รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบกลุ่มนักธุรกิจในสหรัฐฯ สานสัมพันธ์ การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-๑๙ ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบกลุ่มนักธุรกิจในสหรัฐฯ สานสัมพันธ์ การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-๑๙ ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,664 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหารือคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ–อาเซียน (USABC) และสภาหอการค้าสหรัฐฯ (USCC) สร้างความเชื่อมั่น ส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙ และผลักดันการขยายการลงทุนในหลากหลายสาขา

เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบหารือกับผู้บริหารสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกาและอาเซียน (US-ASEAN Business Council : USABC) หอการค้าสหรัฐอเมริกา (US Chamber of Commerce: USCC) และบริษัทภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่นครนิวยอร์ก ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๖ โดยมีนาย Ted Osius ประธาน USABC นาย John Goyer ผู้อำนวยการบริหาร USCC และผู้บริหารจาก ๙ บริษัท ได้แก่ Chevron, Koch Industries, Dow, Microsoft, Citi, Pfizer, Cheniere Energy และ Jacobs Engineering เข้าร่วม

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผลักดันการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในบริบทสถานการณ์โควิด-๑๙ โดยได้แจ้งพัฒนาการสถานการณ์โควิด-๑๙ และมาตรการการดำเนินการของไทย โดยเฉพาะแผนฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมทั้งได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) เพื่อการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน โดย BCG จะเป็นวาระสำคัญสำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญชวนภาคเอกชนสหรัฐฯ ขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และหารือถึงการเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ในด้านต่าง ๆ อาทิ การเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ อย่างเร่งด่วน การพัฒนาธุรกิจเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ ห่วงโซ่อุปทาน เทคโนโลยีดิจิทัล พลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรักษาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการส่งเสริมศึกษาและการฝึกอบรมทักษะบุคลากรเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล

 

--------------

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ