ไทยเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ ๘๘ ของที่ประชุมแห่งกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล เพื่อร่วมกำหนดทิศทางกฎหมายระหว่างประเทศ และดูแลกิจกรรมข้ามพรมแดนของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

ไทยเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ ๘๘ ของที่ประชุมแห่งกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล เพื่อร่วมกำหนดทิศทางกฎหมายระหว่างประเทศ และดูแลกิจกรรมข้ามพรมแดนของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 12,729 view

เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ยื่นตราสารต่อที่ประชุมแห่งกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล ทำให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ ๘๘ ของที่ประชุมแห่งกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล และมีส่วนร่วมกำหนดทิศทาง พัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ และดูแลกิจกรรมข้ามพรมแดนของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ได้ยื่นตราสารการยอมรับธรรมนูญของที่ประชุมแห่งกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล ในนามประเทศไทย ต่อผู้แทนรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทำหน้าที่ผู้เก็บรักษาธรรมนูญฯ มีผลให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ ๘๘ ของที่ประชุมแห่งกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล โดยสมบูรณ์ ทำให้ไทยสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ ที่จะอำนวยความสะดวกและกำกับดูแลกิจกรรมข้ามพรมแดนของประชาชนในประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญและสอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทย

อนึ่ง ที่ประชุมแห่งกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Hague Conference on Private International Law) หรือ HCCH เป็นองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล ก่อตั้งเมื่อปี ๒๔๓๖ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล เพื่อวางกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์ข้ามพรมแดนของประชาชนและภาคเอกชน อาทิ การรับบุตรบุญธรรม การลักพาตัวเด็กข้ามชาติ การยกเลิกการนิติกรณ์หรือการรับรองเอกสารสำหรับเอกสารทางการจากต่างประเทศ หรือการยอมรับและการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศในคดีแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยในการคุ้มครองสิทธิของบุคคล และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างระบบกฎหมายให้รองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคปัจจุบันที่กิจกรรมข้ามพรมแดนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน HCCH มีสมาชิกทั้งหมด ๘๘ ประเทศ จากทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยมีประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่เป็นสมาชิก ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย

ผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.hcch.net/en/news-archive/details/?varevent=793

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ