คำกล่าวปาฐกถาพิเศษโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในหัวข้อ “นโยบายด้านการต่างประเทศของไทยภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของนานาประเทศ” ในสัมมนา “๒๐๒๔ ปีแห่งการเลือกตั้งโลก : การกำหนดและดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของไทย”

คำกล่าวปาฐกถาพิเศษโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในหัวข้อ “นโยบายด้านการต่างประเทศของไทยภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของนานาประเทศ” ในสัมมนา “๒๐๒๔ ปีแห่งการเลือกตั้งโลก : การกำหนดและดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของไทย”

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.พ. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 ก.พ. 2567

| 9,501 view

คำกล่าวปาฐกถาพิเศษ

โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ในหัวข้อ “นโยบายด้านการต่างประเทศของไทย

ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของนานาประเทศ

สัมมนา ๒๐๒๔ ปีแห่งการเลือกตั้งโลก : การกำหนดและดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของไทย

จัดโดยคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา

วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๓.๐๐ น.

ณ ห้องประชุมสัมมนา บี ๑ - ๑ ชั้น บี ๑ อาคารรัฐสภา

 

กราบเรียนท่านประธานวุฒิสภา

ท่านประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ

สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการและอนุกรรมาธิการ
ผู้ร่วมสัมมนา และแขกผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน

 

๑. ก่อนอื่น ผมขอขอบคุณคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ที่ได้ให้เกียรติเชิญผมมาพบกับท่านทั้งหลาย และกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายด้านการต่างประเทศของไทยภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของนานาประเทศ” ในวันนี้ เนื้อหาของการปาฐกถาจะประกอบไปด้วย ๒ ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ๑) บริบทการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ และ ๒) จุดยืนของไทยหรือการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในบริบทโลกที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งผมจะให้เวลาส่วนใหญ่ในส่วนที่สองนี้

๒. สถานการณ์โลกในปัจจุบันมีความเปราะบางและคาดเดาได้ยากขึ้น เราเผชิญกับความผันผวนและกระแสของความแตกแยกในทุกมิติที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งทางอาวุธในหลายจุดเปราะบางทั่วโลก ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบในยูเครนที่ได้ดำเนินมาจนเกือบจะครบ ๒ ปี และมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อต่อไป หรือความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ที่ขยายไปสู่การโจมตีเรือพาณิชย์โดยกลุ่มฮูษี (Houthi) ในทะเลแดง ส่งผลกระทบกว้างขวางต่อการเดินเรือ การค้า และการขนส่งระหว่างประเทศ

๓. สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ รวมทั้งการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ ย่อมส่งผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ และภูมิเทคโนโลยี สร้างการแบ่งแยกของห่วงโซ่อุปทาน และทำให้โลกแบ่งขั้ว กลายเป็นฉากทัศน์สำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลกในยุคนี้

๔. อีกปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดในปีนี้ คือ การเลือกตั้งในประเทศต่าง ๆ กว่า ๕๐ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศ/เขตเศรษฐกิจสำคัญ เช่น หลายประเทศในสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และที่ใกล้ไทยเข้ามา คือ อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ โดยผลการเลือกตั้งจะเป็นมาตรวัดที่สะท้อนทิศทางและพลวัตการดำเนินนโยบายของภูมิภาคและโลกต่อไป

๕. แต่การเลือกตั้งที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญมากที่สุดในปีนี้ก็น่าจะเป็น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี และเป็นที่คาดการณ์กันว่า หากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง รัฐบาลสหรัฐฯ จะมีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่สำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อระเบียบเศรษฐกิจและการเมืองโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทิศทางของความสัมพันธ์กับประเทศจีน

๖. ผมเชื่อว่า ท่านได้ติดตามข่าวการพบปะหารือระหว่างนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนกับนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ที่กรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการเชิงบวกที่สะท้อนถึงความพยายามของทั้งสองมหาอำนาจที่จะหารือพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อบริหารจัดการความสัมพันธ์ให้มีเสถียรภาพมากขึ้น และช่วยผ่อนคลายบรรยากาศความตึงเครียดระหว่างกัน โดยในการหารือแบบทวิภาคีกับผม ทั้งฝ่ายสหรัฐฯ และจีนยังคงเห็นถึงความสำคัญของการเจรจาและการหารือพูดคุยกัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการลดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างกัน

๗. ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอนนี้ส่งผลโดยตรงต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ โลกเรายังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงอีกมาก ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของโลก รวมทั้งประเทศไทย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย

๘. ในภาวะที่สถานการณ์โลกมีความไม่แน่นอนสูง ความร่วมมือระหว่างประเทศ การรักษาความเป็นมิตร เป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด และการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างยืดหยุ่น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับไทย

๙. ตั้งแต่อดีต ไทยใช้แนวทางการทูตแบบยืดหยุ่น สมดุล เป็นมิตรกับทุกฝ่าย และไม่เลือกข้าง เพื่อคงศักดิ์ศรีและความภาคภูมิในประชาคมระหว่างประเทศมาโดยตลอด ไม่ว่าจะในบริบทโลกขั้วเดียว โลกที่แบ่งเป็นสองขั้ว หรือหลายขั้ว และไม่ว่าจะในภาวะสงคราม หรือภาวะการแข่งขันทางอุดมการณ์หรือเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นคุณลักษณะสำคัญของการต่างประเทศไทยมาโดยตลอด

๑๐. ในบริบทโลกปัจจุบันที่มีความแตกแยกและผันผวนมากยิ่งขึ้น ไทยจึงต้องดำเนินการทูตที่ยืดหยุ่นและเป็นมิตรกับทุกฝ่ายในเชิงรุก ต้องเข้าให้ถึงฝ่ายต่าง ๆ ต้องแสดงบทบาทที่ชัดเจนในประเด็นที่โลกให้ความสำคัญอย่างสม่ำเสมอ ท่าทีของไทยต้องตั้งอยู่บนหลักการและสร้างสรรค์ เพื่อให้ไทยอยู่บนจอเรดาร์ของโลก และที่สำคัญคือ ต้องต่อยอดผลประโยชน์ของประเทศให้ได้ ทั้งในด้านการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคง และทางเศรษฐกิจ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนชาวไทย

๑๑. ดังนั้น เราต้องหันมาพลิกฟื้นและปฏิรูป หรือ revitalise and reform การต่างประเทศไทยผ่านการดำเนินการทูตเชิงรุก ซึ่งหมายถึง การทูตที่สามารถสร้างความชัดเจนถึงท่าทีของไทย ขณะเดียวกันก็สร้างความโดดเด่นและเห็นความสำคัญของไทย เสริมสร้างให้ประเทศไทยมีเกียรติภูมิและมีความหมาย ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลนี้ทำมาตลอด ๕ เดือนที่ผ่านมา

๑๒. โดยท่านนายกรัฐมนตรีและผมได้เดินทางไปเยือนและเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ จำนวนมาก โดยนอกจากจะใช้สร้างโอกาสด้านเศรษฐกิจแล้ว วัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งคือ การส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงจุดยืนของไทยคือ การเป็นกลางที่เป็นมิตรกับทุกประเทศ โดยเราได้เดินทางไปเยือนแล้วเกือบทุกขั้วและทุกภูมิภาคที่สำคัญ ทั้งเพื่อนบ้าน จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อาเซียน และกลุ่ม GCC และได้เข้าร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ และกรอบที่เป็นข้อริเริ่มของมหาอำนาจ ทั้ง UN, APEC, IPEF, BRI, WEF และในปลายเดือนนี้ ผมก็มีกำหนดเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย - อินเดีย ครั้งที่ ๑๐

๑๓. ในการสานความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจและประเทศที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เราจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินความสัมพันธ์อย่างสมดุล และตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของไทย

๑๔. เมื่อวานนี้ ผมก็เพิ่งกลับมาจากการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนาย Antony Blinken รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ โดยระหว่างที่ผมได้อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี นอกจากจะได้พบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แล้ว ยังได้พบหารือกับนาง Gina Raimondo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งบุคคลสำคัญอื่น ๆ ในภาคการเมืองของสหรัฐฯ รวมทั้ง สว. ของสหรัฐฯ หลายท่าน ถือได้ว่าการเยือนครั้งนี้ ประสบความสำเร็จและบรรลุตามเป้าหมาย โดยสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณชัดเจนที่ต้องการขับเคลื่อนความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับไทย โดยเฉพาะด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และการสนับสนุนบทบาทเชิงรุกที่สร้างสรรค์ของไทยในภูมิภาค รวมทั้งประเด็นของประเทศเพื่อนบ้านเราคือ เมียนมา

๑๕. ที่ผมได้กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ในการวางจุดยืนของไทย เราได้มีปฏิสัมพันธ์กับทั้งสองขั้วอำนาจอย่างสมดุลและต่อเนื่อง และรัฐบาลก็ได้แสดงความชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นพื้นที่ที่ทุกฝ่ายสบายใจที่จะเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่จีนและสหรัฐฯ เลือกไทยเป็นสถานที่พบปะระดับสูงครั้งล่าสุด นับเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จในการแสดงจุดยืนความเป็นกลางที่สำคัญอย่างยิ่งของไทย

๑๖. นอกจากบทบาทของไทยกับมหาอำนาจแล้ว ไทยยังได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะประเทศอำนาจขนาดกลาง เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ประเทศยุทธศาสตร์ เช่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย และประเทศที่มีศักยภาพ เช่น ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ บราซิล อาร์เจนตินา เปรู และเม็กซิโก เพื่อรักษาดุลยภาพและสร้างพันธมิตร เพื่อเพิ่มพูนความสัมพันธ์และโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยให้มากยิ่งขึ้น

๑๗. ท่ามกลางบริบทโลกแตกแยกและไม่แน่นอนเช่นนี้ ผมคิดว่ายังเต็มไปด้วยโอกาสสำหรับไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดึงดูดการลงทุน การย้ายฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานมายังไทยและอาเซียน เนื่องจากภูมิภาคนี้ถือว่ามีเสถียรภาพและปราศจากความขัดแย้งทางอาวุธ ไทยจึงต้องต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศให้ได้ คือ การไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง การมีจุดยืนที่เป็นกลางที่เป็นมิตร การมีที่ตั้งในจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาค และการส่งเสริมความร่วมมือและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในภูมิภาค

๑๘. เพื่อตอกย้ำความชัดเจนของนโยบายดังกล่าว ไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับการมีแนวทางและท่าทีร่วมกันของประเทศในภูมิภาคและอนุภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านกรอบความร่วมมือ เช่น ASEAN และ ACMECS เพื่อแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและความเป็นแกนกลางของอนุภูมิภาคและภูมิภาค

๑๙. และนี่จึงเป็นเหตุผลที่อาเซียนจำเป็นจะต้องมีบทบาทนำ เพื่อให้การมีปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจและประเทศสำคัญนอกภูมิภาคผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น ASEAN+1, ASEAN+3, EAS, ADMM-Plus, ARF และ RCEP เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการแสดงจุดยืนกับอาเซียน โดยเฉพาะมุมมองอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก หรือที่เรียกว่า ASEAN Outlook on the Indo-Pacific (AOIP) เป็นพื้นฐานในการส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียน เพื่อรักษาสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ไม่ให้อาเซียนถูกบังคับให้เลือกข้าง และเพื่อรักษาให้ภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่ที่สงบและปลอดภัยจากความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ เพราะเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการต่อยอดการพัฒนาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคง

๒๐. บทบาทของไทยกับอาเซียนที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เรามุ่งสนับสนุนให้อาเซียนมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยสถานการณ์ในเมียนมาเป็นเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น และในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกันยาวกว่า ๒,๔๐๐ กิโลเมตร ปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมาย่อมส่งผลกระทบต่อไทยและภูมิภาคโดยตรง ดังนั้น ไทยจึงต้องแสดงความชัดเจน และพร้อมให้การสนับสนุนเมียนมาในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองโดยสันติวิธี เพื่อให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืนและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยไทยจะร่วมมือกับอาเซียนอย่างใกล้ชิด

๒๑. เรื่องที่ไทยให้ความสำคัญสูงสุดคือ การผลักดันการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับประชาชนชาวเมียนมาอย่างไม่เลือกปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่หลวงพระบางเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทุกฝ่ายสนับสนุนบทบาทของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมา โดยเห็นว่า ข้อริเริ่มของไทยเป็นก้าวสำคัญภายใต้ฉันทามติ ๕ ข้อ หรือที่เรียกว่า Five-Point Consensus ของอาเซียน และจะเปิดโอกาสให้เมียนมากลับมามีปฏิสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์กับอาเซียนและประชาคมโลกอีกครั้ง รวมทั้งอาจนำไปสู่การเริ่มต้นกระบวนการหารือภายในระหว่างรัฐบาลทหารกับฝ่ายต่าง ๆ ในเมียนมาต่อไป

๒๒. นอกจากนี้ เรายังได้เสนอให้ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ หรือที่เรียกว่า AHA Centre เข้ามาดูแลการส่งมอบความช่วยเหลือให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและโปร่งใส ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้อาเซียนกลับมามีบทบาทนำในการช่วยแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในเมียนมา และช่วยให้เมียนมากลับมาเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์อีกครั้งของอาเซียนต่อไป

๒๓. เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมเพิ่งเดินทางไปยังอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อเร่งรัดและติดตามความคืบหน้าในการเตรียมการ รวมทั้งในด้านสถานที่สำหรับใช้ในการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา โดยตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายใน ๑ เดือน

๒๔. นอกจากผลลัพธ์ในมิติความมั่นคงแล้ว การดำเนินการของไทยในเรื่องเมียนมายังเป็นการแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้ไทยกลับมาสู่จอเรดาร์ ทั้งในอาเซียนและในระดับโลก โดยประเมินได้จากปฏิกิริยาของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และในระหว่างการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ในช่วงการหารือ Diplomacy Dialogue on Myanmar ก็ดึงดูดความสนใจจากฝ่ายต่าง ๆ อย่างมาก รวมทั้งในระหว่างที่ผมเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอินโด-แปซิฟิก ที่กรุงบรัสเซลส์ ก็ได้รับการสอบถามในเรื่องเมียนมาอย่างมาก

๒๕. อีกประเด็นสำคัญที่ผมขอกล่าวถึง คือ การทูตของไทยต้องมีความสม่ำเสมอในการแสดงจุดยืนในประเด็นความขัดแย้งต่าง ๆ โดยยึดมั่นการเคารพหลักอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ขณะเดียวกัน ไทยต้องมีการกระทำที่ชัดเจนด้วย ทั้งในเรื่องการสนับสนุนให้ทุกฝ่ายใช้ความพยายามในการเจรจาแก้ไขสถานการณ์โดยสันติวิธี และสอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นสำคัญ

๒๖. นอกจากการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนและคงเส้นคงวาแล้ว ไทยต้องมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในประเด็นที่เป็นค่านิยมและมาตรฐานสากล เช่น การแบ่งปันประสบการณ์ด้านการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเข้าร่วมผลักดันการเจรจาสนธิสัญญาโรคระบาดและอนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมไซเบอร์ รวมทั้งการประกาศลงสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Human Rights Council วาระปี ๒๕๖๘ - ๒๕๗๐

๒๗. ท่านผู้ร่วมสัมมนาที่เคารพทุกท่านครับ ปี ๒๕๖๗ โลกจะยังคงเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ความผันผวน และความท้าทาย แต่ยังเต็มไปด้วยโอกาส ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราจะดำเนินนโยบายของเราไปในทิศทางใด และถูกจังหวะถูกเวลาหรือไม่อย่างไร

๒๘. วันนี้ การทูตไทยจึงต้องมีน้ำหนักและชัดเจน มีการสอดประสานจากภายในประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีความคล่องตัว เชิงรุก และมองไปข้างหน้า และที่สำคัญคือ จะต้องสามารถคว้าโอกาสทางเศรษฐกิจจากบริบทโลกที่ผันผวนได้อย่างเต็มที่ เพื่อความกินดีอยู่ดีและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความมั่นคงของประเทศไทย

๒๙. ผมและกระทรวงการต่างประเทศพร้อมรับฟังและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันเดินหน้ารับมือกับความท้าทายและความผันผวนต่าง ๆ รวมทั้งปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนชาวไทยอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เราจะจับมือร่วมกันพลิกฟื้นความเจริญรุ่งเรืองกลับมาสู่ประเทศไทย และนำประเทศไทยกลับสู่จอเรดาร์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประชาคมโลกอย่างเต็มภาคภูมิอีกครั้งหนึ่งครับ

๓๐. ขอกราบขอบพระคุณครับ

 

******************