นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในช่วงการอภิปรายทั่วไปต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๖

นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในช่วงการอภิปรายทั่วไปต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 9,192 view

นายกรัฐมนตรีชูประเด็นการสร้างสมดุลของสรรพสิ่งเพื่อสร้างโลกใหม่ที่ดีกว่าเดิมในยุคหลังโควิด-๑๙ ในการอภิปรายทั่วไปต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๖

เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๔ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมกล่าวถ้อยแถลงผ่านบันทึกวิดีทัศน์ในช่วงการอภิปรายทั่วไปต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๖ โดยเน้นย้ำว่า ท่ามกลางความท้าทายหลากหลายมิติ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ความหวัง” และความมุ่งมั่นที่ประชาคมโลกจะร่วมกันสร้างโลกของวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเดิม ภายใต้บริบทของ “ความปกติถัดไป หรือ Next Normal” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างสมดุลที่มีคนเป็นศูนย์กลางและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคี ซึ่งสอดคล้องกับรายงาน Our Common Agenda ของเลขาธิการสหประชาชาติ

นายกรัฐมนตรีย้ำความสำคัญของการผลักดันให้วัคซีนและยารักษาโควิด-๑๙ เป็นสินค้าสาธารณะของโลก และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งการสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้องค์การอนามัยโลก เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพโลกรวมถึงการหารือเพื่อพิจารณาจัดทำ Pandemic Treaty

ในประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งทุกประเทศให้ความสำคัญ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ภัยพิบัติเกิดจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล และเรียกร้องให้ประชาคมโลกเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส และเตรียมตัวเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ความสมดุลของสรรพสิ่ง”โดยเฉพาะการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นศูนย์ภายในปี ๒๖๐๘-๒๖๑๓ โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และมุ่งผลักดันให้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นศูนย์กลางความร่วมมือของเศรษฐกิจสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมสีเขียวของภูมิภาค

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า การฟื้นฟูภายหลังโควิด-๑๙ ต้องอาศัยการขับเคลื่อนการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างจริงจังผ่านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) และโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับ global supply chains นอกจากนี้ ไทยยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความมั่นคงของระบบอาหารโลก ด้านการส่งเสริมสันติภาพ นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ประชาคมโลกต้องร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมแห่งสันติภาพ โดยย้ำว่าไทยมีบทบาทอย่างเป็นรูปธรรมในการส่งเสริมและรักษาสันติภาพและความมั่นคง รวมทั้งสนับสนุนความเชื่อมโยงความร่วมมือภายใต้กรอบสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW) และสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) โดยนายกรัฐมนตรีย้ำด้วยว่า ไทยสนับสนุนภารกิจการส่งเสริมสันติภาพของสหประชาชาติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในการบรรเทาวิกฤตด้านมนุษยธรรมในเมียนมา อัฟกานิสถาน และเฮติ

ในโอกาสที่เดือนธันวาคม ๒๕๖๔ จะครบรอบ ๗๕ ปี การเป็นสมาชิกสหประชาชาติของประเทศไทย นายกรัฐมนตรีได้ย้ำบทบาทของไทยในฐานะรัฐสมาชิกและหุ้นส่วนด้านการพัฒนาของสหประชาชาติ ที่มีความรับผิดชอบ เชื่อถือได้ และสร้างสรรค์ ในทั้ง ๓ เสาหลักของสหประชาชาติ รวมทั้งการเป็นเจ้าบ้านที่ดีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) และสำนักงานต่างๆ ของสหประชาชาติ กว่า ๔๐ หน่วยงาน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ