รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานเปิดนิทรรศการ “Local to Global –Empowering Communities through Upcycled Innovation for Sustainable Growth” ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานเปิดนิทรรศการ “Local to Global –Empowering Communities through Upcycled Innovation for Sustainable Growth” ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 ก.ค. 2568

| 30 view

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเปิดนิทรรศการ “Local to Global –Empowering Communities through Upcycled Innovation for Sustainable Growth” จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (Scrap Lab) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ในช่วงการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี ค.ศ. 2025 (High-Level Political Forum on Sustainable Development 2025) โดยมี Mr. Guy Ryder รองเลขาธิการสหประชาชาติด้านนโยบาย (Under-Secretary-General for Policy) ซึ่งเป็นผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติ Ms. Armida Salsiah Alisjahbana รองเลขาธิการสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Under-Secretary-General and Executive Secretary of the Economic and Social Commission for Asia and the Pacific) Ms. Kanni Wignaraja ผู้ช่วยเลขาธิการเลขาธิการสหประชาชาติและผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาติ (Assistant Secretary-General and Regional Director for Asia and the Pacific, UNDP) และผู้แทนระดับสูงของรัฐสมาชิกสหประชาชาติเข้าร่วมด้วย

นิทรรศการฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลักในการมุ่งส่งเสริมและผลักดันสินค้าท้องถิ่นไทยให้สามารถแข่งขันและเติบโตในตลาดโลก ภายใต้แนวคิด “From Local to Global” โดยอาศัยกลไกความร่วมมือกับภาคีทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพของชุมชนและผู้ประกอบการไทย โดยไทยได้นำเสนอศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ (upcycle) ให้เป็นผลงานศิลปะและของใช้ในชีวิตประจำวัน โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นแนวทาง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงมิติท้องถิ่นกับเวทีโลก อีกทั้งแสดงให้เห็นว่าไทยสามารถใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการออกแบบอย่างยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อน SDGs และ soft power ของไทย

ภายในนิทรรศการได้มีการนำเสนอตัวอย่างของการใช้แนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน การใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างครอบคลุม โดยนิทรรศการประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการท้องถิ่นไทยที่ร่วมมือกับหรือได้รับการคัดเลือกโดย Scrap Lab เช่น เปลเคลื่อนย้ายเต่าทะเลทำจากขยะทะเล สร้อยที่ทำจากเศษเบญจรงค์ (2) ผลิตภัณฑ์จากภาคเอกชนรายใหญ่ของไทยที่แปรรูปวัสดุเหลือใช้ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เช่น ภาชนะจากพลาสติกชีวภาพ (Thai Wah) คอลลาเจนจากปลาทูน่า (Thai Union) และอาหารสัตว์จากกากน้ำตาล (มิตรผล) และ (3) โครงการของ UNDP ที่ส่งเสริมการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ