วันที่นำเข้าข้อมูล 18 พ.ค. 2568
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 พ.ค. 2568
เมื่อวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
การเยือนครั้งนี้เป็นการเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี และตรงกับวาระครบรอบ 20 ปี การประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat: JCR) ไทย-เวียดนาม
ความโดดเด่นของการเยือนครั้งนี้คือการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน หรือ Comprehensive Strategic Partnership ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นร่วมกันของทั้งสองประเทศที่จะเพิ่มพูนและขยายความร่วมมือในทุกมิติ ศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีที่อยู่บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจและผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นการแสดงความพร้อมที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายในระดับโลกและระดับภูมิภาคไปด้วยกัน
ในโอกาสดังกล่าว นายกรัฐมนตรีแพทองธารได้เข้าเยี่ยมคารวะนายโต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม นายเลือง เกื่อง ประธานาธิบดีเวียดนาม และนายเจิ่ง แทงห์ เหมิน ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันและความร่วมมือที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ในระหว่างการประชุม JCR ครั้งที่ 4 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านสำคัญต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ดังนี้
ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง
ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการเยือนระดับสูง โดยเฉพาะในปี 2569 ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนาม ครบ 50 ปี ไทยและเวียดนามจะจัดทำแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์สำหรับการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านให้เสร็จสิ้นภายในปี 2568 โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนการปรึกษาหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารสูงสุดของทั้งสองประเทศ และจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามยาเสพติด การฉ้อโกงออนไลน์ การค้ามนุษย์ และการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงจุดแข็งที่เกื้อกูลกันของแต่ละฝ่าย และจะเร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงสามด้าน หรือ Three Connects ซึ่งจะเน้นการส่งเสริมความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจท้องถิ่น และยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเด็นเร่งด่วนสำคัญคือการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและการพัฒนาประสิทธิภาพของแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ผู้นำทั้งสองได้ย้ำเป้าหมายการบรรลุมูลค่าการค้าทวิภาคี 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยเร็ว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของทั้งสองฝ่ายจะจัดการประชุม Joint Trade Committee ภายในปีนี้ เพื่อหารือแนวทางอำนวยความสะดวกทางการค้าเพิ่มเติม รวมถึงสินค้าเกษตรและปศุสัตว์
ไทยแสดงความขอบคุณที่รัฐบาลเวียดนามสนับสนุนภาคเอกชนไทยในเวียดนามมาโดยตลอด และย้ำความพร้อมที่จะต้อนรับการลงทุนของบริษัทเวียดนามเพิ่มเติม
ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันมากขึ้นเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ตลอดจนการขยายระบบการชำระเงินข้ามพรมแดน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างไทยและเวียดนามให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ายิ่งขึ้น
เพื่อสนับสนุนการค้าและการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาค นายกรัฐมนตรีทั้งสองยินดีต่อแผนการเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างเวียดนามกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งจะเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยด้วย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะส่งเสริมการคมนาคมขนส่งทางบกที่ไร้รอยต่อระหว่าง ไทย-สปป. ลาว-เวียดนาม และส่งเสริมการคมนาคมทั้งทางบกและชายฝั่งระหว่างไทย-กัมพูชา-เวียดนาม
ความร่วมมือระดับประชาชนและการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับประชาชน โดยเมื่อปี 2567 มีนักท่องเที่ยวสองประเทศเดินทางไปมาหาสู่กันรวมกว่า 1.5 ล้านคน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมโอกาสการท่องเที่ยวระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับภาคกลางและใต้ของเวียดนามเพิ่มเติม ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมเส้นทางเดินเรือสำราญระหว่างสิงคโปร์ ไทย และเวียดนามด้วย
ไทยและเวียดนามยังตั้งใจจะใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากกลไกเมืองคู่มิตรระหว่างจังหวัดของไทยและเวียดนามกว่ายี่สิบคู่ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น
ทั้งสองฝ่ายยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะในด้าน STEM และด้านอาชีวศึกษาผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ผู้นำไทยและเวียดนามยังได้ใช้โอกาสนี้ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงพัฒนาการในเมียนมาและทะเลจีนใต้ โดยทั้งสองฝ่ายได้ย้ำความสำคัญของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความเป็นแกนกลางของอาเซียน เพื่อร่วมมือกันส่งเสริมเสถียรภาพ ความเชื่อมโยง และความยืดหยุ่นในภูมิภาค ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีแพทองธารได้เชิญนายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ เข้าร่วมการประชุมผู้นำแม่โขง-ล้านช้าง ที่ประเทศไทยในปลายปีนี้ด้วย
ในระหว่างการเยือน นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้ร่วมเป็นประธานเปิดงานเสวนาทางธุรกิจ (Business Forum) ไทย-เวียดนาม ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของสองประเทศเข้าร่วมจำนวนมาก และเป็นโอกาสที่จะสร้างและส่งเสริมหุ้นส่วนทางธุรกิจ และเพิ่มพูนการลงทุนสองฝ่าย โดยในงานดังกล่าวมีการประกาศการบรรลุข้อตกลงทางธุรกิจหลายประการ
ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบและเป็นพยานในพิธีแลกเปลี่ยนเอกสารความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ รวม 12 ฉบับ ดังนี้
(1) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
(2) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า
(3) การส่งมอบงบประมาณสนับสนุนโครงการเสริมสร้างและยกระดับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการสกัดกั้นยาเสพติดและทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แก่กรมตำรวจปราบปรามยาเสพติดเวียดนาม
(4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาตลาดภายในและกรมพัฒนาตลาดต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามกับ Central Group ระยะปี ค.ศ. 2026-2028
(5) บันทึกความเข้าใจระหว่างคณะกรรมการจังหวัดฮึงเอียน (Hung Yen) กับบริษัท WHA Industrial Development จำกัด มหาชน ว่าด้วยโครงการพัฒนาโซนอุตสาหกรรม Phu Cu
(6) การประกาศการอนุมัติใบอนุญาตการลงทุนของบริษัท WHA โดยจังหวัดทั้ญฮว้า (Thanh Hoa) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอัจฉริยะ
(7) บันทึกความเข้าใจระหว่างคณะกรรมการจังหวัดฟู้เถาะ (Phu Tho) กับ AMATA Corporation ว่าด้วยการร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์
(8) บันทึกความเข้าใจระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) กับธนาคารเพื่อการลงทุนและการพัฒนาแห่งเวียดนาม (Bank for Investment and Development of Vietnam: BIDV) เพื่อสนับสนุนสินเชื่อแก่ธุรกิจสีเขียวและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่
(9) เอกสารแสดงเจตจำนงระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับมหาวิทยาลัย FPT เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการฝึกอบรมเซมิคอนดักเตอร์
(10) บันทึกความเข้าใจระหว่างสายการบิน Vietjet กับ Thai Vietjet ว่าด้วยการส่งมอบสิทธิการดำเนินการและการสนับสนุนการบริการทางเทคนิคสำหรับเครื่องบิน Boeing Max จำนวน 50 ลำ
(11) บันทึกความเข้าใจระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือกับมหาวิทยาลัย FPT ว่าด้วยการฝึกอบรมบุคลากรด้าน AI ระบบอัตโนมัติยานยนต์ และโรโบติกส์ และ
(12) บันทึกความเข้าใจระหว่าง FPT Group กับบริษัท Sunline Technology จำกัด ว่าด้วยหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ด้านธนาคารดิจิทัล
นับว่าการเยือนที่ประสบความสำเร็จครั้งนี้ได้ช่วยเสริมสร้างมิตรภาพและวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และอนาคตที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางระหว่างไทยกับเวียดนาม
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **