ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สำหรับการประชุม Voice of the Global South Summit วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๖

ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สำหรับการประชุม Voice of the Global South Summit วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ม.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ม.ค. 2566

| 33,321 view

ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สำหรับการประชุม Voice of the Global South Summit

วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๓๐ – ๑๓.๐๐ น. (ตามเวลาประเทศไทย)

ในหัวข้อ “การบรรลุโลกาภิวัตน์ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง”

 

ท่านนายกรัฐมนตรีนเรนทร โมที (นะ-เรน-ทะ-ระ โม-ที)

ท่านประธานาธิบดี ท่านนายกรัฐมนตรี

และผู้มีเกียรติทุกท่าน

 

๑. ผมขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีโมทีสำหรับคำเชิญเข้าร่วมการประชุม Voice of the South Summit และผมขอชื่นชมความเป็นผู้นำของท่านที่ผลักดันให้วาระด้านการพัฒนาเป็นประเด็นสำคัญของการหารือในวันนี้

 

๒. หัวข้อของการประชุมวันนี้ “การพัฒนาที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง” ได้จัดขึ้นในเวลาที่เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน ที่ประชาชนของเราต้องประสบกับโรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ วิกฤตด้านอาหารและพลังงาน จนก่อให้เกิด “วิกฤตค่าครองชีพครั้งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ ๒๑” ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชนกลุ่มเปราะบาง

 

๓. เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องร่วมกันร่วมแรงร่วมใจกันให้มากขึ้นกว่าเดิม ในโอกาสนี้ ผมจึงขอนำเสนอ ๓ แนวคิด เพื่อให้อินเดียในฐานะประธาน G20 เป็นกระบอกเสียงให้กับประเทศกำลังพัฒนาในการกำหนดระบบธรรมาภิบาลโลกและผลักดันระบบเศรษฐกิจโลกไปสู่ “ยุคโลกาภิวัตน์ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง” มีความยั่งยืน และครอบคลุมยิ่งขึ้น ดังนี้

 

๔. ประการแรก เราจำเป็นต้องแสวงหาแนวทางการพัฒนาแบบองค์รวมที่ช่วยให้สามารถรับมือกับวิกฤตโลก ๓ ประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลภาวะเพื่อผลักดันให้การเติบโตหลังวิกฤตโควิด-๑๙ มุ่งสู่ความสมดุลมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ

 

๕. เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ และ ๒๐ เขตเศรษฐกิจจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้ร่วมกันรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งบูรณาการการพัฒนาทางเศรษฐกิจทั้ง ๓ แนวทางไปสู่ “ความสมดุลของสรรพสิ่ง” โดยทั้งแนวคิดพื้นฐาน BCG ของไทยและแนวคิด “วิถีชิวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ของอินเดียล้วนมีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล ตลอดจนการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้นและยึดหลักธรรมาภิบาล

 

๖.นอกจากนี้ ไทยขอเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาได้ร่วมกันสานต่อผลสำเร็จจากการประชุม COP 27 ซึ่งถือว่าเป็นการประชุม COP ที่ประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทนำ ผมขอย้ำความจำเป็นในการระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการลงทุนเพื่อพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำในราคาที่เหมาะสม

 

๗. ประการที่สอง ไทยเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการร่วมมือกันที่จะผลักดันให้กระบวนทัศน์ด้านการพัฒนามุ่งไปสู่ที่การยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ผมขอยืนยันว่าไทยจะสนับสนุนการระดมทุนเพื่อรองรับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนและขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

๘. ด้วยบริบทที่กล่าวมาแล้วนั้น ไทยชื่นชมบทบาทนำของอินเดียในเรื่องดังกล่าวและพร้อมแบ่งปันแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศและวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ กับอินเดียและหุ้นส่วนอื่น ๆ ผ่านกรอบความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคีเกี่ยวกับการเสริมสร้างศักยภาพการวิจัยทางการแพทย์ และความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นในการเตรียมการรับมือกับโรคระบาดอุบัติใหม่บนพื้นฐานของแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว

 

๙. ประการสุดท้าย เราควรเสริมสร้างความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนและวิกฤตต่าง ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะวิกฤตด้านอาหาร พลังงาน และปุ๋ยในปัจจุบันเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้ตระหนักอยู่เสมอว่าความผันผวนในราคาตลาดได้ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนหลายล้านครัวเรือนและทุนมนุษย์ในประเทศกำลังพัฒนา

 

๑๐. ดังนั้น ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องยกระดับความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานและการจัดการภาวะวิกฤต ในขณะเดียวกัน G20 ควรพัฒนากลไกระดับโลกที่จะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงอาหาร พลังงาน และปุ๋ยในราคาที่เหมาะสม เพื่อรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ ในระยะยาว นอกจากนี้ ไทยในฐานะประธานบิมสเทคปี ๒๕๖๖ ยินดีที่จะร่วมมือกับอินเดียเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเดินเรือ พลังงาน และดิจิทัล ในภูมิภาคอ่าวเบงกอลให้มากยิ่งขึ้น

 

๑๑. ไทยพร้อมจะกระชับความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากับอินเดียในฐานะประธาน G20 ในการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศกำลังพัฒนาอย่างครอบคลุม เพื่อจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างยั่งยืนและเข้มแข็งสำหรับอนุชนคนรุ่นหลังต่อไป

 

๑๒. สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณและขออวยพรให้ทุกท่านโชคดีครับ สวัสดีครับ