สาธารณรัฐไนเจอร์

สาธารณรัฐไนเจอร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ธ.ค. 2552

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,218 view


สาธารณรัฐไนเจอร์
Republic of Niger

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้งเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ตั้งอยู่ทางตอนกลางของทวีปแอฟริกา มีอาณาเขต
ทิศเหนือติดกับแอลจีเรียและลิเบีย
ทิศใต้ติดกับไนจีเรีย
ทิศตะวันออกติดกับชาด
ทิศตะวันตกติดกับมาลี
ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดกับเบนินและบูร์กินาฟาโซ
เนื้อที่ 1,267,000 ตารางกิโลเมตร
ภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายและภูเขาที่แห้งแล้ง มีทุ่งหญ้าบางส่วนทางภาคใต้และบริเวณลุ่มแม่น้ำ Niger
ภูมิอากาศ ร้อนและแห้ง อุณหภูมิระหว่าง 28-44 องศาเซลเซียส ช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือน ต.ค.-พ.ค. ฝนตกในเขตภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย. และมีพายุฝุ่นจากทะเลทรายซาฮาราระหว่างเดือน พ.ย.-ม.ค.
เมืองหลวง กรุงนีอาเม (Niamey)
เมืองสำคัญ Zinder, Maradi, Tahoua และ Agadez
วันชาติ 18 ธันวาคม (Proclamation of the Republic)
ประชากร 14.7 ล้านคน (2551)
ภาษาราชการ ภาษาฝรั่งเศส Hausa Djerma
ศาสนา อิสลามร้อยละ 80 ความเชื่อดั้งเดิมและศาสนาคริสต์ร้อยละ 20
หน่วยเงินตรา ฟรังก์เซฟา (CFAfr) อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท ประมาณ 13.17 CFAfr (พฤศจิกายน 2552)
ระบอบการปกครอง แบบสาธารณรัฐ ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ มีอำนาจใน การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
คือ นาย Mamadou Tandja

 

การเมืองการปกครอง

ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
หลังจากได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 2503 ไนเจอร์ปกครองประเทศด้วยระบบพรรคการเมืองเดียวและการปกครองของฝ่ายทหารจนถึงปี 2534 เมื่อนายพล Ali Saibou ยอมจัดให้มีการเลือกตั้งแบบหลายพรรค อันนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยในปี 2536 อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางภายในได้ก่อให้เกิดภาวะชะงักงันทางการเมือง จนในปี 2539 ได้มีการทำรัฐประหารขึ้นภายใต้การนำของนายพัน Ibrahim Bare
ในปี 2542 ฝ่ายทหารได้ทำรัฐประหารเพื่อโค้นล้มนายพัน Ibrahim Bare และจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้น ซึ่งนาย Mamadou Tandja เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งและเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนธันวาคม 2542 ต่อมา ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่ออีกวาระหนึ่งในปี 2547

นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
1. การเมืองการปกครอง
1.1 ไนเจอร์ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี สามารถดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัย และมีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ทั้งนี้ ประธานาธิบดีอำนาจในการยุบสภาด้วย ฝ่ายนิติบัญญัติ มีรัฐสภาแบบสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิก 113 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วไป ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ฝ่ายตุลาการ ประกอบไปด้วย ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลสูง
1.2 ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Mamadou Tandja ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมา 2 สมัย ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2542 การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปกำหนดให้มีขึ้นในเดือนธันวาคม 2552 นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นาย Ali Badjo Gamatie ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีให้เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2552 คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันมี 26 คน ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีเช่นกัน

2. เศรษฐกิจ
2.1 ไนเจอร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ตามการจัดอันดับขององค์การสหประชาชาติ ภูมิอากาศของประเทศที่มีความแห้งแล้งยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำการเกษตรแบบยังชีพ ประกอบกับข้อจำกัดของการเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลทำให้ไนเจอร์ต้องพึ่งพิงประเทศเพื่อนบ้านทั้งในการนำเข้าและส่งออก
2.2 ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ ยูเรเนียม น้ำมัน ทองคำ สังกะสี โดยยูเรเนียมเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 45 ของการส่งออกทั้งหมด สินค้าส่งออกที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์ หัวหอม และทองคำ อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ การทำเหมืองแร่ยูเรเนียม ซีเมนต์ อิฐ สบู่ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และเคมีภัณฑ์อื่นๆ
2.3 สินค้านำเข้าที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ สินค้าทุน และสินค้าแปรรูป อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และปิโตรเคมีภัณฑ์ ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไนเจอร์ คือ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแหล่งสินค้าส่งออกรายใหญ่ของประเทศ นอกจากนั้น ได้แก่ ฝรั่งเศส จีน ไนจีเรีย แอลจีเรีย
2.4 ไนเจอร์ป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจและการเงินแห่งแอฟริกากลาง (Communauté Economique et Monétaire de l’Afrique Centrale หรือ CEMAC) จึงมีธนาคารแห่งรัฐในแอฟริกากลาง (Banque des Etats de l’Afrique Centrale หรือ BEAC) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงยาอุนเด ประเทศแคเมอรูน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายทางด้านการเงินของประเทศ โดยมุ่งควบคุมระดับเงินเฟ้อและรักษาการตรึงค่าเงิน CFA franc ไว้กับเงินสกุลยูโร (1 ยูโร เท่ากับ 655.957 ฟรังก์เซฟา) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นมา
2.5 ในเดือนธันวาคม 2543 ไนเจอร์เข้าร่วมโครงการประเทศผู้มีหนี้สินล้นตัวของ IMF (Highly Indebted Poor Countries หรือ HIPC) ทั้งยังได้ลงนามในโครงการลดความยากจนและกระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Poverty Reduction and Growth Facility หรือ PRGF) ด้วย และต่อมา IMF ยังได้ปลดหนี้ทั้งหมดให้แก่ไนเจอร์ในปี 2548 ด้วย

3.นโยบายต่างประเทศ
3.1 ไนเจอร์ดำเนินนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ในทางปฏิบัติมีนโยบายที่สอดคล้องกับกลุ่มประเทศตะวันตก เดิมไนเจอร์มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนแต่เมื่อ 30 ก.ค. 2535 ไนเจอร์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ทำการประท้วงอย่างรุนแรงและประกาศตัดความสัมพันธ์กับไนเจอร์ในทันที ไนเจอร์มีความสัมพันธ์ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจอย่างแน่นแฟ้นกับไนจีเรียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านทางใต้ เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยไนจีเรียเป็นทางออกสู่ทะเล แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีภาษาราชการที่แตกต่างกัน แต่ผูกพันกันด้วยภาษา Huasa อันเป็นภาษาท้องถิ่นเดียวกัน
3.2 ไนเจอร์และประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เบนิน ไนจีเรีย ยังคงมีพรมแดนที่ยังมิได้มีการปันปันเขตแดนร่วมกัน

 

 

 

 

 

 

เศรษฐกิจการค้า

ข้อมูลเศรษฐกิจปี 2551
ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2551)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 9.5 (ปี 2551)

 

 

 

 

 

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐไนเจอร์

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 การทูต
ไทยกับไนเจอร์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2525 ที่ผ่านมา ไทยเคยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เป็นจุดติดต่อของฝ่ายไนเจอร์ ปัจจุบัน ไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี มีเขตอาณาครอบคลุมไนเจอร์ อย่างไรก็ตาม ไนเจอร์ยังมิได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตใดมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย
1.2 เศรษฐกิจ
ในปี 2551 ไทยและไนเจอร์มีมูลค่าการค้ารวม 11.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 11.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 1.7 แสนดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 11.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ มูลค่าการค้ารวมเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ซึ่งมีมูลค่าการค้ารวม 3.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 3.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 7 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 3.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกของไทยไปยังไนเจอร์ ได้แก่ ข้าว ผ้าผืน เคหะสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากไนเจอร์ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก

2. ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
ยังไม่มีการทำความตกลงใดๆ ระหว่างกัน

3. การเยือนที่สำคัญ
ไม่ปรากฏข้อมูลการเยือนระหว่างไทยกับไนเจอร์

****************************

พฤศจิกายน 2552



กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2035 E-mail : [email protected]

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ