เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และหารือการเตรียมการสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีและผู้นำในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี

เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และหารือการเตรียมการสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีและผู้นำในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,635 view
เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - Republic of Korea Cooperation – Mekong - ROK) โดยได้ผลักดันความร่วมมือในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมและทันท่วงที และการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ รวมทั้งหารือเตรียมการสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีและผู้นำต่อไป
 
เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - Republic of Korea Cooperation – Mekong - ROK) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีสาธารณรัฐเกาหลีและกัมพูชาเป็นประธานร่วม ในโอกาสนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศสมาชิก Mekong - ROK ได้แก่ ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และสาธารณรัฐเกาหลี ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันอย่างสร้างสรรค์และตรงไปตรงมาเกี่ยวกับความสำเร็จของความร่วมมือที่ผ่านมาและทิศทางในอนาคตของ Mekong - ROK รวมทั้งได้หารือเกี่ยวกับการเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ Mekong - ROK ครั้งที่ ๑๑ และการประชุมผู้นำ Mekong - ROK ครั้งที่ ๓ ซึ่งมีกำหนดจะจัดช่วงเดือนสิงหาคมและตุลาคม ๒๕๖๔ ตามลำดับ
 
​ที่ประชุมได้ย้ำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ Mekong - ROK เพื่อส่งเสริมความกินดีอยู่ดีของประชาชน สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และหารือเกี่ยวกับบทบาทของ Mekong - ROK ในการสนับสนุนประเทศสมาชิก เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมและทันท่วงที และแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยย้ำความสำคัญของความเชื่อมโยงและการบูรณาการห่วงโซ่อุปทานด้วยการค้าเสรี การพัฒนาดิจิทัล และการพัฒนาความเชื่อมโยงทางกายภาพที่เน้นความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับเอกชน (Public - Private Partnership) รวมทั้งการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการสนับสนุน MSMEs และ start-ups โดยใช้ประโยชน์จากสภาธุรกิจลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลีด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการฟื้นฟูจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อย่างยั่งยืน ซึ่งไทยได้เสนอให้ประเทศสมาชิกพิจารณานำรูปแบบเศรษฐกิจ BCG มาใช้เป็นแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
 
ที่ประชุมได้แสดงความขอบคุณสาธารณรัฐเกาหลีที่สนับสนุนงบประมาณโครงการเพื่อการพัฒนาผ่านกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - ROK Cooperation Fund – MKCF) ระหว่างปี ๒๕๕๖-๒๕๖๓ เป็นจำนวนประมาณ ๙.๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมอบให้สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute – MI) เป็นผู้บริหารงบประมาณกองทุนและประสานงานโครงการ
 
​​นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบการแต่งตั้งนาย Lee Kwang-soo นักแสดงชาวเกาหลี เป็นทูตสันถวไมตรีสำหรับปีแห่งการแลกเปลี่ยน Mekong - ROK ค.ศ. ๒๐๒๑ (Mekong - ROK Exchange Year 2021) และสนับสนุนให้ขยายปีแห่งการแลกเปลี่ยนออกไปอีก ๑ ปี เพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนได้มากขึ้นเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ คลี่คลาย
 
กรอบความร่วมมือ Mekong - ROK เป็นกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่สำคัญอีกกรอบหนึ่ง นอกเหนือจากกรอบอื่น ๆ เช่น Mekong - Lancang Cooperation, Mekong - U.S. Partnership, Mekong - Japan Cooperation, Mekong - Ganga Cooperation และ ACMECS ซึ่งมีการหารือทั้งในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรีทุกปี

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ