แถลงข่าวร่วมการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายชอง อึย-ยง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๔

แถลงข่าวร่วมการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายชอง อึย-ยง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,150 view

แถลงข่าวร่วมการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายชอง อึย-ยง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)
ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๔

 

๑. นายชอง อึย-ยง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๔
ตามคำเชิญของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยในโอกาสการเยือนดังกล่าว รัฐมนตรีทั้งสองได้พบหารือทวิภาคีที่
กระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีชอง อึย-ยง ได้เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย

๒. รัฐมนตรีทั้งสองแสดงความพอใจกับพัฒนาการของความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี และยืนยันความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ รวมถึงการดาเนินการตามผลการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับนายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สนใจร่วมกันความร่วมมือระดับทวิภาคี

๓. ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการครบรอบ ๑๐ ปีของการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงการต่างประเทศและการค้าสาธารณรัฐเกาหลีว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทยกับสาธารณรัฐเกาหลีในปี ๒๕๖๕ และเห็นพ้องถึงความสาคัญของการเสริมพลังให้กับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในปัจจุบันเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของทั้งสองฝ่าย และการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ในการนี้ รัฐมนตรีทั้งสองได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสทั้งสองฝ่ายร่วมกันหาแนวทางเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ให้มีความก้าวหน้า และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายนี้ต่อไป ซึ่งฝ่ายไทยแสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Policy Consultation ครั้งที่ ๔ ในช่วง ปลายปีนี้เพื่อหารือในประเด็นดังกล่าว

๔. ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความร่วมมือที่ใกล้ชิดในด้านการทหารและความมั่นคงระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี และเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือในสาขาดังกล่าวต่อไป รัฐมนตรีทั้งสองหวังให้มีการจัดการหารือทวิภาคีว่าด้วยความมั่นคงทางไซเบอร์ระหว่างกันครั้งแรกเพื่อแสวงหาแนวทางความร่วมมือ ในสาขาที่มีศักยภาพที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางไซเบอร์

๕. ทั้งสองฝ่ายต่างยินดีและขอบคุณสำหรับการสนับสนุนและความช่วยเหลือที่มอบแก่กันเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙
(โควิด-๑๙) และเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนภายหลังยุคโควิด-๑๙ ผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนในด้าน
(๑) อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (๒) เศรษฐกิจสีเขียว และ (๓) สาธารณสุข

๖. ความเป็นหุ้นส่วนด้านอุตสาหกรรมแห่งอนาคต: ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นที่จะอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้าน
การพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานอย่างสมดุลระหว่างเขตเมืองกับพื้นที่ชนบท ซึ่งรวมถึงเมืองอัจฉริยะ และกระชับความร่วมมือด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อยกระดับฝีมือแรงงาน โดยฝ่ายไทย สนับสนุนให้สาธารณรัฐเกาหลีขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง อาทิ ยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะโดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ไบโอเฮลท์ (bio-health) ดิจิทัล การแพทย์ และอุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ผ่านการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย รวมถึงสำนักงานส่งเสริมการค้าการลงทุนเกาหลี (Korea Trade Investment Promotion Agency: KOTRA) และสานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย ขณะที่ฝ่ายสาธารณรัฐเกาหลีขอรับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลไทยให้สาธารณรัฐเกาหลีมีส่วนร่วม และลงทุนในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในไทยซึ่งเปิดกว้างสำหรับการประมูลระหว่างประเทศต่อไป

๗. ความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจสีเขียว: ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะแสวงหาแนวทางเพื่อสอดประสานระหว่างนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ
เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) ของไทยกับนโยบายสีเขียวใหม่ (Green New Deal) ของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อส่งเสริมการลงทุนสีเขียว และ
เทคโนโลยีสีเขียวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมการดำเนินงานร่วม (Joint Steering Committee: JSC) ครั้งที่ ๒
เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าในความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้า ทั้งสองฝ่ายรับทราบการเสนอตัวเป็น เจ้าภาพจัดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ ๒๘ ของสาธารณรัฐเกาหลี

๘. ความเป็นหุ้นส่วนด้านสาธารณสุข: ทั้งสองฝ่ายแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และภัยคุกคามด้านสาธารณสุข และแสวงหาแนวทางในการขยายความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนา ผลิต และกระจายวัคซีน โดยรัฐมนตรีทั้งสองมุ่งหวังให้หาข้อสรุปการจัดทำความตกลงที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกัน รวมทั้งการจัดการหารือทวิภาคีว่าด้วยความมั่นคงทางสาธารณสุข ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี (กลไก ๒+๒) ครั้งที่ ๑ ในโอกาสแรกที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสองประเทศในสาขาดังกล่าว

๙. ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความสัมพันธ์ระดับประชาชน ด้านการศึกษา และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลีที่มีความใกล้ชิด และเดินหน้าสนับสนุนความร่วมมือเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง รัฐมนตรีทั้งสองยังเห็นพ้องที่จะจัดการประชุมระดับอธิบดีด้านการกงสุล ครั้งที่ ๕ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านกงสุลในการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชนของตนในไทยและสาธารณรัฐเกาหลี

ความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ

๑๐. ทั้งสองฝ่ายแสดงการสนับสนุนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของสาธารณรัฐเกาหลี
ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างหุ้นส่วนด้านความร่วมมือทางการพัฒนาระหว่างประเทศ และแผนปฏิบัติการระยะ ๓ ปี ฉบับที่ ๓ โดยเฉพาะในสาขาที่สำคัญ
รวมทั้งด้านการดูแลสุขภาพ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความสัมพันธ์ระดับประชาชน ผ่านการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ การส่งอาสาสมัครร่วมทั้งสองประเทศไปยังประเทศ เป้าหมาย การฝึกอบรมระยะสั้น และการมอบทุนการศึกษา

๑๑. ฝ่ายไทยขอบคุณสาธารณรัฐเกาหลีสำหรับบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในกรอบอนุภูมิภาคและภูมิภาค โดยเฉพาะ
กรอบความร่วมมืออาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี กรอบความร่วมมือลุ่มน้าโขง-สาธารณรัฐเกาหลี และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS)
ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลี เป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันเพื่อ
ความสาเร็จของการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๑๑ และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๓ ที่ะจัดขึ้นในปีนี้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยและประเทศในลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลีให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่ สันติภาพ ความเจริญรุ่งเรืองและความยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้าโขง นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายตระหนักร่วมกันว่าความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-เกาหลีใต้เป็นกลไกที่สาคัญในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในภูมิภาคตลอดมา และเห็นว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคในยุคหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ขณะที่สาธารณรัฐเกาหลียืนยันความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับไทยเพื่อให้ความร่วมมือเกิดผลเป็นรูปธรรมภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวโดยสอดประสานกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy: NSP) และนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส (New Southern Policy Plus: NSPP) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเริ่มดำเนินโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีกับ ACMECS โดยใช้ประโยชน์จากงบประมาณในกองทุน ACMECS ที่สนับสนุนโดยสาธารณรัฐเกาหลี ขณะที่ฝ่ายไทยขอบคุณฝ่ายเกาหลีใต้ สาหรับการสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ในปี ๒๕๖๕

๑๒. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นต่อความเป็นแกนกลางของอาเซียนและการผลักดันความร่วมมือ ๔ สาขาภายใต้เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกให้เกิดผล
เป็นรูปธรรม รวมทั้งสนับสนุนกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน ไทยยืนยันที่จะสนับสนุนความพยายามอย่างแข็งขันของสาธารณรัฐเกาหลีในการบรรลุเป้าหมาย
การปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์และการสร้างสันติภาพที่ถาวรบนคาบสมุทรเกาหลี รวมถึงการเดินหน้าการเจรจาการมีส่วนร่วมและความร่วมมือกันระหว่างสองเกาหลี 
ขณะที่สาธารณรัฐเกาหลีแสดงการสนับสนุน อาเซียนในการมีบทบาทในการแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา ทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังว่าจะมีการปฏิบัติตามฉันทามติ ๕ ข้อ
(Five-Point Consensus) ของการประชุมผู้นาอาเซียนเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๔ โดยเร็ว และอย่างครบถ้วน และเห็นพ้องที่จะแสวงหาแนวทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาต่อไป

 

*   *   *   *   *   *   *