คำแปลถ้อยแถลง ของเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ในการประชุมแบบปิดของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)

คำแปลถ้อยแถลง ของเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ในการประชุมแบบปิดของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 ก.ค. 2568

| 3,397 view

- คำแปล -
ถ้อยแถลง
ของ
นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์

เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก
ในการประชุมแบบปิดของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (
UNSC)
ภายใต้ระเบียบวาระ เรื่อง ภัยต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

ณ ห้องประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก
วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๘


ท่านประธานที่เคารพ

กระผมขอขอบคุณท่านที่จัดการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในครั้งนี้ และขอขอบคุณผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติสำหรับการบรรยายสรุปเกี่ยวกับเหตุการณ์


ท่านประธานที่เคารพ

กระผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อย่างไรก็ดี ในวันนี้ กระผมรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่จำเป็นต้องกล่าวถ้อยแถลงภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้าย เนื่องจากการกระทำอันเป็นการรุกรานโดยปราศจากการยั่วยุของกัมพูชา ซึ่งได้คุกคามต่ออำนาจอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และที่สำคัญยิ่ง ต่อชีวิตของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า ประเทศไทยยึดมั่นในสันติภาพมาโดยตลอด

กระผมขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ประเทศไทยถือว่า กัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและเป็นสมาชิกที่สนิทสนมในครอบครัวอาเซียนมาโดยตลอด นับตั้งแต่ที่กัมพูชาได้รับเอกราชในปี ๒๔๙๖ (ค.ศ. ๑๙๕๓) ประเทศไทยได้ช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ การสร้างชาติ และการพัฒนาของกัมพูชามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ไทยยังได้สนับสนุนข้อตกลงสันติภาพปารีสในปี ๒๕๓๔ (ค.ศ. ๑๙๙๑) และการเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียนของกัมพูชาในปี ๒๕๔๒ (ค.ศ. ๑๙๙๙) ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไทยและกัมพูชาได้ร่วมมือกันด้วยความสุจริตใจเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทั้งสองประเทศ


อย่างไรก็ดี ไทยและกัมพูชาประสบกับความท้าทายและมีความเห็นต่างในบางโอกาส ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ระหว่างประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านกันทั่วไป แต่เมื่อเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น สิ่งที่ควรกระทำ คือ การร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาอย่างสันติ ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง และด้วยเหตุนี้ เราจึงมาหารือกันในที่ประชุมแห่งนี้

 

ท่านประธานที่เคารพ

เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ได้เกิดการปะทะกันเล็กน้อยในบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา ในขณะที่ทหารไทยกำลังอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนตามเส้นทางประจำที่กำหนดไว้ในเขตแดนของประเทศไทย ทหารฝ่ายกัมพูชาได้เริ่มยิงโจมตีทหารไทยก่อน โดยปราศจากการยั่วยุใด ๆ ทหารฝ่ายไทยจึงมีความจำเป็นต้องตอบโต้โดยคำนึงถึงความเหมาะและได้สัดส่วน ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศไทยเชื่อมั่นมาโดยตลอด
ว่า ช่องทางทวิภาคีคือ แนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ไขปัญหาลักษณะดังกล่าว ไทยจึงได้พยายามผลักดันให้มีหารือกับกัมพูชาผ่านการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission – JBC) ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๘ ณ กรุงพนมเปญ

 

แม้จะมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ ๑๖ และ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๘ ได้เกิดเหตุการณ์ทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิดขณะปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนตามปกติภายในดินแดนของไทยเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ทหาร ๒ นายได้รับบาดเจ็บ ซึ่งนำไปสู่การทุพพลภาพถาวร ขณะที่ทหารนายอื่น ๆ ได้รับบาดเจ็บสาหัส หลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ทุ่นระเบิดที่พบเป็นทุ่นระเบิดที่ถูกนำไปวางใหม่ในพื้นที่ ซึ่งเคยเก็บกู้ทุ่นระเบิดหมดไปแล้ว ในการนี้ จึงขอเรียนข้อเท็จจริงว่า ไทยได้ทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลหมดสิ้นไปแล้ว ซึ่งรวมถึงส่วนที่เก็บไว้เพื่อการวิจัยและฝึกอบรม ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ในขณะที่ รายงานความโปร่งใสประจำปีของกัมพูชา เมื่อเดือนธันวาคมปี ๒๕๖๕ ระบุว่า กัมพูชายังคงครอบครองทุ่นระเบิดสังหารบุคคลประเภทดังกล่าว การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรือที่เป็นที่รู้จักในนามอนุสัญญาออตตาวา (Anti-Personnel Mine Ban Convention – APMBC) ซึ่งไทยและกัมพูชาเป็นรัฐภาคี และขัดต่อเจตนารมณ์ของปฏิญญาเสียมราฐ–อังกอร์ ซึ่งได้รับการรับรองในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๗

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์อันร้ายแรงนี้ ประเทศไทยจึงได้ส่งหนังสือสองฉบับถึงประธานการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ ๒๒ โดยชี้แจงข้อเท็จจริงของรายละเอียดเหตุการณ์และประณามอย่างรุนแรงที่สุดต่อการกระทำของกัมพูชา ซึ่งถือเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทยโดยเจตนา นอกจากนี้ ไทยยังได้มีหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อขอให้ฝ่ายกัมพูชาชี้แจงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อ ๘ วรรค ๒ ของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล


ต่อมา เมื่อเวลา ๐๘.๒๐ น. ของเมื่อวาน วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๘ กองทัพกัมพูชาได้เปิดฉากใช้อาวุธหนักยิงใส่ฐานปฏิบัติการของทหารฝ่ายไทยใกล้บริเวณปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ และต่อมา ทหารฝ่ายกัมพูชาได้โจมตีทางอาวุธต่อพื้นที่ในดินแดนของประเทศไทยโดยไม่เลือกเป้าหมาย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ ๔ จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ซึ่งถือเป็นการกระทำอันเป็นการรุกราน และการโจมตีทางอาวุธอย่างผิดกฎหมายและโดยไม่เลือกเป้าหมาย กระผมขอย้ำคำว่า โดยไม่เลือกเป้าหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงและความทุกข์ทรมานต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ มีเด็กเสียชีวิต ๔ คน และบาดเจ็บสาหัสอีก ๔ คน นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือน รวมทั้งโรงพยาบาลและโรงเรียน ต่างก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยจากรายงานสถิติความเสียหาย ณ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. การโจมตีดังกล่าวส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตจำนวน ๑๔ ราย และบาดเจ็บ ๔๖ ราย โดย ๑๓ รายอยู่ในภาวะวิกฤต
ผมขอย้ำประโยคว่า “อย่าละสายตา” อีกครั้ง ทั้งนี้ ในเพียงระยะเวลา ๒๔ ชั่วโมงที่ผ่านมา โรงพยาบาล สถานีบริการน้ำมัน และบ้านพักของพลเรือนตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี ครอบครัวหนึ่งซึ่งมีสมาชิก ๔ คน ในระหว่างซื้อของที่ร้านขายของชำ โดยแม่และลูกสามคน ไม่มีผู้ใดรอดชีวิตออกมา และมีประชาชนมากกว่า ๑๓๐,๐๐๐ คน ที่ต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย

 

ในการนี้ ประเทศไทยขอประณามอย่างถึงที่สุดต่อการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมายและไร้มนุษยธรรมของกัมพูชาต่อพลเรือน โครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือน และสถานประกอบการสาธารณะต่าง ๆ  โดยเฉพาะโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. ๑๙๔๙ (The Geneva Conventions of 1949) โดยเฉพาะข้อ ๑๙ ของอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่หนึ่ง และข้อ ๑๘ ของอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่สี่

 

ท่านประธานที่เคารพ

 

การรุกรานและการโจมตีทางอาวุธอย่างต่อเนื่องโดยปราศจากการยั่วยุและมีการวางแผนล่วงหน้าของกองทัพกัมพูชา ถือเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ ๒ วรรค ๔ ซึ่งทุกท่านทราบดีว่า ระบุห้ามไม่ให้มีการใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐอื่น อีกทั้งยังขัดต่อหลักการอยู่ร่วมกันฉันมิตรกับรัฐเพื่อนบ้าน หลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของอาเซียน

 

แม้จะใช้ความอดกลั้นอย่างสูงสุด แต่ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิป้องกันตนเองตามข้อ ๕๑ ของกฎบัตรสหประชาชาติ ผมขอยืนยันว่า การตอบโต้ของไทยดำเนินการอย่างมีการจำกัดขอบเขตตามหลักความได้สัดส่วน และมุ่งเป้าในการขจัดภัยคุกคามที่เกิดขึ้นต่อหน้าจากการโจมตีของกองกำลังฝ่ายกัมพูชาเท่านั้น มาตรการที่ใช้ทั้งหมดมุ่งเป้าต่อเป้าหมายทางทหารโดยตรง และได้ใช้ความพยายามทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อพลเรือน


ประเทศไทยมีจุดยืนที่ชัดเจนและต่อเนื่องในการยึดมั่นในหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น และเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐอื่นอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นหลักการที่เป็นพื้นฐานสำคัญของระเบียบระหว่างประเทศและเสถียรภาพในภูมิภาค

ท่านประธานที่เคารพ ในฐานะประเทศที่รักสันติ ประเทศไทยขอปฏิเสธอย่างเด็ดขาดต่อการใช้กำลังแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศ และยังคงยึดมั่นต่อการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีตามกฎบัตรสหประชาชาติ ในการนี้ ในช่วง ๒ เดือนที่ผ่านมา ไทยได้พยายามอย่างต่อเนื่องในการเจรจาและหารือกับกัมพูชาผ่านกลไกทวิภาคีต่าง ๆ รวมถึง คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission - JBC) เพื่อแก้ไขความขัดแย้งและป้องกันไม่ให้สถานการณ์ลุกลาม แต่เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่กัมพูชาจงใจหลีกเลี่ยงการเจรจา แต่พยายามนำเรื่องเข้าสู่เวทีระหว่างประเทศเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ทางการเมืองของตนเอง

ในส่วนของข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความเสียหายต่อบริเวณโดยรอบและโครงสร้างของปราสาทพระวิหาร ขอยืนยันว่าไทยได้ใช้สิทธิในการป้องกันตนเองตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยยึดมั่นในหลักการแบ่งแยกระหว่างพลรบกับพลเรือน ความได้สัดส่วนของการใช้กำลัง ความระมัดระวัง และความจำเป็นทางทหาร การตอบโต้ทั้งหมดของฝ่ายไทยจำกัดเฉพาะเป้าหมายทางทหารอย่างเคร่งครัด

ไม่มีการปะทะใด ๆ ระหว่างกองทัพไทยและกองทัพกัมพูชาเกิดขึ้นใกล้บริเวณปราสาทพระวิหาร พื้นที่ปะทะที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บริเวณภูมะเขือ ซึ่งห่างจากปราสาทพระวิหารประมาณ ๒ กิโลเมตร และปราสาทพระวิหารตั้งอยู่นอกแนววิถีกระสุนของปฏิบัติการทางทหารของไทยโดยสิ้นเชิง จึงไม่มีความเป็นไปได้ใด ๆ ที่กระสุนหรือสะเก็ดระเบิดจะสร้างความเสียหายแก่ปราสาทพระวิหาร


ข้อกล่าวหาของกัมพูชาจึงปราศจากมูลความจริงและเป็นที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน ประเทศไทยขอเรียกร้องให้กัมพูชาหยุดการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือบิดเบือน ซึ่งเป็นการทำให้ประเด็นมรดกทางวัฒนธรรมกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองและขอให้กัมพูชาเคารพพันธกรณีระหว่างประเทศในการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมโดยสุจริตใจ

ในประเด็นระเบิดพวง ไทยขอยืนยันว่า การดำเนินการทางทหารเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกระหว่างพลรบกับพลเรือน ความได้สัดส่วนของการใช้กำลัง และความจำเป็นทางทหาร ระเบิดพวงได้ถูกใช้โดยมุ่งไปยังเป้าหมายทางทหารเท่านั้น

ท่านประธานที่เคารพ

 

ประเทศไทยขอเรียกร้องให้กัมพูชายุติการสู้รบและการกระทำที่เป็นการรุกรานโดยทันที และกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาโดยสุจริตใจ

ขอบคุณครับ