เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้พบหารือกับผู้จัดการด้านนโยบายอุตสาหกรรม Mid-Norway Chamber of Commerce and Industry

เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้พบหารือกับผู้จัดการด้านนโยบายอุตสาหกรรม Mid-Norway Chamber of Commerce and Industry

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 ก.ย. 2565

| 8,511 view
เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๕ นางสาววิมลพัชระ รักษาเกียรติ เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้พบหารือกับนาย Børge Beisvåg ผู้จัดการด้านนโยบายอุตสาหกรรม Mid-Norway Chamber of Commerce and Industry นาย Ove Hognes ผู้แทนบริษัท KongsSeatex และนาย Kenneth Stoltz หัวหน้าฝ่ายสื่อสาร Mid-Norway Chamber of Commerce and Industry โดยมีนางสาวพจมาศ แสงเทียน ที่ปรึกษา เข้าร่วมด้วย
 
นาย Beisvåg ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับความสำคัญของเมือง Trondheim ซึ่งเคยเป็นแหล่งทำประมงที่สำคัญของนอร์เวย์ และเป็นศูนย์กลางการส่งสินค้าจากทั่วนอร์เวย์ไปยังประเทศต่างๆ ปัจจุบัน เป็นศูนย์กลางด้านอาหารของยุโรป และเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี โดยมีบริษัทด้าน ICT ร้อยละ ๔๘ และ Norwegian University of Science and Technology (NTNU) เป็นที่ตั้งของ SINTEF ศูนย์ศึกษาวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในสแกนดิเนเวีย ด้านเทคโนโลยี การแพทย์ และสังคมศาสตร์
นอกจากนี้ บริษัท Q-Free (เทคโนโลยีด้านการจราจรจาก Trondheim) เป็นผู้ให้บริการระบบ Easy Pass ของไทย ที่ด่านเก็บเงินค่าผ่านทางด่วน ซึ่งช่วยบรรเทามลพิษอีกทางหนึ่งด้วย
 
นาย Hognes ได้แนะนำบริษัท KongsSeatex ในเครือ Kongsberg ซึ่งมีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีมากกว่า ๒๐๐ ปี ในด้านทะเลลึก การเดินเรือ อากาศ ไปจนถึงอวกาศ และในปัจจุบัน อยู่ระหว่างการทดสอบการเดินเรือแบบไร้คนขับร่วมกับบริษัทยาร่า นาย Hognes บรรยายสรุปความร่วมมือของเครือ Kongsberg กับบริษัท SDA Group ของไทย โดยร่วมกับกรมเจ้าท่า เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ โดยใช้เทคโนโลยี Maritime Boat Radio (MRB) ช่วยในการลาดตระเวน เพื่อรักษาน่านน้ำของไทยให้ปลอดภัย
 
ในส่วนของเอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวถึงความสำคัญของนอร์เวย์ในฐานะคู่ค้าและนักลงทุนที่สำคัญของไทย ซึ่งยังมีโอกาสขยายความร่วมมือระหว่างกันอีกมาก โดยเฉพาะในสาขาที่นอร์เวย์มีความเชี่ยวชาญ เช่น การสื่อสาร รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด และการเดินเรือ จึงหวังว่า จะเห็นการแลกเปลี่ยนการเยือนของคณะนักธุรกิจระหว่างไทย-นอร์เวย์มากขึ้น นอกจากนั้น ได้แนะนำโมเดลเศรษฐกิจของไทยแบบใหม่ หรือ Bio-Circular Green Economic โมเดล โดยมุ่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และระบบเศรษฐกิจสีเขียว ไปพร้อมกัน ซึ่งจะสามารถนำประเทศไทยไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนอร์เวย์สามารถสนับสนุน BCG โมเดลของไทยในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น อาหารและเกษตรกรรม การแพทย์และสุขภาพ การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งนี้ Mid-Norway Chamber of Commerce and Industry แจ้งว่า สนใจร่วมมือกับไทยผ่าน Innovation Norway

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ