำคัญ และยินดีที่เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่หลายท่านได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในหัวข้อที่เป็นที่สนใจ ทั้งเรื่องการให้ความช่วยเหลือคนไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในในอิสราเอลและเล่าก์ก่าย ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ ความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและภูมิภาค การรุกตลาดใหม่และการส่งเสริม Soft Power ซึ่งกระทรวงฯ จะสื่อสารกับประชาชนให้มากที่สุดในเรื่องสำคัญผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
  • หลังจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ จะร่วมกันขับเคลื่อนผลการประชุมฯ และนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

 

* * * 

กองการสื่อมวลชน

กรมสารนิเทศ

 

รับชมการแถลงข่าวย้อนหลัง : https://fb.watch/ow1S0bu7MG/?mibextid=qC1gEa

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

PowerPoint_DPM-FM_-_24_Nov_2023.pdf