สรุปการแถลงข่าวสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2568 เวลา 11.00 น.

สรุปการแถลงข่าวสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2568 เวลา 11.00 น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 ก.ค. 2568

| 1,532 view

สรุปการแถลงข่าวสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม 2568 เวลา 11.00 น.

ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ และทาง Facebook/TIKTOK LIVE กต.

  1. พัฒนาการสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา
  • ได้ติดตามสถานการณ์อยู่เสมอ โดยฝ่ายกัมพูชาเป็นผู้ที่เริ่มเปิดฉากโจมตีก่อนเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 ก.ค. 2568 ซึ่งได้โจมตีสถานที่ที่ไม่ใช่เป้าหมายทางทหาร เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ปั๊มน้ำมัน และร้านสะดวกซื้อ ในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีพลเรือนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในผู้เสียชีวิตคือ เด็กอายุเพียง 8 ขวบ ซึ่งไม่มีประเทศไหนยอมรับการกระทำเหล่านี้ได้ โดยกัมพูชาละเมิดหลักการพื้นฐานอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย
  • การกระทำเหล่านี้ไม่เพียงแต่ละเมิดอธิปไตยของไทย แต่ยังละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ กฎบัตร UN และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังเป็นการละเมิดศีลธรรมขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ควรได้รับการประณามอย่างเต็มที่จากประชาคมระหว่างประเทศ
  • กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ไปแล้ว โดย (1) ประณามอย่างรุนแรงที่สุดต่อการกระทำของกัมพูชา (2) ประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตและเรียก ออท. ณ กรุงพนมเปญ กลับไทย และขอให้ ออท.กพช. กลับ ปท. เช่นกัน และ (3) เรียกร้องให้กัมพูชาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยุติการโจมตีเป้าหมายทางทหารและพลเรือน รวมถึงยุติการละเมิดอธิปไตยของไทยโดยทันที
  • เมื่อคำนึงถึงกรณีการวางทุ่นระเบิดใหม่ของกัมพูชาในดินแดนของอธิปไตยของไทย ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงได้มีการพิสูจน์ทราบอย่างชัดเจนแล้ว และทำให้ทหารไทย 2 นายบาดเจ็บสาหัสจากการสูญเสียขาถาวร ขอแสดงความเสียใจอย่างมากกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น และขอชื่นชมในความกล้าหาญของทหารทุกท่านที่เสียสละเพื่อชาติและรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย
  • ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินการทุกอย่างด้วยความจริงใจและความสุจริตใจ (in good faith) ในการแก้ไขปัญหาเขตแดนกับกัมพูชามาตลอด แต่เมื่อฝ่ายกัมพูชาเลือกที่จะละเมิดอธิปไตยของไทยและกฎหมายระหว่างประเทศซ้ำแล้วซ้ำอีก และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้เดินทางไปชี้แจงกับประชาคมระหว่างประเทศด้วยตนเอง

 

  1. การชี้แจงต่อประชาคมระหว่างประเทศ
  • รัฐมนตรีฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงในช่วงการอภิปรายแบบเปิดในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC รวมทั้งพบหารือกับผู้แทนระดับสูงของประเทศและองค์การ รปท. ต่าง ๆ เช่น (1) เลขาธิการ UN (2) รนรม./รมว.กต. ปากีสถาน (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธาน UNSC) (3) รมว. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ปานามา ซึ่งจะทำหน้าที่ประธาน UNSC วาระถัดไป และ (4) รมช.กต. ญี่ปุ่น ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการประจำอนุสัญญาออตตาวา และ (5) ผู้แทนประธานาธิบดีรัสเซีย ในฐานะประเทศที่เป็นสมาชิกถาวรของ UNSC
  • ได้ย้ำ (1) ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาที่เกิดขึ้น (2) ย้ำท่าทีว่า กัมพูชาละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทยก่อน และไทยจะแก้ไขปัญหาเขตแดนกับฝ่ายกัมพูชาอย่างสันติและด้วยความสุจริตใจ (in good faith) ผ่านกลไกทวิภาคีมีอยู่ และ (3) การละเมิดอนุสัญญาออตตาวาของกัมพูชา ต่อกรณีการวางทุ่นระเบิดใหม่ในเขตอธิปไตยของไทย และการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ ของกัมพูชา
  • ต่อกรณีที่ฝ่ายกัมพูชายื่นหนังสือถึงประธาน UNSC นั้น เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้เข้าพบ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรปากีสถาน ณ นครนิวยอร์ก ในฐานะประธาน UNSC ประจำเดือน ก.ค. 2568 เพื่อยื่นหนังสือชี้แจงเหตุการณ์การใช้กำลังทางทหารที่เริ่มโดยฝ่ายกัมพูชา
    การละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมถึงขอให้เวียนหนังสือดังกล่าวของไทยเป็นเอกสารของ UNSC เพื่อให้ประเทศสมาชิก UNSC ได้รับทราบอย่างเป็นทางการ
  • เมื่อคืนนี้ เวลา 15.00 น. เวลาท้องถิ่นของนครนิวยอร์ก (ประมาณ 02.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) UNSC ได้จัดการประชุมแบบปิด เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยมี 15 ประเทศสมาชิก UNSC รวมถึงไทยและกัมพูชาเข้าร่วม โดยฝ่ายไทยได้ย้ำจุดยืนว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายริเริ่ม act of aggression และเปิดฉากยิงก่อน โดยได้โจมตีสถานที่ที่ไม่ใช่เป้าหมายทางทหารอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีพลเรือนไทยเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและหลักการมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง
  • ถ้อยแถลงของประเทศสมาชิก UNSC ที่เข้าร่วมประชุม ไม่ได้เน้นประเด็นใดเป็นพิเศษ เพียงแต่กล่าวถึงหลักการกว้าง ๆ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า (1) เรียกร้องให้กัมพูชาและไทยใช้การยับยั้งชั่งใจ ลดความตึงเครียด หยุดยิง และแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ซึ่งรวมถึงการใช้การทูตและการเจรจาทวิภาคีบนพื้นฐานของหลักการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี (2) สนับสนุนบทบาทของอาเซียนในการแก้ไขความขัดแย้ง ตามหลักการของกฎบัตรอาเซียน และ (3) ย้ำว่า สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ที่ประชุม UNSC ไม่ได้มีมติหรือการออกเอกสารใด ๆ

 

  1. ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี Anwar Ibrahim สำหรับบทบาทและข้อเสนอหยุดยิง ที่ไทยเห็นด้วยอย่างยิ่งในหลักการ โดยกัมพูชาจะต้องหยุดโจมตีและแสดงความจริงใจอย่างชัดเจน โดยไทยให้ความสำคัญกับประธานอาเซียน และพร้อมที่จะหารือกับมาเลเซียอย่างสร้างสรรค์เพื่อหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
  • กรณีข่าวปลอมที่กัมพูชาออกแถลงการณ์กล่าวหาว่า กองทัพไทยได้รุกรานและสร้างความเสียหายให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นการกล่าวหาซึ่งไร้หลักฐาน และไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง โดยการปะทะกันระหว่างกองกำลังไทยกับกัมพูชา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงก่อน บริเวณห้วยตามะเรีย และภูมะเขือ นั้น พื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากตัวปราสาทพระวิหารถึง 2 กิโลเมตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีกระสุนหรือสะเก็ดระเบิดที่มีวิถีไกลไปถึงตัวปราสาทพระวิหาร โดยทั้งหมดนี้ ฝ่ายไทยได้ชี้แจงไปแล้วโดยหนังสืออย่างเป็นทางการ
  • ประเทศไทยขอยืนยันเจตนารมณ์ในการแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธีบนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และพร้อมร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการธำรงสันติภาพและเสถียรภาพ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ฝ่ายกัมพูชายุติการรุกรานและการกระทำที่เป็นการละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาอย่างจริงใจและสุจริตใจ
  • ขอร่วมส่งกำลังใจให้แก่พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศจะทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มความสามารถเพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ศักดิ์ศรีและสถานะของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และยึดถือผลประโยชน์และความปลอดภัยของคนไทยไว้เหนือสิ่งอื่นใด
  • อนึ่ง ภายหลังการแถลงข่าวของรัฐมนตรีฯ นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้อ่านแถลงการณ์ประณามการโจมตีเป้าหมายพลเรือน โดยสามารถอ่านได้ที่ https://www.mfa.go.th/th/content/statement-condemning-attacks-on-civilian-targets-2