ไทยร่วมสนับสนุนการเคารพความหลากหลางทางศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อสันติภาพ ในการประชุม UNAOC ที่โปรตุเกส

ไทยร่วมสนับสนุนการเคารพความหลากหลางทางศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อสันติภาพ ในการประชุม UNAOC ที่โปรตุเกส

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 พ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2567

| 630 view

นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในฐานะผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม Global Forum of the United Nations Alliance of Civilizations (UNAOC) ครั้งที่ 10 ภายใต้หัวข้อ “United in Peace: Restoring Trust, Reshaping the Future. Reflecting on Two Decades of Dialogue for Humanity” ณ เขต Cascais สาธารณรัฐโปรตุเกส ระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2567

ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงใน UNAOC Ministerial Group of Friends High-Level Meeting โดยเน้นย้ำ (1) ความมุ่งมั่นของไทยในการเสริมสร้างการยอมรับความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญไทยที่รับรองสิทธิและเสรีภาพทางศาสนา แผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการสนทนาระหว่างศาสนาและวัฒนธรรมของภาคส่วนต่าง ๆ และ (2) ให้คำมั่นในการสนับสนุนการดำเนินงานของแผนปฏิบัติการของ UNAOC 2024-2026 โดยเฉพาะในประเด็นการสร้างความตระหนักรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์และการมีส่วนร่วมของเยาวชน นอกจากนั้น คณะผู้แทนไทยฯ ยังได้เข้าร่วม breakout session ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การเสริมสร้างการสนทนาระหว่างกลุ่มวัย และความสำคัญของบทบาทของสตรี ผู้นำทางศาสนา การศึกษา และการกีฬา ในการสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติ

Global Forum เป็นการประชุมระดับสูงสุดของ UNAOC มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสวงหาแนวทางในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงผ่านการหารือ (dialogue) เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การประชุมมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ได้แก่ สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน ประธานาธิบดีโปรตุเกส ผู้นำและผู้แทนระดับสูงของรัฐบาล ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และเยาวชน รวมถึงเลขาธิการสหประชาชาติ โดยที่ประชุมได้เน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การเรียกร้องสันติภาพและความมั่นคงของโลกอย่างขันแข็ง (2) การขจัดการเลือกปฏิบัติ วาจาแห่งความเกลียดชัง และแนวคิดความรุนแรงสุดโต่ง ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง และ (3) ยกระดับความสำคัญกับการยอมรับความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมให้เป็นวาระระดับโลก

UNAOC ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2548 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนาและวัฒนธรรม มุ่งลดการแบ่งแยกและความขัดแย้งระหว่างโลกมุสลิมและโลกตะวันตก และศาสนาอื่น ๆ ตลอดจนป้องกันการแพร่ขยายของแนวคิดความรุนแรงสุดโต่ง โดยไทยมีบทบาทสร้างสรรค์ในกรอบ UNAOC มาโดยตลอด และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มมิตรภาพ (Group of Friends) ตั้งแต่การก่อตั้ง UNAOC

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ