สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๕

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 มี.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 17 มี.ค. 2565

| 2,739 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๓๐ น.

ณ กระทรวงการต่างประเทศ และทาง Facebook Live

 

 ๑. ความคืบหน้าในการอพยพคนไทยในยูเครน

  • สอท. ณ กรุงวอร์ซอ รายงานว่า คนไทยจากยูเครนอีก ๒ รายจะเดินทางกลับไทย โดยออกจากกรุงวอร์ซอ ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ ๑๗ มี.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๑๙.๑๐ น.
  • กต.ได้อพยพคนไทยที่ประสงค์ออกจากยูเครน ๒๓๐ คนจากคนไทยในยูเครนทั้งหมด ๒๕๖ คน โดยคนไทย ๘ คณะได้ทยอยเดินทางกลับโดยเครื่องบินพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ ๑ มี.ค. – ๑๗ มี.ค. รวมทั้งสิ้น ๒๒๕ คน (บางส่วนเดินทางกลับไทยด้วยตนเอง) เหลือคนไทยที่ประสงค์อยู่ต่อในยูเครนอีก ๒๖ คน

 

 ๒. รนรม./รมว.กต.หารือกับเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทย (๑๖ มี.ค. ๒๕๖๕)

  • นางอีวา แฮเกอร์ (Eva Hager) ออท.สาธารณรัฐออสเตรีย/ประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะ รนรม./รมว.กต.เพื่ออำลาเนื่องในโอกาสพ้นจากหน้าที่ รนรม./รมว.กต.ชื่นชม ออท. ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับออสเตรียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
  • ไทยและออสเตรียได้เพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน กีฬา และการศึกษา รวมทั้งการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองมิตรภาพไทย - ออสเตรีย ครบรอบ ๑๕๐ ปี เมื่อปี ๒๕๖๒ และเห็นพ้องถึงความสำคัญของการใช้การทูตเชิงละมุน (soft diplomacy) เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการอาชีวศึกษา โดยใช้เครือข่ายที่มีอยู่ เช่นความร่วมมือภายใต้วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในทวีปยุโรปกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEA-UNINET)

 

๓. รนรม./รมว.กต.จะเข้าร่วมการประชุม OIC Council of Foreign Ministers ครั้งที่ ๔๘ (๒๒ - ๒๓ มี.ค. ๒๕๖๕)

  • รนรม./รมว.กต.จะเดินทางเยือนสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน และเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม (Council of Foreign Ministers of the Organisation of Islamic Cooperation: OIC-CFM) ครั้งที่ ๔๘ ที่กรุงอิสลามาบัด ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ของ OIC
  • รนรม./รมว.กต.จะหารือทวิภาคีกับหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิก OIC เพื่อแสวงหาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย รวมถึงติดตามความคืบหน้าการดำเนินกิจกรรมในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย – ปากีสถาน

 

๔. ปลัด กต.หารืออุปทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย (๑๐ มี.ค. ๒๕๖๕)

  • ปลัด กต.หารือกับ น.ส. แมรี่ เธิร์สตัน (Mary Thurston) อุปทูตนิวซีแลนด์/ประเทศไทย ทั้งสองฝ่ายแสดงความพร้อมที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างรอบด้าน และผลักดันความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Talks) ไทย-นิวซีแลนด์ ครั้งที่ ๑๒ ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีนี้
  • ทั้งสองฝ่ายหารือความคืบหน้าในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทย ความร่วมมือในกรอบอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะภายใต้กรอบ ACMECS ซึ่งนิวซีแลนด์แสดงความประสงค์เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากลุ่มที่ ๒ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมาและยูเครน ตลอดจนการจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review-UPR) ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

 

๕. ไทยมอบวัคซีนแอสตราเซเนก้าจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ โดสให้แก่ประชาชนเมียนมา (๑๒ มี.ค. ๒๕๖๕)

  • นางกนกวรรณ เพ่งสุวรรณ อุปทูต สอท. ณ กรุงย่างกุ้ง เป็นผู้แทนร่วมพิธีส่งมอบวัคซีน AstraZeneca จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ โดส พร้อมหลอดฉีดยา (syringe) จากไทย ให้แก่ผู้แทนสภากาชาดเมียนมา ณ สนามบินนานาชาติกรุงย่างกุ้ง เพื่อนำไปแจกจ่ายบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ให้แก่ประชาชนเมียนมาต่อไป วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทย จากบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และถือเป็นวัคซีนล็อตแรกที่ไทยส่งมอบเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่มิตรประเทศ โดยไทยมีแผนมอบวัคซีนให้แก่เมียนมาทั้งหมด ๑ ล้านโดส
  • กต.ขอขอบคุณ สอท. ณ กรุงย่างกุ้ง กรมควบคุมโรค สธ. บริษัท AstraZeneca Thailand และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ สำหรับการประสานงานอย่างใกล้ชิดและทำให้การบริจาควัคซีนครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

 

๖. ผลการเสวนา “จับประเด็นประชาสัมพันธ์: ไทยได้อะไรจากการเป็นเจ้าภาพเอเปค ๒๐๒๒” (๑๐ มี.ค. ๒๕๖๕)

  • นายธนวัติ ศิริกุล รอธ.กรมสารนิเทศ และ น.ส. ปฤณัต อภิรัตน์ รอธ.กรมเศรษฐกิจ รวปท.ได้เข้าร่วมการเสวนา “จับประเด็นประชาสัมพันธ์: ไทยได้อะไรจากการเป็นเจ้าภาพ APEC 2022” จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชนได้เสนอมุมมองเกี่ยวกับความสำคัญของการสื่อสารประเด็นและประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับ โดยมีนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค และนายกวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอาวุโส เข้าร่วม
  • รอธ.กรมสารนิเทศ ย้ำถึงความสำคัญของเอเปคในฐานะแหล่งบ่มเพาะทางความคิด เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยที่เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ แนวคิด และแนวปฏิบัติเพื่อให้สมาชิกสามารถร่วมมือและเติบโตไปด้วยกัน และเป็นโอกาสสำหรับประเทศและภาคธุรกิจของไทยที่จะได้แสดงศักยภาพ
  • รอธ.กรมเศรษฐกิจ รวปท.กล่าวถึงประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับ เช่น การดำเนินธุรกิจในบรรยากาศการค้าการลงทุนที่เปิดกว้างและเอื้อประโยชน์ การเดินทางข้ามพรมแดนในเอเปคได้อย่างสะดวกปลอดภัย และการสร้างสังคมที่เติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงด้วยแนวคิดเศรษฐกิจ BCG
  • การประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยตลอดทั้งปีนี้ จะมุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลัก อาทิ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ Start-ups MSMEs เยาวชน สตรี สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม

 

๗. ชี้แจงข่าว ๑๕ ประเทศเปิดให้ท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวและไม่ใช้ผลตรวจโควิด-๑๙

  • ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ ว่าขณะนี้มี ๑๕ ประเทศ ที่เปิดให้ผู้เดินทางสามารถเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องกักตัว และไม่ต้องใช้ผลตรวจโควิด-๑๙ รวมทั้งไม่มีมาตรการป้องกันโควิด-๑๙ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ กต.ได้ตรวจสอบข่าวดังกล่าวแล้ว พบว่าเป็นข่าวจริงสำหรับ ๓ ประเทศเท่านั้น ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน และนอร์เวย์ ที่ยกเลิกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ทั้งหมดแล้ว
  • สำหรับประเทศอื่น ๆ ที่มีการระบุในข่าวนั้น พบว่าคลาดเคลื่อนหรือนำเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วน โดยผู้เดินทางเข้ายังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ของประเทศนั้น ๆ อยู่
  • กต.ขอแนะนำให้ผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ตรวจสอบมาตรการเดินทางเข้าประเทศอย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาหรือข้อขัดข้องในการเดินทางของท่าน โดยสามารถศึกษาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของ สอท.ประเทศนั้น ๆ ในประเทศไทย หรือเว็บไซต์และหน้าเพจเฟซบุ๊กของ สอท./สกญ.ไทย ประจำประเทศที่ท่านต้องการเดินทางไป

 

๘. การปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศสำหรับผู้เดินทางจากประเทศไทย (มาเลเซีย/อินโดนีเซีย)  

     ๘.๑ มาเลเซีย

  • เมื่อวันที่ ๘ มี.ค. ๒๕๖๕ นรม.มาเลเซียแถลงว่า มาเลเซียจะเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านโควิด-๑๙ เป็นโรคประจำถิ่น ตั้งแต่วันที่ ๑ เม.ย. ๒๕๖๕ และพร้อมจะเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติ สรุปได้ ดังนี้
  • ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-๑๙ ครบโดสแล้วจะเดินทางเข้ามาเลเซียได้โดยไม่ต้องกักตัว และไม่ต้องทำเรื่องขออนุญาตเข้าประเทศ โดยจะต้องมีผลตรวจโควิด-๑๙ แบบ RT-PCR เป็นลบก่อนเดินทางเข้ามาเลเซีย ๔๘ ชั่วโมง และเมื่อเดินทางถึงจะต้องตรวจหาเชื้อแบบ RTK (ATK) ณ จุดตรวจคนเข้าเมือง
  • สำหรับผู้ที่ยังไม่รับวัคซีนครบโดส จะต้องกักตัวเป็นเวลา ๕ วัน และไม่สามารถรับประทานอาหารในร้าน พร้อมกับถูกจำกัดการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในมาเลเซีย
  • สธ.มาเลเซียจะประกาศรายละเอียดมาตรการและแนวปฏิบัติทั้งหมดเกี่ยวกับการเดินทางเข้าประเทศทางอากาศและทางบกให้ทราบต่อไป โดยมาเลเซียยังมีแนวปฏิบัติให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในที่สาธารณะ ผู้เดินทางสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก สธ.มาเลเซีย https://www.facebook.com/100064560379224/posts/332990932196250/?d=n หรือเพจเฟซบุ๊ก สอท. ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ https://www.facebook.com/ThaiEmbassyKL

 

     ๘.๒ อินโดนีเซีย

  • ตั้งแต่วันที่ ๗ มี.ค. ๒๕๖๕ อินโดนีเซียเปิดให้นักท่องเที่ยวจาก ๒๓ ประเทศ (รวมถึงไทย) เดินทางเข้าอินโดนีเซียทางอากาศได้ และขอ Visa on Arrival ได้ที่สนามบินนานาชาติเกาะบาหลีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางออกจากอินโดนีเซียจากสนามบินใดก็ได้ของประเทศ
  • นักเดินทางต่างชาติต้องแสดงเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งใบรับรองผลตรวจโควิด-๑๙ แบบ RT-PCR
    เป็นลบ โดยพำนักอยู่ในอินโดนีเซียได้ไม่เกิน ๓๐ วัน และขอขยายเวลาพำนักต่อได้เพียงครั้งเดียว
    ผู้เดินทางสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก สอท.อินโดนีเซีย/ประเทศไทย https://www.facebook.com/IndonesiaInBangkok หรือเพจเฟซบุ๊ก สอท. ณ กรุงจาการ์ตา https://www.facebook.com/rtejakarta

 

๙. ญี่ปุ่นยกเลิกประกาศเตือนให้ระวังคลื่นสึนามิ ใน จ.ฟุคุชิมะ และ จ.มิยากิ

  • วันที่ ๑๗ มี.ค. ๒๕๖๕ กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ประกาศยกเลิกการเตือนให้ระวังคลื่นสึนามิในพื้นที่ จ.ฟุคุชิมะ และ จ.มิยากิ แล้ว หลังจากที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาดแม็กนิจูด ๗.๓ ในญี่ปุ่นโดยมีศูนย์กลางในทะเลใกล้ จ.ฟุคุชิมะ เมื่อวันที่ ๑๖ มี.ค. ๒๕๖๕ และกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ระวังคลื่นสึนามิ
  • สอท. ณ กรุงโตเกียว ได้ประกาศก่อนหน้านี้ แจ้งเตือนคนไทยในพื้นที่ให้ดูแลรักษาตัวและเฝ้าระวังสถานการณ์โดยติดตามข่าวสารของทางการญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน สามารถติดต่อ สอท. ได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ ๐๙๐-๔๔๓๕-๗๘๑๒
  • ขณะนี้ยังไม่มีรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเนื่องมาจากแผ่นดินไหวดังกล่าว

 

๑๐. กรมการกงสุลให้บริการกงสุลสัญจร/ทำหนังสือเดินทางที่ จ.นราธิวาส

  • วันเสาร์ที่ ๑๙ และวันอาทิตย์ที่ ๒๐ มี.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๐ - ๑๖.๓๐ น. กรมการกงสุล จะจัดหน่วยบริการทำหนังสือเดินทาง และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศและเอกสารทะเบียนราษฎรและทะเบียนครอบครัว ที่อาคารหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบพระชนมพรรษา ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส
  • ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาทำหนังสือเดินทางได้โดยไม่ต้องจองคิว สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3tb0yrD และ consular.go.th.

 

รับชมแถลงข่าวย้อนหลังhttps://fb.watch/bOvYUjUW2m/

คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube “MFA Thailand Channel”:        
https://www.youtube.com/user/mfathailand

                                                                                              

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

pwp_ประกอบการแถลงข่าว_17_มีค._2565_as_delivered.pdf