แอนติกาและบาร์บูดา

แอนติกาและบาร์บูดา

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 มี.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,726 view


แอนติกาและบาร์บูดา
Antigua and Barbuda

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง เป็นเกาะอยู่ในทะเลแคริบเบียน ทางทิศเหนือของเครือรัฐโดมินิกา

พื้นที่ 443 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะขนาดใหญ่ 2 เกาะ ได้แก่ เกาะแอนติกา ซึ่งมีพื้นที่ 280 ตารางกิโลเมตร เกาะบาร์บูดา ซึ่งมีพื้นที่ 161 ตารางกิโลเมตร

ภูมิอากาศ แบบร้อนชื้น

ประชากร 87,600 คน (2552)

เมืองหลวง กรุงเซนต์จอนส์ (Saint John’s)

ภาษา ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ

ศาสนา นับถือศาสนาคริสต์นิกายแองกลิกันมากที่สุด ร้อยละ 25.7 ที่เหลือเป็นนิกายอื่นๆ รวมทั้งกลุ่มที่ไม่นับถือศาสนาอีกประมาณ ร้อยละ 75

เชื้อชาติ ผิวดำร้อยละ 91 เชื้อสายผสมร้อยละ 4.4 ผิวขาวร้อยละ 1.7 อื่นๆ ร้อยละ 2.9

อัตราผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 99 (2552)

หน่วยเงิน ดอลลาร์แคริบเบียนตะวันออก (Eastern Caribbean dollar) โดยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 2.70 ดอลลาร์แคริบเบียนตะวันออก
วันชาติ 1 พฤศจิกายน (วันประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ. 1981)

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ ความตกลงอัลบา (Bolivarian Alternative for the Peoples of our America and the People’s - ALBA) กลุ่มประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-Caricom) เครือจักรภพ (The Commonwealth) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแคริบเบียน (Caribbean Development Bank - CDB) Organization of Eastern Caribbean States (OECS), ITU, OAS, G77, UN , WTO เป็นต้น

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาแบบอังกฤษ

ประมุขของรัฐ สมเด็จพระราชชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ คนปัจจุบันได้แก่ นาย Dame Louise Lacke-Tack ซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 17 กรกฎาคม 2550

ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล คนปัจจุบันได้แก่ นาย Baldwin Spencer ซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 24 มีนาคม 2547 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 เมื่อปี 2552

ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นระบบสภาคู่ ประกอบด้วยวุฒิสภา ซึ่งมีสมาชิก 17 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยผู้สำเร็จราชการและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 17 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทางตรง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ทั้งนี้ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปจะจัดขึ้นภายใน ปี 2557

ฝ่ายตุลาการ ใช้ระบบศาลฎีกาแคริบเบียนตะวันออก (Eastern Caribbean Supreme Court) โดยมีผู้พิพากษา 1 คนที่พำนักอยู่ในแอนติกาและบาร์บูดา


สถานการณ์สำคัญทางการเมือง

หลังจากที่แอนติกาและบาร์บูดาอยู่ภายใต้การปกครองของพรรค Antigua Labour Party (ALP) และตระกูล Bird ซึ่งถูกกล่าวหาเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวง และการขาดความโปร่งใสในการบริหารประเทศมาเป็นเวลานาน เมื่อพรรค United Progressive Party (UPP) ของนาย Baldwin Spencer ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2547 รวมทั้งสมัยต่อมาเมื่อปี 2552 จึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาระบบธรรมาภิบาลของรัฐ โดยการส่งเสริมการออกกฎหมายประกันเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสารภายในประเทศ และกฎหมายป้องกันการฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี รัฐบาลพรรค ALP ซึ่งครองอำนาจมาเป็นเวลาหลายสิบปีได้สร้างปัญหาด้านโครงสร้างนานับประการให้รัฐบาลนาย Spencer ต้องแก้ไข อาทิ ปัญหาของระบบราชการ การขาดดุลงบประมาณ หนี้สาธารณะที่สะสมมาเป็นเวลาหลายปี เป็นต้น


นโยบายต่างประเทศ

แอนติกาและบาร์บูดามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะด้านการทหาร โดยเป็นที่ตั้งของฐานทัพอเมริกัน รวมถึงการให้เช่าสถานีดาวเทียมติดตามแก่สหรัฐอเมริกาด้วย นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังมีความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติดระหว่างกัน เนื่องจากแอนติกาและบาร์บูดามักถูกใช้เป็นเส้นทางในการลำเลียงยาเสพติดเข้าสู่หมู่เกาะเวอร์จินและเปอร์โตริโก ซึ่งเป็นดินแดนของสหรัฐอเมริกา

ส่วนทางด้านเศรษฐกิจนั้น แอนติกาและบาร์บูดาเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์จาก U.S. Caribbean Basin Initiative ที่ทำให้สินค้าจากแอนติกาและบาร์บูดา สามารถเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาได้โดยไม่ต้องเสียภาษี

เศรษฐกิจการค้า

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ -8.5 (2552)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 1.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2552)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 12,920 ดอลลาร์สหรัฐ (2552)

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 8.4 (2544)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 1.4 (2550)

มูลค่าการส่งออก 26.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2550)

สินค้าส่งออกที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์การขนส่ง อาหารและสัตว์มีชิวิต

มูลค่าการนำเข้า 639.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2550)

สินค้านำเข้าที่สำคัญ อาหารและสัตว์มีชีวิต ชิ้นส่วนเครื่องจักรกลและยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ น้ำมัน

ประเทศคู่ค้า สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี สหภาพยุโรป ตรินิแดดและโตเบโก แคนาดา แองกวิลลา เซนต์คิตส์และเนวิส

สถานการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ

แอนติกาและบาร์บูดาเป็นประเทศที่พึ่งพาเศรษฐกิจภาคบริการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว โดยมีสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเป็นตลาดสำคัญ ดังนั้นก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2551 แอนติกาและบาร์บูดาจึงมีแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดี เพราะนอกจากการท่องเที่ยวแล้ว ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง การธนาคารและประกันภัย การสื่อสารโทรคมนาคม และการค้าปลีก แต่อัตราการเจริญเติบโตดังกล่าวก็หยุดชะงักลงตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมา

อย่างไรก็ดี ปัญหาหลักของเศรษฐกิจแอนติกาและบาร์บูดาที่สะสมมานาน คือ ปัญหาหนี้สาธารณะที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 115 ของจีดีพีของประเทศส่งผลให้รัฐบาลนาย Spencer ต้องตัดสินใจดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะดังกล่าว ตลอดปี 2553-2554 ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจของแอนติกาและบาร์บูดาที่อาจถดถอยลงไปอีก

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับแอนติกาและบาร์บูดา

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยและแอนติกาและบาร์บูดามีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิด ทั้งสองฝ่ายได้สถาปนาความสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2549 โดยรัฐบาลไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา เป็นจุดติดต่อราชการกับแอนติกาและบาร์บูดา
เมื่อปี 2548 ไทยจัดโครงการเชิญผู้แทนจากประเทศ CARICOM เยือนไทย เพื่อสร้างความคุ้นเคยและความเข้าใจระหว่างประเทศไทยกับประเทศในแคริบเบียนให้มากขึ้น รวมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของประเทศเหล่านี้ อีกทั้งเพื่อเสริมสร้างและเผยแพร่บทบาทของไทยในฐานะประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหม่ ซึ่งแอนติกาและบาร์บูดาเป็นหนึ่งในสมาชิก CARICOM ที่ได้ให้ความสนใจส่งผู้แทนเข้าร่วมโครงการดังกล่าวในประเทศไทย

2. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

เมื่อปี 2553 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศคิดเป็น 1.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 1.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 0.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับแอนติกาและบาร์บูดามูลค่า 0.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์พลาสติก

สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ อัญมณี ด้ายและเส้นใย สินค้าทุน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ


3. ความร่วมมือทางด้านวิชาการ

ในระดับทวิภาคี ไทยและแอนติกาและบาร์บูดาอยู่ระหว่างพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน ขณะนี้ แอนติกาและบาร์บูดากำลังพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลแอนติกาและบาร์บูดา ที่จะเป็นกรอบความร่วมมือเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ในระดับพหุภาคีนั้น ไทยดำเนินโครงการความร่วมมือกับแอนติกาและบาร์บูดาโดยการให้ทุนฝึกอบรมและทุนศึกษาผ่านกรอบองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States-OAS) และประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-CARICOM)

4. ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว

เมื่อปี 2553 มีนักท่องเที่ยวชาวแอนติกาและบาร์บูดาเดินทางมาประเทศไทย จำนวน 11 คน

5. ความสัมพันธ์ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

ไทยและแอนติกาและบาร์บูดามีความสัมพันธ์ที่ดีในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเสียงสนับสนุนระหว่างกันในการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งต่างๆ ในองค์การระหว่างประเทศที่ไทยและแอนติกาและบาร์บูดาเป็นสมาชิก อาทิ สมาชิกคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระ ค.ศ. 2011-2013 ซึ่งแอนติกาและบาร์บูดาให้เสียงสนับสนุนฝ่ายเดียวแก่ไทยในการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งดังกล่าว และไทยได้รับเลือกตั้งในตำแหน่งนี้


ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2554

กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0 26435000 ต่อ 13042, 13044, 13079, 13010 Fax. 0-2643-5127 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ