รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์รายการ “NBT มีทางออก” ย้ำจุดยืนของไทยต่อสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์รายการ “NBT มีทางออก” ย้ำจุดยืนของไทยต่อสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ก.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 ก.ค. 2568

| 142 view

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายเบญจมินทร์ สุกาญจนัจที อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ให้สัมภาษณ์รายการ “NBT มีทางออก” แจงจุดยืนของไทยต่อสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา และแนวทางแก้ไขปัญหาความตึงเครียดของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาล่าสุด สรุปได้ ดังนี้

  1. ตามที่เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชาบริเวณช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 นั้น ฝ่ายไทยได้มีหนังสือประท้วงฝ่ายกัมพูชาไปแล้ว โดยย้ำว่าการดำเนินการของไทยเป็นไปเพื่อรักษาอธิปไตยและป้องกันตนเองตามความเหมาะสมและได้สัดส่วน และเป็นไปตามกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ

  2. ปัจจุบันสถานการณ์ได้คลายความตึงเครียดลงในระดับหนึ่ง ไม่มีการปะทะกันอีกและมีการปรับกำลังเพื่อลดการเผชิญหน้า อีกทั้งมีพัฒนาการสำคัญ คือ การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Boundary Commission: JBC) ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายน 2568 ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในการวางกรอบการทำงานของเจ้าหน้าที่เทคนิคของทั้งสองฝ่ายในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนร่วมกันต่อไป อันแสดงให้เห็นว่า กลไกทวิภาคียังสามารถทำงานต่อไปได้และสามารถสร้างความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเขตแดน

  3. ไทยมุ่งมั่นที่จะใช้กลไกทวิภาคีในการหาทางออกร่วมกัน ซึ่งกลไกทวิภาคีมีอยู่หลายกรอบ ที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป โดยภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี 2543 (MOU 2543) เป็นสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทั้งสองฝ่าย และมีข้อบทกำหนดให้คู่ภาคีแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจาหารือโดยสันติ โดยฝ่ายไทยจะเจรจากับฝ่ายกัมพูชาด้วยความความจริงใจและความสุจริตใจบนพื้นฐานของหลักการการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี นอกจากนี้ MOU 2543 ยังมีความสำคัญในแง่การกำหนดกรอบการทำงาน และรูปแบบการทำงานที่เป็นสากล

  4. ไทยไม่ยอมรับเขตอำนาจศาลของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) ตั้งแต่ปี 2503 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งฝ่ายกัมพูชารับทราบดี ทั้งนี้ ตามกฎบัตรสหประชาชาติ สหประชาชาติเองก็เน้นให้คู่กรณีพูดคุยหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหาเนื่องจากเป็นเรื่องของสองประเทศ การให้ฝ่ายที่สามมาตัดสินอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนเสมอไป

  5. กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า การแสดงความเห็นของผู้นำกัมพูชาในหลายส่วนที่กระทำผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ มีเนื้อหาแทรกแซงกิจการภายในของไทย อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎบัตรอาเซียน กฎบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ จึงขอให้ฝ่ายกัมพูชายุติการการกระทำดังกล่าวและหันมาแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศมุ่งสื่อสารกับประชาคมโลกในช่องทางที่เป็นทางการ โดยไม่ปราถนาให้ตอบโต้กันในสื่อสังคมออนไลน์ตามที่เป็นกระแส เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาระหว่างกัน

  6. เป้าหมายสำคัญที่สุดของรัฐบาล คือ การรักษาดินแดนไทยโดยหลีกเลี่ยงการสูญเสีย และการสร้างความสงบและสันติบริเวณชายแดน เพื่อให้พี่น้องประชาชนบริเวณชายแดนได้ใช้ชีวิตตามปกติสุข