(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ) ถ้อยแถลงร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย - สหภาพยุโรป ครั้งที่ 1

(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ) ถ้อยแถลงร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย - สหภาพยุโรป ครั้งที่ 1

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 ก.ค. 2568

| 34 view

(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

ถ้อยแถลงร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย - สหภาพยุโรป ครั้งที่ 1

2 กรกฎาคม 2568 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม

  1. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 ไทยและสหภาพยุโรปร่วมเปิดการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย - สหภาพยุโรป ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thailand-EU Partnership and Cooperation Agreement: PCA) โดยกรอบความตกลงฯ เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยและสหภาพยุโรปเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองภูมิภาคและโลก

 

  1. การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสในการหารือประเด็นทวิภาคีต่าง ๆ ในหลากหลายมิติและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสถานการณ์ในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมทั้งการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของทั้งสองฝ่ายที่จะส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยและสหภาพยุโรปต่อไปท่ามกลางสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจที่ผันผวน นอกจากนี้ ไทยและสหภาพยุโรปยังได้ยืนยันถึงการยึดมั่นในหลักพหุภาคีนิยมและกฎระเบียบระหว่างประเทศที่อิงกฎเกณฑ์ รวมทั้งความสำคัญอย่างยิ่งยวดของการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

 

  1. ไทยและสหภาพยุโรปเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีผ่านความร่วมมือที่ปฏิบัติได้จริงภายใต้กรอบความตกลง PCA โดยทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการรับรองข้อตัดสินใจของคณะกรรมการร่วมไทย - สหภาพยุโรป ในการจัดตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ 3 คณะ เพื่อระบุประเด็นที่มีความสำคัญลำดับต้น ซึ่งอยู่ในความสนใจร่วมกันและขับเคลื่อนผลลัพธ์เป็นรูปธรรมในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านสีเขียว สิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาล และการค้าและการลงทุน ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการจัดประชุมคณะทำงานฯ เพื่อขับเคลื่อนผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมต่อไป

 

  1. ไทยและสหภาพยุโรปเน้นย้ำความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและระบบการค้าพหุภาคี บนพื้นฐานของความยุติธรรม โปร่งใส และยั่งยืน ทั้งสองฝ่ายแสดงความมุ่งมั่นที่จะเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย - สหภาพยุโรป โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการบรรลุความตกลงที่มีความทะเยอทะยานและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะในบริบทการค้าโลกในปัจจุบัน

 

  1. ความร่วมมือทวิภาคีไทย – สหภาพยุโรปมุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ การปกป้องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจหมุนเวียน การวิจัยและนวัตกรรม และการให้ความช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ ภายใต้โครงการ Global Gateway สหภาพยุโรปยังได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและด้านพลังงาน รวมทั้งการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค ในฐานะที่สหภาพยุโรปมีความเชี่ยวชาญด้านการค้าพลังงานในระดับพหุภาคี ไทยยินดีต่อเจตนารมณ์ของสหภาพยุโรปในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสีเขียวและ ASEAN Power Grid ในภูมิภาค

 

  1. ไทยและสหภาพยุโรปเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านสีเขียว โดยฝ่ายสหภาพยุโรปได้เน้นย้ำเป้าหมายที่มีความทะเยอทะยานของสหภาพยุโรปภายใต้นโยบาย Green Deal ในฐานะแนวทางบูรณาการในการดำเนินการเพื่อการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และได้ชื่นชมความพยายามและความมุ่งมั่นของไทยในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 (2593) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 (2608) ไทยยินดีต่อความร่วมมือระหว่างไทย-สหภาพยุโรปในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมุ่งเน้นความสอดคล้องของกรอบการดำเนินงานในเชิงสถาบันและกฎระเบียบ รวมถึงกลไกราคาคาร์บอน เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายของไทยในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านการค้าของไทยให้ทันสมัยและเพิ่มขีดความสามารถของไทยในการส่งเสริมการค้าที่ยั่งยืนและการลงทุนสีเขียว นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยินดีต่อความมุ่งมั่นของไทยในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) เพื่อสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวด้วย

 

  1. ทั้งสองฝ่ายตระหนักว่าความสัมพันธ์ในระดับประชาชนที่เข้มแข็งจะช่วยส่งเสริมการดำเนินการภายใต้กรอบความตกลง PCA และความตกลงการค้าเสรีไทย - สหภาพยุโรป เพื่อส่งเสริมเป้าหมายดังกล่าว ฝ่ายไทยจึงได้เน้นย้ำคำขอยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกนสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยกับฝ่ายสหภาพยุโรป ซึ่งฝ่ายสหภาพยุโรปรับทราบความสนใจของไทยในเรื่องดังกล่าวและได้ชี้แจงถึงกระบวนการที่จะนำไปสู่การพิจารณาการยกเว้นการตรวจลงตราฯ

 

  1. ไทยและสหภาพยุโรปได้หารือถึงพัฒนาการในภูมิภาคยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และย้ำถึงความมุ่งมั่นในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงการหลอกลวงทางออนไลน์ และการจัดการกับความท้าทายจากความมั่นคงอุบัติใหม่ รวมถึงภัยคุกคามแบบผสม ความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเล และการต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง ผ่านการส่งเสริมการหารือและความร่วมมือ โดยยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างยินดีกับความเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งและก้าวหน้าระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน และแสดงความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-สหภาพยุโรป เพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาชนของทั้งสองภูมิภาค

 

  1. ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการจัดการกับวิกฤติการณ์ในเมียนมาอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิผลเพื่อป้องกันความไม่มีเสถียรภาพในอนาคต และสนับสนุนชุมชนผู้พลัดถิ่น ทุกแนวทางในการแก้ไขวิกฤติการณ์ในเมียนมาควรได้รับการขับเคลื่อนมาจากภายในของเมียนมาเองและครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันก็ต้องเรียกร้องให้เกิดการตอบสนองอย่างมีเอกภาพจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยอาเซียน องค์การสหประชาชาติ หุ้นส่วนในระดับภูมิภาค และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

 

  1. สำหรับกรณีการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบโดยรัสเซีย ไทยและสหภาพยุโรปได้เน้นย้ำถึงการสนับสนุนความเป็นอธิปไตย ความเป็นเอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนตามที่ประชาคมระหว่างประเทศ ให้การรับรอง และเรียกร้องให้มีข้อตกลงหยุดยิงโดยสิ้นเชิงและไม่มีเงื่อนไขและยุติการโจมตีต่อพลเรือนและเป้าหมายทางพลเรือนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธีและตามแนวทางการทูต

 

  1. ไทยและสหภาพยุโรปสนับสนุนข้อริเริ่มที่จะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน เป็นธรรม และครอบคลุม ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ตามหลักการแนวทางสองรัฐ (two-state solution) ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติและข้อมติที่เกี่ยวข้อง

 

  1. นางครองขนิษฐ รักษ์เจริญ อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ และนางเปาลา ปัมปาโลนี รองอธิบดีกรมเอเชียและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป เป็นประธานร่วมของการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ