การลดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

การลดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 เม.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 32,567 view

การลดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty : NPT)

1. ภูมิหลัง
                1.1 NPT มีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2513 และได้รับการต่ออายุแบบถาวร (indefinite extension) เมื่อปี 2538 ระหว่างการประชุมทบทวนครั้งที่ 5  ปัจจุบันมีรัฐภาคีทั้งสิ้น 189 ประเทศ  โดยประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคี ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน และอิสราเอล  และเกาหลีเหนือถอนตัวจาก NPT เมื่อปี 2546  ทั้งนี้ ไทยได้เข้าเป็นภาคีของ NPT เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2515 และปฏิบัติตามพันธกรณีของ NPT อย่างเคร่งครัด โดยมีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการตาม NPT   
                1.2 สาระสำคัญของ NPT แบ่งออกเป็น 3 เสาหลัก ได้แก่
                       1.2.1 การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (ข้อที่ 1-3) ห้ามรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Weapon State หรือ NWS) ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร รัสเซีย ฝรั่งเศส และจีน ส่งหรือช่วยให้ประเทศอื่น ผลิต หรือครอบครองอาวุธนิวเคลียร์  และห้ามรัฐที่ไม่ได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Nuclear Weapon State หรือ NNWS)  รับ แสวงหา หรือขอความช่วยเหลือในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และให้ NNWS จัดทำความตกลงพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (Safeguards Agreement) กับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) ว่าจะไม่นำพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติไปดัดแปลงใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์
                       1.2.2 การลดอาวุธนิวเคลียร์ (ข้อที่ 6) ให้รัฐสมาชิกหารือเกี่ยวกับมาตรการเพื่อยุติการแข่งขันการสะสมอาวุธนิวเคลียร์และการลดอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งหารือเกี่ยวกับสนธิสัญญาว่าด้วยการลดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง
                       1.2.3 การใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ (ข้อที่ 4) รัฐภาคีมีสิทธิในการพัฒนา วิจัย ผลิต และใช้พลังงานนิวเคลียร์ด้วยวัตถุประสงค์ทางสันติ แต่ต้องเป็นไปตามหลักการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์อาวุธนิวเคลียร์

2. พัฒนาการที่สำคัญ
                2.1 การประชุมทบทวนฯ ครั้งที่ 5 เมื่อปี 2538 บรรลุผลประชุมที่สำคัญ โดยได้รับรองข้อตัดสินใจ 3 ฉบับ และข้อมติ 1 ฉบับ ได้แก่ 1) ข้อตัดสินใจเรื่องการเสริมสร้างกระบวนการทบทวน NPT โดยให้มีการประชุม PrepCom ทุกปี เป็นเวลา 3 ปี ก่อนมีการประชุมทบทวนฯ แต่ละครั้ง 2) ข้อตัดสินใจเรื่องหลักการและวัตถุประสงค์ของการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งระบุแนวทางดำเนินการต่างๆ ในกรอบ NPT 3) ข้อตัดสินใจเรื่องการต่ออายุ NPT โดยถาวร และ 4) ข้อมติว่าด้วยตะวันออกกลาง
                2.2 การประชุมทบทวนฯ ครั้งที่ 6 เมื่อปี 2543 ได้มีความคืบหน้าที่สำคัญ คือ เป็นครั้งแรกที่ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ รับที่จะดำเนินการให้บรรลุผลเรื่องการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิงอย่างชัดเจน และได้กำหนดขั้นตอนอย่างเป็นรูปธรรม 13 ขั้นตอนในการลดและขจัดอาวุธนิวเคลียร์
                2.3 การประชุมทบทวนฯ ครั้งที่ 7 เมื่อปี 2548 ไม่สามารถบรรลุฉันทามติในเชิงสารัตถะ เนื่องจาก NWS และ NNWS มีท่าทีแตกต่างกันมาก โดย NWS โดยเฉพาะสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการไม่แพร่ขยายอาวุธเป็นหลัก ในขณะที่ NNWS เห็นว่า การลดอาวุธนหนทางเดียวที่จะยุติการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างถาวร และให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติเพื่อการพัฒนาประเทศของ NNWS
               2.4 การประชุมทบทวนฯ ครั้งที่ 8 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-28 พฤษภาคม 2553 โดยมีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ 1) การดำเนินมาตรการเรื่องการลดอาวุธและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์  2) ปัญหาในระดับภูมิภาคต่างๆ อาทิ ปัญหานิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ และภัยคุกคามจากการแพร่ขยายอาวุธในตะวันออกกลาง  และ 3) การใช้นิวเคลียร์ในทางสันติ อาทิ การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์  ความร่วมมือด้านเทคนิคระหว่างประเทศ และการจัดหาเชื้อเพลิงนิวเคลียร์

3. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ NPT ภายใต้กรอบ IAEA
                3.1 พลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear power) IAEA มีบทบาทสนับสนุนรัฐสมาชิกในการให้คำแนะนำเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งในด้านการวางกรอบกฎหมายและด้านเทคนิค
                3.2 การนำนิวเคลียร์ไปใช้ในทางสันติ (Nuclear Applications) โดยเน้นประโยชน์ของพลังงานนิวเคลียร์ที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในด้านต่างๆ เช่น การเกษตร การแพทย์   ซึ่ง IAEA มีบทบาทในการสนับสนุนด้านเทคนิคและวิชาการ
                3.3 การตรวจพิสูจน์และพิทักษ์ความปลอดภัยนิวเคลียร์ (Nuclear Verification and Safegaurds) เพื่อป้องกันการนำพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติไปใช้ผลิตอาวุธและใช้ประโยชน์ทางการทหาร โดย IAEA มุ่งไปสู่การจัดระบบข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของประเทศต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ และเทคโนโลยีการตรวจสอบและตรวจจับวัสดุนิวเคลียร์ที่มีประสิทธิภาพ
                3.4 ความปลอดภัยและความมั่นคงนิวเคลียร์ (Nuclear safety and security) เพื่อสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยและป้องกันการรั่วไหลของนิวเคลียร์ไปสู่ผู้ก่อการร้าย ซึ่ง IAEA ได้จัดทำแนวทางดำเนินการเพื่อให้รัฐสมาชิกนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อป้องกันอุบัติภัยและการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์

4. ท่าทีประเทศต่างๆ
               4.1 ประเทศที่พัฒนาแล้ว/ ประเทศ NSW (เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ EU ออสเตรเลีย) ให้ความสำคัญกับเรื่องการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์เป็นหลัก โดยเฉพาะการตรวจสอบและพิทักษ์ความปลอดภัยนิวเคลียร์ (ซึ่งมีนัยทางการเมืองต่ออิหร่านและเกาหลีเหนือ) รวมทั้งความมั่นคงทางนิวเคลียร์และการป้องกันมิให้วัสดุนิวเคลียร์ตกไปอยู่ในมือผู้ก่อการร้ายโดยผ่านมาตรการควบคุมการส่งออก
               4.2 ประเทศกำลังพัฒนา / กลุ่ม NAM / NNWS เห็นว่า การลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างแท้จริงจึงนำไปสู่การป้องกันการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ได้ และเน้นการให้ความสำคัญกับการมีสมดุลระหว่างการไม่แพร่ขยายอาวุธและการลดอาวุธ รวมทั้งสิทธิของรัฐภาคีในการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติ แ
               4.3 หลายประเทศแสดงความริเริ่มในด้านการไม่แพร่ขยาย/ลดอาวุธนิวเคลียร์ เช่น ญี่ปุ่นและออสเตรเลียได้ร่วมกันผลักดันและจัดตั้ง International Commission on Nuclear Non-proliferation and Disarmament 

5. การดำเนินการของไทย
              5.1 ไทยเข้าเป็นภาคี NPT ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2515 และปฏิบัติตามพันธกรณีของสนธิสัญญา NPT อย่างเคร่งครัด รวมทั้งการปฏิบัติตามพันธกรณีในการจัดทำความตกลงเรื่องมาตรการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (Safeguards Agreement) กับ IAEA ซึ่งไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2517 โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นหน่วยงานหลัก
              5.2 ไทยได้ลงนามพิธีสารเพิ่มเติม (Additional Protocol) ของความตกลงพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2548 และอยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายภายในเพื่อรองรับการให้สัตยาบัน
              5.3 ไทยได้ร่วมกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ จัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) หรือสนธิสัญญากรุงเทพฯ (Bangkok Treaty) เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ในความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายในการลดและการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ตามที่กำหนดไว้ใน NPT รวมทั้งประเทศอาเซียนทุกประเทศได้เข้าเป็นภาคีแล้ว
 


สนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty : CTBT)

ข้อมูลเบื้องต้น

           - สนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ หรือ CTBT มีสาระสำคัญห้ามรัฐภาคีทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง โดยครอบคลุมทั้งบนดิน ใต้ดิน ใต้น้ำ และอวกาศ

           - ปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ 165 ประเทศ ลงนามใน CTBT รวมทั้งประเทศนิวเคลียร์เคลียร์ 5 ประเทศคือ อังกฤษ สหรัฐฯ รัสเซีย ฝรั่งเศส และจีน โดยขณะนี้ มีประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว 92 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศที่มีศักยภาพนิวเคลียร์ 31 ประเทศ ทั้งนี้ สนธิสัญญาฯ จะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อประเทศที่มีศักยภาพทางนิวเคลียร์รวม 44 ประเทศที่ปรากฏรายชื่อในภาคผนวก 2 ต่อท้ายสนธิสัญญาฯ (ซึ่งรวมทั้งประเทศนิวเคลียร์ทั้ง 5 ประเทศ) ได้ลงนามและให้สัตยาบัน CTBT แล้ว

           - ในจำนวนประเทศที่มีศักยภาพทางนิวเคลียร์ 44 ประเทศนี้ มี 41 ประเทศที่ได้ลงนามใน CTBT แล้ว คงเหลืออีก 3 ประเทศคือ อินเดีย ปากีสถาน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ที่ยังไม่ลงนามใน CTBT และในจำนวน 41 ประเทศนี้ มีเพียง 31 ประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว ทั้งนี้ สหรัฐฯ และจีนเพียงแต่ลงนามแต่ยังไม่ให้สัตยาบัน จึงทำให้ประชาคมโลกห่วงกังวลว่า CTBT จะยังไม่มีผลบังคับใช้ไปอีกนาน

           - เลขาธิการสหประชาชาติในฐานะผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาฯ ได้จัดประชุมเพื่อเร่งรัดการมีผลบังคับใช้ของสนธิสัญญาฯ ที่นครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2544 อย่างไรก็ดี ประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการมีผลบังคับใช้ของสนธิสัญญาฯ คือ สหรัฐฯ อินเดียและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีไม่ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งสะท้อนถึงการไม่ให้ความสำคัญและไม่ประสงค์จะร่วมมือหรือมีส่วนร่วมใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนอิสราเอล ซึ่งเข้าร่วมประชุมฯ กล่าวเพียงว่าการลงนามในสนธิสัญญาฯ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการสนับสนุนสนธิสัญญาฯ ของอิสราเอลแล้ว ดังนั้น จึงอาจจะมีความพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขข้อ 14 ของสนธิสัญญาฯ ซึ่งเกี่ยวกับเงื่อนไขการมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาฯ ในอนาคตเพื่อให้ CTBT มีผลบังคับใช้

           - ประเทศกำลังพัฒนามักจะวิจารณ์ CTBT ว่ามีจุดอ่อนคือ เมื่อพิจารณาถึงความก้าวหน้าทางข้อมูลและเทคโนโลยีทางนิวเคลียร์ของประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ในปัจจุบันแล้ว ประเทศดังกล่าวก็ยังสามารถทดลองและพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของตนต่อไปได้ในห้องทดลอง ในลักษณะของการจำลองสภาพการณ์เหมือนจริงทางคอมพิวเตอร์ (computer simulations) อย่างไรก็ตาม CTBT ยังคงได้รับความสำคัญในแง่ของการแสดงเจตจำนงทางการเมือง และในฐานะเป็นขั้นตอนสำคัญซึ่งจะนำไปสู่การลดและกำจัดอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ในอนาคต

           - นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา หลายประเทศ เช่น อินเดีย ปากีสถาน เกาหลีเหนือ อิหร่าน ได้ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินและขีปนาวุธซึ่งสามารถนำไปติดหัวรบนิวเคลียร์ ซึ่งประชาคมโลกได้แสดงความห่วงกังวลและเรียกร้องให้ทั้งประเทศที่ยังไม่ได้ลงนาม CTBT และ NPT เร่งลงนามและให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาทั้งสองฉบับโดยเร็วและไม่มีเงื่อนไข

ท่าทีไทย

           - ไทยไม่เห็นด้วยกับการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ทุกรูปแบบ และเห็นว่าการทดลองดังกล่าวมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประชาคมโลกและความมีเสถียรภาพในภูมิภาค รวมทั้งเป็นการสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจของประชาคมโลก

           - ไทยมิได้เป็น 1 ใน 44 ประเทศที่มีศักยภาพทางนิวเคลียร์ ไทยได้ลงนามใน CTBT เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2539 และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อให้สัตยาบัน CTBT โดยคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ได้มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามพันธกรณีของสนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ :พปส. เป็นหน่วยงานหลักระดับชาติ) และคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจอีก 2 คณะ คือ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจตรวจว่าด้วยการตรวจการแปลสนธิสัญญาฯ และคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจว่าด้วยด้านกฎหมาย เพื่อพิจารณาตรวจการแปลสนธิสัญญาฯ เป็นภาษาไทย และออกกฎหมายภายในอนุวัติการให้เป็นไปตามพันธกรณีของสนธิสัญญาฯ ทั้งนี้ คาดว่า ไทยจะสามารถให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาฯ ได้ภายในปี 2546
 


อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี (Chemical Weapons Convention : CWC)

1. ภูมิหลัง
             1.1 อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี  (Convention on the Prohibition of the Development, Production, Stockpiling and Use of Chemical Weapons and on their Destruction หรือ Chemical Weapons Convention (CWC) เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการลดอาวุธทั่วโลก                     ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จและเกือบเป็นสากล มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
                    - ห้ามรัฐภาคีใช้อาวุธเคมีในการทำสงคราม ห้ามพัฒนา ผลิต สะสมอาวุธเคมี
                    - ให้ดำเนินการทำลายอาวุธเคมีที่ได้ผลิตและมีอยู่ในครอบครอง และให้มีการตรวจพิสูจน์ยืนยัน (verification) การดำเนินการดังกล่าวด้วย
                    - ให้มีการควบคุมการผลิต ครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออก และส่งผ่านสารเคมีพิษและสารที่อาจใช้ผลิตสารเคมีพิษตามที่อนุสัญญาควบคุมอย่างเข้มงวด
             1.2 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540  ปัจจุบันมีรัฐภาคี 188 ประเทศ
                    -  รัฐที่ลงนาม แต่ยังไม่ให้สัตยาบัน ได้แก่ อิสราเอล และพม่า
                    -  รัฐที่ไม่เข้าร่วมอนุสัญญาฯ (Non-signatory States) ได้แก่ อังโกลา อียิปต์ เกาหลีเหนือ  โซมาเลีย และซีเรีย


2. การบริหารงาน
            ภายหลัง CWC มีผลใช้บังคับ ได้มีการจัดตั้งองค์การห้ามอาวุธเคมี (Organisation for the Prohibition of Chemicals Weapons Convention: OPCW) ขึ้น โดยมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อทำหน้าที่ดูแลการดำเนินการของรัฐภาคีให้เป็นไปตามพันธกรณี CWC ทั้งนี้ การบริหารงานมี 3 องค์ประกอบหลัก ดังนี้
            1) ที่ประชุมรัฐภาคี มีการประชุมปีละหนึ่งครั้งเป็นประจำทุกปี
            2) คณะมนตรีบริหาร (Executive Council) มีการประชุมปีละ 4 ครั้ง ประกอบด้วยสมาชิก 41 รัฐ โดยได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมรัฐภาคี ซึ่งรัฐภาคีทั้งหลายมีสิทธิที่จะปฏิบัติหน้าที่ในคณะมนตรีบริหารตามหลักการหมุนเวียน และมีวาระครั้งละ 2 ปี การเลือกองค์ประกอบของคณะมนตรีบริหารให้กระจายตามเขตภูมิศาสตร์อย่างเป็นธรรม โดยให้ความสำคัญด้านอุตสาหกรรมเคมี ผลประโยชน์ทางการเมือง และความมั่นคง
            การแบ่งสัดส่วนตามหลักภูมิภาคในคณะมนตรีบริหาร มีดังนี้ ทวีปแอฟริกา 9 รัฐ ทวีปเอเชีย 9 รัฐ ยุโรปตะวันออก 5 รัฐ ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 7 รัฐ ยุโรปตะวันตกและรัฐภาคีอื่น 10 รัฐ และหมุนเวียนระหว่างเอเชีย/ลาตินอเมริกาและแคริบเบียนอีก 1 รัฐ
            3) สำนักงานเลขาธิการฝ่ายวิชาการ มีหน้าที่ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกที่
ประชุมรัฐภาคี และคณะมนตรีบริหาร และดำเนินการพิสูจน์ยืนยัน และหน้าที่อื่นๆ


3.  ประเทศไทยกับการเป็นภาคี CWC
            3.1 ลงนาม CWC เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2536 รัฐสภาให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2543 มีผลให้ไทยเป็นรัฐภาคีโดยสมบูรณ์เมื่อ 9 มกราคม 2546 ในลำดับที่ 148
            3.2  ครม. มีมติเมื่อ 29 ธ.ค. 2535 มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วย  ประสานงานหลักระดับชาติ ต่อมาได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยการห้ามอาวุธเคมีขึ้นภายใต้สำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการดำเนินการของไทยตามตามพันธกรณี CWC
           3.3 ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 7-11 พฤศจิกายน 2548 ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศไทยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณะมนตรีบริหารในฐานะผู้แทนในกลุ่มประเทศเอเชีย โดยมีกำหนดวาระ 2 ปี (2549-2551) นับตั้งแต่ 12 พฤษภาคม 2549 
            3.4 ในการประชุมรัฐภาคีสมาชิก OPCW ครั้งที่ 12 ไทยได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการสารแต่งตั้งผู้แทน (Credentials Committee) ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบความเรียบร้อยของ Credentials จากรัฐภาคีต่างๆ ร่วมกับนามิเบีย ศรีลังกา บัลแกเรีย คิวบา ออสเตรีย โมร็อกโก สาธารณรัฐเชค ฟินแลนด์ และกัวเตมาลา (ประธาน)
            3.5 ไทยไม่มีอาวุธเคมีในครอบครอง และได้ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ CWC อย่างเคร่งครัด


4. ประเด็นสำคัญของ CWC 
           ในปัจจุบัน คือ การพิจารณาขอขยายกรอบระยะเวลาการทำลายอาวุธเคมีในรายการประเภท 1 ที่อยู่ในครอบครองของรัฐภาคีดังนี้
           4.1 ตามพันธกรณีอนุสัญญาฯ รัฐภาคีจะต้องทำลายอาวุธเคมีทั้งหมดตามอัตราและขั้นตอนการทำลายที่ได้กำหนดไว้ โดยสำหรับรายการประเภท 1 (มีทั้งหมด 12 รายการ เช่น สารประสาท สารพุพอง) ต้องเริ่มการทำลายดังกล่าวภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี หลังจาก CWC มีผลใช้บังคับต่อรัฐภาคีนั้นและจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในเวลาไม่เกิน 10 ปีหลัง CWC มีผลใช้บังคับ (ภายในปี 2550) ทั้งนี้ ในการทำลายอาวุธเคมีประเภท 1 หากรัฐภาคีไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นได้ทันภายในเวลาไม่เกิน 10 ปี  ก็อาจเสนอคำร้องขอคณะมนตรีบริหารเพื่อขอขยายกำหนดเวลาการทำลายอาวุธเคมีดังกล่าวออกไปได้อีกไม่เกิน 5 ปี (ภายในปี 2555)
           4.2  ในการประชุมใหญ่ประจำปีรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี ครั้งที่ 11 เมื่อเดือน ธ.ค. 2549 ได้มีการพิจารณาข้อเสนอของคณะมนตรีบริหารให้ขยายเวลาสำหรับรัฐภาคีเช่น สหรัฐฯ รัสซีย และลิเบีย ในการทำลายอาวุธเคมีประเภท 1  โดยจะต้องไม่เกินระยะเวลา15 ปี หลังจากที่ CWC มีผลใช้บังคับโดยกำหนดเส้นตายไว้ในวันที่ 29 เม.ย. 2555 (ค.ศ. 2012) 
           4.3 ไทยในฐานะสมาชิกคณะมนตรีบริหารมีความเห็นสอดคล้องกับบรรดาสมาชิกคณะมนตรีบริหารอื่นๆ โดยสนับสนุนการขอขยายเวลาให้รัฐภาคีทำลายอาวุธเคมีออกไปอีกไม่เกิน 5 ปี
           4.4 ยังไม่มีกรณีของรัฐภาคีที่ต้องการขยายเวลาออกไปเกิน 15 ปี หลัง CWC มีผลใช้บังคับ ซึ่งถ้ากรณีดังกล่าวเกิดขึ้น คณะมนตรีบริหารก็พิจารณาเป็นรายพิเศษต่อไป
           4.5 OPCW เรียกร้องให้ประเทศที่ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกฯ ให้เข้าเป็นสมาชิกฯ ในโอกาสแรกเพื่อให้สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามอาวุธเคมีบรรลุความเป็นสากล (universality) อย่างแท้จริงที่สุด และในการประชุม CSP-12 Director-General ของ OPCW ได้กล่าวถึงพม่าและเกาหลีเหนือว่ายังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่บ่งบอกถึงการตอบสนองจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ส่วนอียิปต์ อิสราเอล และซีเรียนั้นได้อ้างเหตุผลของความมั่นคงในภูมิภาคเพื่อจะไม่ร่วมในสนธิสัญญา แต่ยังให้ความร่วมมือในการเจรจากับ OPCW ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
 


อนุสัญญาห้ามอาวุธชีวะ (Biological Weapons Convention : BWC)

1. ภูมิหลัง              
              1.1  อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามพัฒนา ผลิต และสะสมอาวุธบัคเตรี (ชีวะ) และอาวุธทอกซิน และว่าด้วยการทำลายอาวุธเหล่านี้ (Convention on the Prohibition of the Development, Production and Stockpiling of Bacteriological (Biological) and Toxin Weapons                        and on Their Destruction: Biological Weapons Convention – BWC) เป็นสนธิสัญญาพหุภาคีเพื่อการห้ามอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงฉบับแรก และมีสาระสำคัญ ดังนี้
                      -  ห้ามรัฐภาคีพัฒนา ผลิต สะสม ถ่ายโอน ได้มาซึ่ง และใช้อาวุธชีวภาพ
                     -  ห้ามรัฐภาคีพัฒนา ผลิต สะสม ถ่ายโอน ได้มาซึ่ง และใช้เชื้อโรคและสารพิษเว้นแต่กรณีของการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางสันติ
                     -  ให้รัฐภาคีทำลายอาวุธชีวภาพในครอบครอง
                     -  ให้รัฐภาคีมีมาตรการระดับชาติเพื่อการอนุวัติอนุสัญญาฯ
                     -  ให้รัฐภาคีใช้กระบวนการหารือในระดับทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อการแก้ไขปัญหาเรื่องการดำเนินการตามอนุสัญญา
                     -  ในกรณีที่มีการละเมิดอนุสัญญาฯ ให้รัฐภาคีร้องขอให้ UNSC ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง และรัฐภาคีต้องเคารพต่อคำตัดสินของ UNSC
                     -  ให้มีการช่วยเหลือรัฐภาคีที่ได้รับการจู่โจมโดยอาวุธชีวภาพ
                     -  ให้มีการส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ทางเทคโนโลยีและชีวภาพอย่างสันติ
              1.2  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2518 (ค.ศ. 1975) ปัจจุบันมีรัฐภาคี 162 ประเทศ
                     - รัฐที่ลงนามมี 13 ประเทศ อาทิ พม่า อียิปต์ เนปาล โซมาเลีย ซีเรีย แทนซาเนีย บุรุนดี
                     - รัฐที่ไม่เข้าร่วมอนุสัญญาฯ มี 20 ประเทศ อาทิ อิสราเอล ชาด แคมารูน ซามัว นาอูรู (ประเทศส่วนใหญ่เป็นประเทศในแอฟริกาหรือแปซิฟิกใต้)

2. การบริหารงาน
              2.1  ที่ประชุมทบทวนอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 6 ค.ศ. 2006 (Sixth Review Conference) ได้มีมติให้มีการจัดการประชุมปีละ 2 ครั้ง คือ 1) การประชุมผู้เชี่ยวชาญ และ 2) การประชุมรัฐภาคี ทุกๆ ปีในช่วง 2007-2010 Intersessional Process ก่อนที่จะมีการประชุมทบทวนอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 7 ในปี ค.ศ. 2011
                     - การประชุมปี 2550 มีปากีสถาน (กลุ่มเอเชีย) เป็นประธาน และมีหัวข้อหลักคือการส่งเสริมการดำเนินการตามอนุสัญญาฯ ในระดับประเทศ ภูมิภาค และอนุภูมิภาค
                     - การประชุมปี 2551 มีมาเซโดเนีย (กลุ่มยุโรปตะวันออก) เป็นประธาน และเน้นหัวข้อเรื่องมาตรการส่งเสริม biosafety และ biosecurity
                     - การประชุมปี 2552 จะมีประเทศในกลุ่มตะวันตกเป็นประธาน และจะเน้นหัวข้อเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพอย่างสันติ
                     - การประชุมปี 2553 จะมีประเทศในกลุ่ม NAM เป็นประธาน และจะเน้นเรื่องการประสานการให้ความช่วยเหลือต่อประเทศที่ประสบภัยคุกคามจากอาวุธชีวภาพ
              2.2 การประชุมทบทวนอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 6 ได้มีมติให้จัดตั้งหน่วยสนับสนุนการอนุวัติอนุสัญญาฯ (Implementation Support Unit) ภายใต้สำนักงานกิจการลดอาวุธสหประชาชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของการประชุมต่างๆ ภายใต้กรอบ BWC รวมทั้งเป็นฝ่ายสนับสนุนกิจกรรมด้านการส่งเสริมการอนุวัติอนุสัญญาฯ มาตรการสร้างความมั่นใจ (Confidence Building Measures) และการสร้างความเป็นสากล 

3. ประเทศไทยกับการเป็นภาคี BWC
               3.1  ไทยเข้าเป็นภาคี BWC ลำดับที่ 38 โดยให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2518 (ค.ศ. 1975) และได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม Ad Hoc Group ณ นครเจนีวาเพื่อพิจารณาร่วมร่างพิธีสารและมาตรการพิสูจน์ยืนยันแนบท้าย BWC มาโดยตลอด
               3.2  ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (BIOTEC) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานกลางซึ่งดูแลการปฏิบัติตาม BWC
               3.3  ไทยได้จัดตั้งหน่วยประสานงานแห่งชาติเรื่องอนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ โดยมีปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำหน้าที่เป็นประธาน และมีกรรมการระดับสูงจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกระทรวงกลาโหม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำหน้าที่ประสานการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศให้เป็นไปตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ

4. ประเด็นสำคัญใน BWC
              4.1  ความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosafety) และ (biosecurity) ความมั่นคงทางชีวภาพ โดยเฉพาะในประเด็น 1) การพิจารณามาตรการระดับชาติ ภูมิภาค และระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและความมั่นคงทางชีวภาพ รวมถึงความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการและความมั่นคงของเชื้อโรคและสารพิษ และ 2) การพิจารณาการควบคุม การศึกษา การสร้างความตื่นตัว และการนำมาใช้หรือการพัฒนากฎระเบียบปฏิบัติ โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันมิให้เกิดการนำความก้าวหน้าของงานวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ต้องห้ามภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ อาทิ การก่อการร้าย
              4.2  ความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศ  การแลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสันติ  และการส่งเสริมขีดความสามารถด้านการตรวจและการควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศกำลังพัฒนาโดยตรงรวมทั้งไทย

 

เมษายน 2553