รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอ ๔ แนวทางส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก MLC ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ ๖ ที่นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอ ๔ แนวทางส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก MLC ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ ๖ ที่นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 14,557 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมุ่งมั่นส่งเสริมความร่วมมือด้านวัคซีน การฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่าน BCG เศรษฐกิจดิจิทัล และการบริหารจัดการน้ำในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ ๖ ที่นครฉงชิ่ง มุ่งให้ลุ่มน้ำโขงเป็นอนุภูมิภาคสีเขียวที่ปลอดภัยและมีนวัตกรรมมากกว่าเดิมหลังสถานการณ์โควิด-๑๙

เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ ๖ (Mekong - Lancang Cooperation – MLC) ภายใต้หัวข้อ “รวมพลังสู้โควิด-๑๙ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-๑๙” ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ที่ประชุมได้ทบทวนความสำเร็จของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาความร่วมมือในอนาคต อาทิ ความร่วมมือด้านสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ รวมถึงการประยุกต์ใช้การแพทย์แผนดั้งเดิมในการป้องกันและรักษาโควิด-๑๙ และโรคระบาดอื่น ๆ การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ความร่วมมือระดับรัฐบาลท้องถิ่น ความร่วมมือระดับประชาชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง-แม่น้ำล้านช้าง และการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศกรอบ MLC ยังได้เห็นพ้องให้เริ่มดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการของกรอบ MLC ระยะ ๕ ปี ฉบับใหม่ เพื่อทดแทนฉบับปัจจุบันที่กำลังจะหมดอายุลงในปี ๒๕๖๕
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกกรอบ MLC และเสนอแนวทาง ดังนี้

(๑) ด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงวัคซีน

(๒) การฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเสนอความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่เน้นนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสาขาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร พลังงานและวัสดุ สุขภาพและการแพทย์ การท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งล้วนเป็นสาขาที่อนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง มีศักยภาพ

(๓) การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจชายแดนกับการพัฒนาระเบียงนวัตกรรม (innovation corridors) เพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (digital transformation) เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาครัฐและภาคเอกชนให้มีความพร้อมในภาวะปกติใหม่ (New Normal) อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

(๔) เน้นความสำคัญของทรัพยากรน้ำต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำโขง และขอให้ประเทศสมาชิกกรอบ MLC ทุกประเทศร่วมมือกัน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนในการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งปันข้อมูลน้ำ และการแจ้งเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ปลายน้ำสามารถเตรียมตัวได้อย่างทันท่วงทีซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศสมาชิกกรอบ MLC และการสนับสนุนกรอบ MLC ในระดับประชาชน

ที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ จำนวน ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) ข้อริเริ่มว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศแม่โขง-ล้านช้าง (๒) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศแม่โขง-ล้านช้าง และ (๓) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการแพทย์แผนดั้งเดิมในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง

อนึ่ง กรอบ MLC พัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยในปี ๒๕๕๕ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคฯ และลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกกรอบ MLC ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ประเทศไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบ MLC ครั้งที่ ๑ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ และการประชุมผู้นำกรอบ MLC ครั้งที่ ๑ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ ตามลำดับ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ