นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาของโลกกรอบความร่วมมือ BRICS Plus เพื่อสร้างเสริมความเป็นหุ้นส่วนระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาของโลกกรอบความร่วมมือ BRICS Plus เพื่อสร้างเสริมความเป็นหุ้นส่วนระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 มิ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 มิ.ย. 2565

| 20,550 view

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาของโลก ระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (BRICS Plus High-level Dialogue on Global Development) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ตามคำเชิญของประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “สร้างเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในศักราชใหม่เพื่อร่วมอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐” ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๕
เวลา ๑๙.๐๐ - ๒๑.๐๐ น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

การประชุมฯ จะจัดขึ้นในห้วงการประชุมผู้นำ BRICS ครั้งที่ ๑๔ และจะหารือใน ๔ ประเด็นหลัก ได้แก่ (๑) การรับมือกับความท้าทายต่อความมั่นแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่ (๒) การส่งเสริมการปฏิรูประบบ ธรรมาภิบาลโลกเพื่อการพัฒนาร่วมกัน (๓) การกระชับความร่วมมือเพื่อเร่งการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ และ (๔) การรักษาระบบพหุภาคี และสร้างความเป็นหุ้นส่วนระดับโลกเพื่อการพัฒนาอย่างมีเอกภาพ เสมอภาค สมดุล และครอบคลุม โดยนายกรัฐมนตรีจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงวิสัยทัศน์และบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในการร่วมมือกับกลุ่มประเทศ BRICS เพื่อสนับสนุนการพลิกฟื้นระบบพหุภาคีให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วยแนวคิดความเชื่อมโยงในทุกมิติ การผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการปฏิรูปธรรมาภิบาลเศรษฐกิจโลก

อนึ่ง กลุ่ม BRICS เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๒ ประกอบด้วยสมาชิก ๕ ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ โดยจีนได้ริเริ่มกรอบความร่วมมือ BRICS Plus เมื่อปี ๒๕๖๐ และในวาระที่จีนเป็นประธานกลุ่ม BRICS ในปีนี้ จึงจะจัดการประชุมฯ
ดังกล่าว นับเป็นการประชุมระดับผู้นำของกรอบ BRICS Plus ครั้งที่ ๒ โดยได้เชิญผู้นำจากประเทศ EMDCs จำนวน ๑๓ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเข้าร่วม ซึ่งการที่ไทยได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มิตรประเทศมีต่อไทย และบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในเวทีโลก