ไทยนำเสนอรายงานประเทศทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รอบที่ ๓ ภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR)

ไทยนำเสนอรายงานประเทศทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รอบที่ ๓ ภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR)

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,502 view

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยนำเสนอรายงานประเทศทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รอบที่ ๓ ภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงเปิดของคณะผู้แทนไทยซึ่งเน้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของไทยที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กัน รวมทั้งได้สะท้อนพัฒนาการสำคัญในการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในด้านต่าง ๆ เพื่อยืนยันความพยายามในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการยึดมั่นต่อพันธรณีของไทยภายใต้ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี

สาระของการนำเสนอรายงาน UPR ของไทย ครอบคลุมการดำเนินการ พัฒนาการ ความสำเร็จ ตลอดจนความท้าทาย ทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สิทธิพลเมืองและทางการเมือง และสิทธิของกลุ่มต่าง ๆ อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนและการบริหารจัดการกับความท้าทายและผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และให้มุมมองเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนในอนาคตของไทย

กระบวนการ UPR เป็นกระบวนการภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) ซึ่งกำหนดให้รัฐสมาชิกสหประชาชาติ จัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศทุก ๔ ปี ครึ่ง โดยใช้ระบบรัฐสมาชิกเป็นผู้ทบทวนกันเอง (peer review) เพื่อให้ข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติต่อไปอย่างสมัครใจ

ประเทศไทยได้นำเสนอรายงานฯ มาแล้ว ๒ รอบ (รอบที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๕๔ และรอบที่ ๒ เมื่อปี ๒๕๕๙) โดยการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในรอบที่ ๓ นี้ เป็นไปในบรรยากาศที่สร้างสรรค์ และครอบคลุมหลากหลายประเด็น โดยหลายประเทศชื่นชมการดำเนินการของประเทศไทยในการส่งเสริมสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเปราะบางต่างๆ และหยิบยกนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในสถานการณ์โควิด-๑๙ รวมทั้งให้ความสนใจในเรื่องการส่งเสริมสิทธิของเด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้โยกย้ายถิ่นฐาน นอกจากนี้ ยังได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ไทยที่หลากหลาย และเป็นประโยชน์ในการพิจารณาสิทธิมนุษย์ชนอย่างต่อเนื่องต่อไป

คำกล่าวนำเสนอรายงานฯ ของปลัดกระทรวงการต่างประเทศ >>>

วิดีโอประกอบ

UPR report