สรุปผลการแถลงข่าวโครงการรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี ๒๕๖๕ (Public Diplomacy Award 2022)

สรุปผลการแถลงข่าวโครงการรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี ๒๕๖๕ (Public Diplomacy Award 2022)

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 ก.ค. 2565

| 10,826 view

สรุปผลการแถลงข่าวโครงการรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี ๒๕๖๕
(Public Diplomacy Award 2022)

วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๕.๓๐ น.

ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ และ Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

 

 

  • เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และนายธฤต จรุงวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิไทย ร่วมแถลงข่าวโครงการรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี ๒๕๖๕ (Public Diplomacy Award 2022) ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

๑. การทูตสาธารณะ และบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการขับเคลื่อนการทูตสาธารณะ

  • “การทูตสาธารณะ” (Public Diplomacy) หมายถึง การดำเนินการทางการทูต
    เพื่อโน้มน้าวชักจูงให้สาธารณชนและประชาชนกลุ่มเป้าหมายในต่างประเทศให้รู้จักและเข้าใจประเทศนั้น ๆ ดีขึ้น รวมทั้งมีความชื่นชอบและนิยมในประเทศนั้น ๆ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับประชาชนให้มีความใกล้ชิดแน่นแฟ้น อีกนัยหนึ่งคือการสร้าง “ฐานเสียง” หรือ “Fan club” ให้กับประเทศนั้น ๆ
  • การทูตสาธารณะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญของกระทรวงฯ ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างสถานะ เกียรติภูมิ และบทบาทของประเทศไทยในประชาคมโลก
  • ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมภาพลักษณ์และความรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินการของกรมสารนิเทศและกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ทั่วโลกผนึกกำลังกับทีมประเทศไทย ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่มีศักยภาพในต่างประเทศ ร่วมกันเผยแพร่ความเป็นไทยอย่างเข้มแข็ง ผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดเทศกาลไทย และการจัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรมในด้านต่าง ๆ
  • กระทรวงฯ ตระหนักว่า ปัจจุบัน เป็นยุคของข้อมูลข่าวสารและโลกไร้พรมแดน รวมทั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัย ก่อให้เกิดผู้มีบทบาทด้านการต่างประเทศมากมาย และมิได้จำกัดเฉพาะบุคลากรภาครัฐเท่านั้น ส่งผลให้วาระด้านการต่างประเทศมีความหลากหลาย ดังนั้น การทูตสาธารณะในปัจจุบันจึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

๒. ความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี ๒๕๖๕ (Public Diplomacy Award 2022)

  • กระทรวงฯ มีความตั้งใจที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนตระหนักและเข้าใจถึงบทบาทของการทูตสาธารณะมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมการทูตสาธารณะ จึงร่วมกับมูลนิธิไทยจัดโครงการมอบรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี ๒๕๖๕ จำนวน ๑ รางวัล ให้แก่บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร ที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ เช่น การทำงานเพื่อสาธารณะ วัฒนธรรม กีฬา และนวัตกรรม
  • รางวัลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

(๑) เพื่อเชิดชูเกียรติบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรที่ไปดำเนินงานด้านสาธารณประโยชน์ ด้านมนุษยธรรม ด้านวัฒนธรรม กีฬา นวัตกรรม เป็นต้น
จนสามารถสร้างชื่อเสียง เกียรติภูมิ การยอมรับ ชื่นชม นิยม เป็นที่ประจักษ์ในต่างประเทศ

(๒) เพื่อส่งเสริมให้ผู้รับรางวัลสามารถดำเนินงานตามเจตนารมณ์ต่อไป หรือเป็นแบบอย่างและแนวทางให้แก่ บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่น

(๓) เพื่อเผยแพร่และสร้างความตระหนักรู้ว่า ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานการทูตสาธารณะ

(๔) เพื่อเผยแพร่บทบาท และกิจกรรมของมูลนิธิไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่กระทรวงฯ สนับสนุนให้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายการทูตสาธารณะของประเทศไทย

 

๓. คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิเสนอชื่อ วิธีการเสนอชื่อ และขั้นตอนการพิจารณาและการตัดสิน

  • คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อ ดังนี้

- บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรที่ดำเนินงานด้านการทูตสาธารณะ ที่ไม่แสวงผลกำไร

- มีสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลไทย

- ไม่จำกัดอายุ และเพศ

- เป็นผู้มีความประพฤติและภาพลักษณ์ที่ดี

- เป็นผู้ไม่เป็นภัยต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

  • บุคคลทั่วไป สามารถเสนอชื่อบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรที่มิใช่เสนอชื่อตนเอง

ตั้งแต่วันนี้ – ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕

  • ขั้นตอนการพิจารณาและการตัดสิน

- มูลนิธิไทย และกต. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการคัดเลือกผู้สมควรได้รับรางวัลการทูตสาธารณะปี ๒๕๖๕ ขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ เพื่อคัดเลือกบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรที่สมควรได้รับรางวัล ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ กต. เลขาธิการมูลนิธิไทย ผู้แทนภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและภาคสื่อมวลชน จำนวน ๙ คน

- คณะอนุกรรมการจะพิจารณาจากรายชื่อที่ได้รับการเสนอชื่อ และคัดกรองให้เหลือ ๓ ราย เพื่อเสนอต่อกรรมการมูลนิธิไทยเป็นผู้ตัดสินขั้นสุดท้าย

- สุดท้าย คณะอนุกรรมการจะพิจารณาคัดเลือกผู้ได้รับการเสนอชื่อในช่วงเดือนกันยายน ๒๕๖๕ เสนอคณะกรรมการมูลนิธิไทยเพื่อพิจารณาคัดเลือกและประกาศผลผู้ที่ได้รับรางวัลและมอบรางวัลในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๖๕

 

๔. รางวัลที่ผู้ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะจะได้รับ ดังนี้

  • เงินรางวัล
  • ประกาศนียบัตรเกียรติคุณและการแต่งตั้งให้เป็น “Goodwill Ambassador for Public Diplomacy” เป็นเวลา ๑ ปี
  • รางวัล (Trophy) ที่มีการจารึกชื่อผู้ได้รับรางวัล โดยรางวัลเกียรติยศนี้จะหมุนเวียนใช้ในปีถัด ๆ ไป ส่วนผู้ได้รับรางวัลจะได้รับแบบจำลองของรางวัลเกียรติยศนี้ไปครอบครอง
  • การจารึกชื่อผู้ได้รับรางวัล ณ กระทรวงฯ

 

๕. มูลนิธิไทยคืออะไร และบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนการทูตสาธารณะ

  • มูลนิธิไทย (Thailand Foundation) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 ภายใต้ดำริของกระทรวงฯ ในการดำเนินการทูตสาธารณะเพื่อส่งเสริมความนิยมไทยในต่างประเทศและเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชาวไทยกับชาวต่างชาติ
  • มูลนิธิไทยมีเป้าหมายในการส่งเสริมความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับประเทศไทย ความเป็นไทย และคนไทย ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยรอบด้านเป็นภาษาอังกฤษในเสาหลัก ๔ ประการ ได้แก่ (๑) วัฒนธรรมและมรดกไทย เช่น การผลิต และเผยแพร่บความ วีดีทัศน์ เพื่อนำเสนอข้อมูลในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ศิลปะ อาหารไทย ดนตรี มวยไทย เทศกาล รวมถึงวัฒนธรรมร่วมสมัยต่าง ๆ (๒) โครงการศึกษาความเป็นไทยและโครงการแลกเปลี่ยน เช่น การจัดอบรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นไทยสำหรับผู้เริ่มมาตั้งถิ่นฐานหรือทำงาน/ศึกษาในประเทศไทย (๓) สื่อการเรียนการสอนภาษาไทย เช่น การผลิตและนำเสนอสื่อการสอนหลักสูตรการเรียนภาษาไทยออนไลน์สำหรับผู้ที่สนใจเรียนภาษาไทยจากทุกมุมโลก และ (๔) สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจและการทำสมาธิ เช่น การนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาและวิธีการทำสมาธิเบื้องต้น เพื่อเป็นทางเลือกในการพัฒนาจิตใจให้มีความสงบและเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการบำบัดโรคซึมเศร้าด้วย

*   *   *   *   *

กองการทูตวัฒนธรรม

กรมสารนิเทศ

๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ