การจัดทำและเผยแพร่ท่าทีของประเทศไทยในประเด็นการปรับใช้และตีความกฎหมายระหว่างประเทศในมิติไซเบอร์

การจัดทำและเผยแพร่ท่าทีของประเทศไทยในประเด็นการปรับใช้และตีความกฎหมายระหว่างประเทศในมิติไซเบอร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 ก.ค. 2568

| 57 view

กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำและเผยแพร่ท่าทีของประเทศไทยในประเด็นการปรับใช้และตีความกฎหมายระหว่างประเทศในมิติไซเบอร์ (Thailand’s National Position on the Application of International Law in Cyberspace)

 

เอกสารฉบับนี้เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการปรึกษาหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กรมพระธรรมนูญ กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม กรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

 

เอกสารฉบับนี้ได้ระบุแนวทางการตีความหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่สามารถนำมาปรับใช้ในบริบทของไซเบอร์ อาทิ หลักอธิปไตยของรัฐ หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน หลักการไม่ใช้กำลัง หลักการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี หลักความรับผิดชอบของรัฐ ฯลฯ ซึ่งเป็นการบรรจุท่าทีของประเทศไทยต่อการปรับใช้กฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบัน และเปิดช่องให้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมท่าทีดังกล่าวให้สอดคล้องกับพัฒนาการการหารือระหว่างประเทศ และการพัฒนาของเทคโนโลยีในอนาคตได้

 

การจัดทำท่าทีนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องตามรายงานการประชุมประจำปีของการประชุม Open – ended Working Group (OEWG) on security of and in the use of information and communication technologies (2021-2025) ที่สนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ เผยแพร่ท่าทีประเทศ เรื่องการปรับใช้กฎหมายระหว่างประเทศในมิติไซเบอร์รวมถึงสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถ ด้านกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันเรื่องการปรับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ ในมิติไซเบอร์ ซึ่งอาจนำไปสู่การยกร่างตราสารที่มีผลบังคับทางกฎหมายต่อไป ปัจจุบัน มีประเทศต่าง ๆ จำนวน 32 ประเทศ และ 2 องค์การระหว่างประเทศที่สามารถจัดทำท่าทีประเทศร่วมกันได้ ได้แก่ สหภาพแอฟริกา สหภาพยุโรป

 

ด้วยเหตุนี้ การจัดทำท่าทีนี้จะช่วยในการจัดระเบียบโลกไซเบอร์ด้วยกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว และยังเปรียบเสมือนเป็นเอกสารคู่มือเบื้องต้นให้กับหน่วยงานไทย เพื่อประกอบเป็นข้อพิจารณาการดำเนินการตอบโต้ปฏิบัติการทางไซเบอร์ รวมถึงสร้างกรอบการปฏิบัติการทางไซเบอร์ของหน่วยงานไทยให้สอดคล้องตามกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย

อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://treaties.mfa.go.th/th/content/thailand-s-national-position-on-international-law 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ