สาธารณรัฐโปรตุเกส

สาธารณรัฐโปรตุเกส

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 มี.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 48,422 view


สาธารณรัฐโปรตุเกส
The Portuguese Republic

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง

ตั้งอยู่บนคาบสมุทรไอบีเรียทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ทิศตะวันตกและทิศใต้จรดมหาสมุทรแอตแลนติก ทิศเหนือและทิศตะวันออกติดสเปน ดินแดนของโปรตุเกสยังรวมถึงหมู่เกาะ 2 แห่งในมหาสมุทรแอตแลนติก ได้แก่ หมู่เกาะ Azores และ Madeira

พื้นที่
92,391 ตารางกิโลเมตร

ประชากร
10.7 ล้านคน

ภาษา
โปรตุกีส (Portuguese)

ศาสนา
คริสต์ นิกายโรมันคาธอลิก (ร้อยละ 84.5) โปรแตสแตนท์ (ร้อยละ 2.2) ไม่มีศาสนา (ร้อยละ 3.9) และศาสนาอื่นๆ (ร้อยละ 9.4)

เมืองหลวง
กรุงลิสบอน (Lisbon)

สกุลเงิน
ยูโร (Euro)

วันชาติ
10 มิถุนายน

 

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง สาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบรัฐสภา(Parliamentary Republic) รัฐสภาเป็นแบบสภาเดียวชื่อ The Assembly of the Republic หรือ Assembleia da Republica มีสมาชิก 230 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละไม่เกิน 4 ปี เป็นการเลือกตั้งระบบพรรค ให้มีการเลือกตั้งนอกประเทศและการออกเสียงทางไปรษณีย์

อำนาจตุลาการ ศาลมีอิสระในการพิพากษา และ ศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุดของประเทศ

อำนาจบริหาร

- ประธานาธิบดี เป็นประมุขของประเทศ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน มีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี/ยุบรัฐบาล หากเห็นว่ากระทำผิดรัฐธรรมนูญ กฎหมายทุกฉบับต้องได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี ซึ่งมีสิทธิยับยั้งร่างกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Anibal Cavaco Silva (พรรค Social Democratic Party - PSD) รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549

- นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาล มาจากผู้นำพรรคที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ตามประเพณีปฏิบัติจะไม่ดำรงตำแหน่งเกินสองสมัยติดต่อกัน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นาย เปโดร ปาโซส โกเอโล (Pedro Passos Coelho) (พรรค Social Democratic Party - PSD) รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2554

- คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี 1 คนและ รัฐมนตรี 16 คน รวม 17 คน

- รัฐมนตรีต่างประเทศ คือ ดร. ริว มาเชต (Rui Machete) รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2556

 

ประวัติศาสตร์

         โปรตุเกสเป็นประเทศที่เก่าแก่มากชาติหนึ่งในยุโรป เดิมดินแดนส่วนนี้มีชื่อว่า Lusitania ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของคาบสมุทรไอบีเรีย โดยมีชนชาติต่างๆ อาทิ ไอบีเรีย โรมัน กรีซ มุสลิม และยิว ผลัดเปลี่ยนเข้ามาตั้งรกรากในดินแดนส่วนนี้มาช้านาน ก่อนที่โปรตุเกสจะประกาศเป็นประเทศเอกราชในปี 1671 (ค.ศ. 1128) ภายใต้การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมี Afonso Henriques เป็นกษัตริย์องค์แรกของโปรตุเกส ในช่วงทศวรรษที่ 15 นับเป็นช่วงปีทองของโปรตุเกส ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากทั้งทางด้านการทหาร การค้าขาย การเดินเรือ และการขยายอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินเรือ โปรตุเกสประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากความได้เปรียบทางด้านที่ตั้ง ภูมิศาสตร์ และเทคโนโลยี ความก้าวหน้าและความชำนาญในการเดินเรือ ทำให้โปรตุเกสค้นพบเส้นทางเดินเรือใหม่ๆ ผู้มีชื่อเสียงทางด้านการเดินเรือและเป็นที่รู้จักอย่างดี คือ เจ้าชาย Henry the Navigator ผู้ค้นพบทวีปแอฟริกา และนาย Vasco da Gama ซึ่งเป็นผู้ค้นพบเส้นทางเดินเรือไปยังประเทศอินเดีย จากความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการเดินเรือ จึงส่งผลให้โปรตุเกสเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ชาติหนึ่งและมีอาณานิคมมากมายในแอฟริกา ได้แก่ แองโกล่า โมซัมบิก กีนีบิสเซา เซาโตเม ปรินซิเป และเคปเวิร์ด ในละตินอเมริกา ได้แก่ บราซิล และในเอเชีย (โปรตุเกสเป็นยุโรปชาติแรกที่เข้ามาบุกเบิกเอเชีย) ประกอบด้วย เมืองกัวในอินเดีย ลังกา มะละกา มาเก๊า และหลายเมืองในอินโดนีเซีย

         ในช่วงทศวรรษที่ 16 การปกครองของโปรตุเกสภายใต้ระบอบกษัตริย์เริ่มอ่อนแอลง ส่งผลให้สเปนซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามารุกรานและผนวกโปรตุเกสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสเปนในปี 2123 (ค.ศ. 1580) ต่อมาในปี 2183 (ค.ศ. 1640) กลุ่มขุนนางโปรตุเกสได้รวมตัวกันกู้เอกราชกลับคืนมาจากสเปน โดยมีฝรั่งเศสให้การสนับสนุนและสถาปนาการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชขึ้นมาอีกครั้ง ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ Joao IV ของราชวงศ์ Braganza จนปี 2453 (ค.ศ. 1910) จึงได้มีการปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์และจัดตั้งการปกครองแบบสาธารณรัฐ การเมืองโปรตุเกสได้ดำเนินอย่างไร้เสถียรภาพนับตั้งแต่นั้นมา เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งจากฝ่ายทหารและพลเรือนมาโดยตลอด โดยรัฐบาลแต่ละชุดมักอยู่ในอำนาจได้ไม่นาน จนในปี 2469 (ค.ศ. 1926) Dr. Antonio de Oliveira Salazar เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้จัดตั้งการปกครองแบบเผด็จการฝ่ายขวาที่มีระบบรัฐสภาแต่สมาชิกล้วนเป็นฝ่ายรัฐบาล โดยได้รับอิทธิพลจากระบอบฟาสซิสต์ของอิตาลี ทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ

         ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โปรตุเกสเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี 2498 (ค.ศ. 1955) โดยที่โปรตุเกสมีนโยบายไม่ยอมปลดปล่อยอาณานิคมที่มีอยู่จำนวนมาก ทุกทวีปอาณานิคมของโปรตุเกสจึงเริ่มทำสงครามกู้ชาติเพื่อปลดปล่อยตนเองตั้งแต่ปี 2504 (ค.ศ. 1961) เป็นต้นมา รัฐบาลโปรตุเกสได้ทุ่มเททรัพยากรในการทำสงครามกับดินแดนอาณานิคมเหล่านั้นเป็นเวลายาวนาน เศรษฐกิจของโปรตุเกสจึงเสื่อมโทรมลงจนมีฐานะเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติล้มล้างระบบเผด็จการในโปรตุเกสเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2517 (ค.ศ. 1974) ส่งผลให้การเมืองภายในระส่ำระสาย อาณานิคมในแอฟริกาจึงถือโอกาสเรียกร้องและได้รับเอกราชไปในที่สุด ยกเว้นติมอร์ตะวันออกที่อินโดนีเซียเข้าไปยึดครองตั้งแต่เดือนธันวาคม 2518 (ค.ศ. 1975)

         ในปี 2519 (ค.ศ. 1976) รัฐบาลโปรตุเกสได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีแนวทางประชาธิปไตยมากขึ้น และได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเป็นครั้งแรก ซึ่งปรากฏว่า พรรคสังคมนิยม (PS) ได้ที่นั่งในสภามากที่สุดและได้จัดตั้งรัฐบาลแบบเสียงข้างน้อย โปรตุเกสมีรัฐบาลพรรคสังคมนิยมมาจนถึงปี 2528 (ค.ศ. 1985) ซึ่งพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (PSD) ได้รับเลือกเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลเป็นครั้งแรกและคงอำนาจการปกครองยาวนานนับ 10 ปีที่ผ่านมา ระบบการเมืองโปรตุเกสขาดเสถียรภาพจากปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลโปรตุเกสชุดหลังๆ จึงเล็งเห็นประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรป (EEC) ว่า จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ จึงพยายามอย่างจริงจังเพื่อให้สามารถเข้าร่วม EEC ที่สมัครไว้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2520 (ค.ศ. 1977) โดยดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเป็นเวลา 18 เดือน ควบคุมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ส่งเสริมการลงทุนโดยกระตุ้นให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น และควบคุมเงินเฟ้อ จนสามารถปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอและเข้าร่วม EEC ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2529 (ค.ศ. 1986)

         การที่โปรตุเกสเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้สำเร็จ แต่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจด้อยกว่าประเทศสมาชิกอื่นๆ เมื่อเทียบกับในอดีตที่โปรตุเกสเคยเป็นประเทศมหาอำนาจทางทะเลและมีอาณานิคมอยู่มากมาย เหตุดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้โปรตุเกสริเริ่มที่จะก่อตั้งประชาคมประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกส (Community of Portuguese Speaking Countries-CPLP) ขึ้นในปี 2537 (ค.ศ. 1994) ซึ่งประเทศใน CPLP ประกอบด้วยประเทศอดีตอาณานิคมของโปรตุเกสในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ (โปรตุเกส บราชิล อังโกลา โมชัมบิก กินี-บิสเชา เคปเวิร์ด เชาโตเม และปรินชิเป) และติมอร์ตะวันออก โดยโปรตุเกสได้ใช้ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านภาษา เป็นจุดเชื่อมโยงในการขยายช่องทางการค้าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นฐานเสียงในการสนับสนุนด้านการเมืองซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ

           

สภาพเศรษฐกิจและการค้า

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 212.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2555)

รายได้เฉลี่ยต่อหัว 20,178 ดอลลาร์สหรัฐ (2555)

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ -3.0 (2555)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 2.9 (2555)

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 15.6 (2555)

ทรัพยากรสำคัญ  ทรัพยากรน้ำ ทองแดง สังกะสี ทอง และเงิน

อุตสาหกรรมหลัก  สิ่งทอและเสื้อผ้า รองเท้า ไม้ก็อก กระดาษ เคมีภัณฑ์ กลั่นน้ำมัน ไวน์และเหล้า การท่องเที่ยว

สินค้าส่งออกที่สำคัญ   ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อาหาร น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ พลาสติกและยาง เครื่องหนัง ไม้ก็อก กระดาษ

ตลาดส่งออกที่สำคัญ   สเปน เยอรมนี ฝรั่งเศส อังโกลา สหราชอาณาจักร

สินค้านำเข้าที่สำคัญ     ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องหนัง แร่ธาตุ

ตลาดนำเข้าที่สำคัญ     สเปน เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์

วิกฤตทางเศรษฐกิจ      ปัจจุบันโปรตุเกสกำลังประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2553 และเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตเศรษฐกิจโลกซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2550 ส่งผลให้โปรตุเกสจำเป็นต้องเริ่มขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากกลุ่มเจ้าหนี้ 3 ฝ่าย (IMF สหภาพยุโรป และธนาคารกลางยุโรป) หรือ Troika มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554 โดยได้รับไปแล้ว 10 งวด คิดเป็นเงินจำนวน 71,400 ล้านยูโร จากทั้งสิ้น 78,000 ล้านยูโร ล่าสุด Troika ได้ประเมินว่า โปรตุเกสมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับตัวเลขประมาณการ อัตราการว่างงานลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ การส่งออกและนำเข้ามีแนวโน้มที่ดี การบริโภคภายในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น การปรับโครงสร้างภาคการคลังเป็นที่น่าพอใจและบรรลุตามเป้าหมาย จึงคาดว่าโปรตุเกสน่าจะสามารถสิ้นสุดการขอรับความช่วยเหลือฯ ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2557

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกส

1.1 ความสัมพันธ์ทั่วไป

            โปรตุเกสเป็นประเทศยุโรปที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยยาวนานที่สุด (502 ปี / ปี 2556) โดยเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เริ่มเข้ามาติดต่อกับไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี 2054 ในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2

            ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยและโปรตุเกสได้มีการลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรี การพาณิชย์ และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2402 และนับตั้งแต่ปี 2425 ไทยได้แต่งตั้งอัครราชทูตประจำประเทศในยุโรปให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำกรุงลิสบอนด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยแต่งตั้งหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย อัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำกรุงลิสบอนเป็นคนแรก ทั้งสองฝ่ายได้ยกฐานะความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูต เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2507 จนกระทั่งในปี 2524

            ไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตขึ้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงลิสบอน ปัจจุบัน มีนายชาคร สุชีวะ เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน และไทยมีกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำเมืองปอร์โต คือ นายรุย นูนู มาร์กีซ รีเบยรู (Rui Nuno Marques Ribeiro) (รับหน้าที่เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2546)

สำหรับฝ่ายโปรตุเกส ได้แต่งตั้งให้นายลุยส์ มานูเอล บาเครา เดอ โซซา (Luis Manuel Barreira de Sousa) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปรตุเกสประจำประเทศไทย (เข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556)

            การเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับโปรตุเกสถือเป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายทอดศิลปะวิทยาการด้านต่าง ๆ จากชาติตะวันตก อาทิ การเผยแพร่ศาสนา การพัฒนากองทัพ การเรียนหนังสือในโรงเรียน และวัฒนธรรมด้านอาหาร ในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชได้พระราชทานที่ดินแก่ชาวโปรตุเกสที่อาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา หรือ “หมู่บ้านโปรตุเกส” ต่อมาเมื่อปี 2426 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชทานที่ดินฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้แก่ชาวโปรตุเกส เพื่อเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลโปรตุเกส ซึ่งถือว่าเป็นสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและเป็นสถานเอกอัครราชทูตที่เก่าแก่ที่สุดของโปรตุเกสในโลก

            ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 500 ปี เมื่อปี 2554 รัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้จัดกิจกรรมฉลองเพื่อกระตุ้นให้สาธารณชนของประเทศทั้งสองได้ตระหนักถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และความร่วมมือด้านต่าง ๆ ระหว่างไทยกับโปรตุเกส อาทิ 1) การมอบศาลาไทยให้แก่เทศบาลกรุงลิสบอนเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่ระลึก ที่เบเล็ง พาร์ค (Belem Park)  2) จัดทำหนังสือประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ 500 ปี ไทย-โปรตุเกส ฉบับภาษาไทยชื่อ “500 ปีสายสัมพันธ์สองแผ่นดินไทย-โปรตุเกส” และฉบับภาษาอังกฤษชื่อ “500 Years of Thai-Portuguese Relations :  A Festschrift”  3) การจัดการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรระหว่างทีมเยาวชนไทย-โปรตุเกส ที่สนามกีฬาศุภชลาศัย 4) การจัดทำตราไปรษณียากรฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตโดยบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมกับการไปรษณีย์โปรตุเกส  5) ฝ่ายโปรตุเกสได้นำ “Sagres”  เรือใบเสาสูงของกองทัพเรือโปรตุเกส ซึ่งเป็นเรือฝึกภาคทะเลของนักเรียนนายเรือโปรตุเกส เข้ามาจอดที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 9-14 ตุลาคม 2553 ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและประชาชน ไปเยี่ยมชมเรือดังกล่าวถึง 2 หมื่นคน
 
            นอกจากนี้ สถาบัน  Academy of Sciences of Lisbon ได้เสนอพระนามสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นสมาชิกสมทบชาวต่างชาติสาขาอักษรศาสตร์เพื่อเทิดพระเกียรติพระปรีชาสามารถทางอักษรศาสตร์ ตลอดจนพระราชกรณียกิจที่ทรงมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับโปรตุเกสด้วย

1.2 การเมือง

        ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับโปรตุเกสดำเนินมาด้วยความราบรื่นและไม่มีปัญหาต่อกัน ความร่วมมือระหว่างไทยกับโปรตุเกสยังรวมไปถึงความร่วมมือในกรอบพหุภาคีต่าง ๆ เช่น  การประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting (ASEM)) และความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน กับสหภาพยุโรปด้วย อย่างไรก็ตาม ความใกล้ชิดระหว่างชาวไทยกับชาวโปรตุเกสยังมีน้อย การแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับทวิภาคีไทย-โปรตุเกสระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล รวมทั้งในระดับรัฐสภา และภาคเอกชนของทั้งสองประเทศมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการแลกเปลี่ยนการเยือนของฝ่ายนิติบัญญัติ อาทิ กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-โปรตุเกส และ โปรตุเกส-ไทย และการศึกษาดูงานของหน่วยราชการไทย

1.3 เศรษฐกิจ

        1.3.1 การค้า

        ปัจจุบันโปรตุเกสเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 ของไทยจากกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) โดยในปี 2555 มีมูลค่าการค้ารวม 183 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 114 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยได้เปรียบดุลการค้า 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โอกาสในการส่งเสริมการค้าระหว่างกันมีอยู่มาก โดยสินค้าของไทยที่มีศักยภาพในตลาดโปรตุเกสได้แก่ ผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้กระป๋อง ข้าว อาหารทะเลกระป๋อง อาหาร และสปาไทย  อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญและสนองตอบต่อตลาดโปรตุเกสมากนัก เนื่องจากเห็นว่าไม่คุ้มทุนและไม่มีสายการบินตรงระหว่างกัน

        1.3.2 การลงทุน

        ปัจจุบันจึงมีเพียงบริษัทเดียวคือ บริษัทไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) ซึ่งเข้าไปลงทุนผลิตปลากระป๋อง (ปลาซาร์ดีนและปลาแม็คเคอเรล) ภายใต้เครื่องหมายการค้า “MW Brands” ตั้งแต่ปี 2553 โดยเป็นการผลิตส่งออกอย่างเดียวไปยังประเทศในยุโรป มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 5 ล้านยูโร โดยตั้งอยู่ที่เมือง Peniche

        อย่างไรก็ดี นักธุรกิจไทยเริ่มให้ความสนใจในการสำรวจลู่ทางการลงทุนในโปรตุเกสบ้างแล้ว โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการท่องเที่ยว เช่น กิจการโรงแรม ร้านอาหารไทย และกิจการนวด เป็นต้น

1.4 สังคม การศึกษาและวัฒนธรรม

        ไทยกับโปรตุเกสได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม เมื่อปี 2528 และ ได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมฯ ภายใต้ความตกลงดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2530 ซึ่งมีการประชุมมาแล้วสองครั้ง ครั้งสุดท้ายจัดขึ้นที่โปรตุเกสเมื่อปี 2544                              

         ความร่วมมือระหว่างสถาบันทางวัฒนธรรมของไทยกับโปรตุเกส ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันของโปรตุเกส 3  สถาบัน  ได้แก่
         1) มูลนิธิกุลเบงเกียน  (Calouste Gulbenkian Foundation) ได้ให้ทุนการศึกษาแก่ฝ่ายไทย โดยเน้นการศึกษาทางมรดกวัฒนธรรม และมีความร่วมมือกับกรมศิลปากร ในการบูรณะหมู่บ้านโปรตุเกสที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา                                                                                                                
         2) มูลนิธิตะวันออก (Orient Foundation) ให้ทุนการศึกษาแก่ฝ่ายไทย ปีละ 2 ทุน โดยเน้นทางด้านภาษาและศิลปะโปรตุเกส และสนับสนุนการบูรณะกำแพงเมืองอยุธยาที่สร้างโดยทหารช่างโปรตุเกส                                                                                                                                                    
         3) สถาบันคามอย (Instituto Camöes) ซึ่งดำเนินการภายใต้กระทรวงการต่างประเทศโปรตุเกสได้ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ฝ่ายไทย โดยเน้นการศึกษาต่อด้านวัฒนธรรม และมีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิชาการระหว่างไทยกับโปรตุเกสภายใต้ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศด้วย

1.5 การท่องเที่ยว

       ไทยและโปรตุเกสได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2532 ตลาดนักท่องเที่ยวโปรตุเกสมีการขยายตัวพอสมควร แต่เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดยุโรปอื่น ๆ ตลาดนักท่องเที่ยวโปรตุเกสยังมีขนาดเล็ก นักท่องเที่ยวชาวโปรตุเกสที่เดินทางมาเยือนไทยในปี 2555 มีจำนวน 32,010 คน

1.6 คนไทยในโปรตุเกส

        มีคนไทยในโปรตุเกสจำนวน 200 คน ส่วนใหญ่เป็นสตรีที่สมรสกับชาวโปรตุเกส หรือสมรสกับชาวยุโรปหรืออเมริกันและติดตามสามีไปทำงานที่โปรตุเกส


2. ความตกลงกับไทย

    2.1 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม (2528)                                                     

    2.2 สนธิสัญญาแลกเปลี่ยนนักโทษ (2532)                                                            

    2.3 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (2532)                                                        

    2.4 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการบิน (2532)                                                      

    2.5 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2545)

 

3. การเยือนที่สำคัญ

    3.1 ฝ่ายไทย

    พระราชวงศ์ (ระหว่างปี 2503-2549)

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

    - วันที่ 22 - 25 สิงหาคม 2503 เสด็จฯ เยือนโปรตุเกส

    สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

    - วันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2524  เสด็จฯ เยือนโปรตุเกส 

    - วันที่ 11-12 มิถุนายน 2553  ทรงทำการบินและเสด็จฯ เยือนโปรตุเกส

    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

    - วันที่ 1-8 เมษายน 2543 เสด็จฯ เยือนโปรตุเกส

    - วันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2555 เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดและมอบศาลาไทย ณ กรุงลิสบอน และร่วมงานฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและโปรตุเกสครบรอบ 500 ปี

    สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

    - วันที่ 19-22 กรกฎาคม 2551 เสด็จเข้าร่วมการประชุม The Sixth European Conference on  Marine Natural Products  ณ เมืองปอร์โต ประเทศโปรตุเกส

    นายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

    - วันที่ 20-24 กุมภาพันธ์ 2555 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปร่วมพิธีเปิดและส่งมอบศาลาไทย ณ กรุงลิสบอน และร่วมงานฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับโปรตุเกส ครบรอบ 500 ปี

    3.2 ฝ่ายโปรตุเกส

           รัฐบาล

           ประธานาธิบดี

           - วันที่ 20 - 21 ธันวาคม 2542 ดร. จอร์จี เฟร์นันดู บรังกู เดอ ซัมปายอู (Jorge Fernando Branco de Sampaio) ประธานาธิบดีโปรตุเกสและนางมาเรียร์ จูแซ ริตตา (Maria Jose Ritta) ภริยา เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล

           - วันที่ 17 - 19 พฤษภาคม 2545 ดร. จอร์จี เฟร์นันดู บรังกู เดอ ซัมปายอู ประธานาธิบดีโปรตุเกส และนางมาเรียร์ จูแซ ริตตา ภริยา แวะผ่านไทยเพื่อไปร่วมงานฉลองเอกราชของติมอร์-เลสเต โดยในวันที่ 18 พฤษภาคม 2545 ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน และหลังจากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ

           นายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

           - วันที่ 20 - 21  เมษายน 2530 นายอานิบัล  กาวากู  ซิลวา (Anibal Cavaco Silva) นายกรัฐมนตรีโปรตุเกส และนายปีเรส ดือ มิรานด้า (Pires de Miranda) รัฐมนตรีต่างประเทศโปรตุเกส เยือนไทย

           - วันที่ 1 - 2 มีนาคม  2539 นายอันโตนิโอ มานูเอล เดอ โอลิเวียร่า กูเตร์เรส (Antonio Manuel de Oliveira Guterres) นายกรัฐมนตรีโปรตุเกส และนายไฆเม่ กามา (Jaime Gama) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโปรตุเกส เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ครั้งที่ 1

 

หน่วยงานของไทยในโปรตุเกส

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน (โปรตุเกส)
Royal Thai Embassy, Lisbon
ที่ตั้ง: Rus de Alcolena , 12 , Restelo, Lisbon, Portugal.  
Tel. (351) 2130-14848, 2130-15051, 2130-15151

 

 

3 ม.ค. 2557

กองยุโรป 2 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5133 Fax. 0 2643 5132 E-mail : [email protected]

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ