สาธารณรัฐซูรินาเม

สาธารณรัฐซูรินาเม

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ก.พ. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 14,530 view


สาธารณรัฐซูรินาเม
Republic of Suriname

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ติดชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ทิศเหนือติดมหาสมุทรแอตแลนติก ทิศตะวันออกติด French Guiana ทิศใต้ติดบราซิล ทิศตะวันตกติดกายอานา

ขนาดพื้นที่163,820 ตารางกิโลเมตร (เป็นประเทศเอกราชที่มีขนาดเล็กที่สุดในทวีปอเมริกาใต้)

ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้นสลับป่าทุ่งหญ้าและเนินเขา แถบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือเป็นที่ราบลุ่มและหนองน้ำ

ภูมิอากาศ อบอุ่นชื้นและฝนตกชุก

ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ แร่บอกไซด์ ทองคำ และแร่เคโอลิน

ประชากร (2553) 481,267 คน

เมืองหลวง กรุงปารามาริโบ

ภาษา ภาษาดัตช์ (ภาษาทางการ) และภาษาอังกฤษ (ใช้แพร่หลายในกรุงปารามาริโบ)

ศาสนาฮินดู ร้อยละ 27.4 คริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ ร้อยละ 25.2คริสต์นิกายโรมันแคทอลิค ร้อยละ 22.8 มุสลิม ร้อยละ 19.6 และความเชื่อท้องถิ่นร้อยละ 5

เชื้อชาติ ประชากรมีเชื้อสายฮินดูร้อยละ 37 เชื้อสาย Creole (ยุโรป-แอฟริกัน) ร้อยละ 31 อินโดนีเซีย ร้อยละ15 ส่วนที่เหลือเป็นเชื้อสายประกอบด้วย จีน ชาวอินเดียนพื้นเมือง และยุโรป

หน่วยเงินตรา ดอลลาร์ซูรินาเม (เปลี่ยนจาก Surinamese Guilder เมื่อปี 2547) 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 2.75 ดอลลาร์ซูรินาเม

วันได้รับเอกราช 25 พฤศจิกายน 2518

วันชาติ 25 พฤศจิกายน 2518

เวลาต่างจากไทย ช้ากว่าเวลาประเทศไทย 10 ชั่วโมง

รูปแบบการปกครองสาธารณรัฐประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด

ประมุขของประเทศและหัวหน้ารัฐบาล ประธานาธิบดี Desire Delano Bouterse (รับตำแหน่งตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2553)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ Winston Lackin
การแบ่งเขตการปกครอง แบ่งการปกครองออกเป็น 10 เขต


ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีเป็นประมุขฝ่ายบริหาร โดยต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาแห่งชาติสองในสาม และอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุด 19 กรกฎาคม 2553 การเลือกตั้งครั้งต่อไป ปี 2558

ฝ่ายนิติบัญญัติ มีสภาเดียวคือสภาแห่งชาติ (National Assembly) มีสมาชิก 51 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุด 25 พฤษภาคม 2553 การเลือกตั้งครั้งหน้า พฤษภาคม 2558

ระบบกฎหมาย ใช้ระบบกฎหมายดัชต์โดยรับระบบการลงโทษแบบฝรั่งเศสมาใช้ด้วย

ฝ่ายตุลาการ มีศาลเขต (Cantonal Court) และศาลสูงสุด (Court of Justice เทียบเท่า Supreme Court) ที่ทำหน้าที่ศาลอุทธรณ์ เป็นสมาชิก Caribbean Court of Justice (CCJ)

การเมืองการปกครอง

ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
ดินแดนแถบนี้ถูกค้นพบโดยชาวสเปนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 หลังจากนั้น ชาวอังกฤษได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 และเนเธอร์แลนด์เข้าครอบครองแทนในปี 2210 ซูรินาเมได้รับเอกราชในเดือนพฤศจิกายน 2518 ภายหลังได้รับเอกราช ซูรินาเมปกครองในระบอบรัฐสภาอยู่จนถึงปี 2523 คณะทหารได้ทำการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลพลเรือน และประกาศเป็นประเทศสังคมนิยมสาธารณรัฐ จนกระทั่งปี 2530 ซูรินาเมได้รับแรงกดดันจากภายนอกให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปตามระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามในปี 2533 ฝ่ายทหารได้ยึดอำนาจจากผู้นำพลเรือนอีกครั้ง จนถึงปี 2534 รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยได้กลับเข้ามาปกครอง และการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยชัดเจนขึ้นอีกครั้ง

การปกครอง
การเลือกตั้งประธานธิบดีครั้งล่าสุดของซูรินาเมจัดขึ้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2553 โดยพรรคร่วมนำโดยนาย Desire Delano Bouterse จากพรรค National Democratic Party (NDP) ได้รับชัยชนะ และนาย Bouterse เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อ 12 สิงหาคม 2553 ประธานาธิบดี Bouterse เป็นอดีตทหารและมีส่วนร่วมในการเมืองซูรินาเมมากว่า 30 ปี โดยประธานาธิบดี Bouterse ขึ้นสู่อำนาจครั้งแรกเมื่อปี 2523 จากการทำรัฐประหาร และคืนอำนาจให้แก่ฝ่ายพลเรือนในปี 2530 แต่แล้วในปี 2533 ก็ทำการรัฐประหารอีกครั้ง ในปี 2546 ศาลเนเธอร์แลนด์ได้พิพากษาในการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยว่าประธานาธิบดี Bouterse มีความผิดฐานลักลอบค้ายาเสพติด ต้องโทษจำคุก 11 ปี แต่ไม่สามารถเอาตัวมาลงโทษได้เนื่องจากเนเธอร์แลนด์และซูรินาเมไม่มีความร่วมมือทางกฎหมายเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน

เศรษฐกิจการค้า

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (2553)ร้อยละ 4.4

อัตราเงินเฟ้อ (2553) ร้อยละ 6.9

ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP 2550)3.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Per Capita GDP (2553) 8,924 ดอลลาร์สหรัฐ

เกษตรกรรม ข้าว กล้วย ไม้ซุง ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว สัตว์ทะเล (กุ้ง ปลา)

อุตสาหกรรม กุ้งและปลาแปรรูป ไม้แปรรูป การทำเหมืองทอง น้ำมันดิบ และ Alumina จากแร่บอกไซด์


การส่งออก (2553) มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้า Alumina ทองคำ น้ำมันดิบ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ข้าว กล้วย สัตว์น้ำประเภทปลาและกุ้ง

ประเทศคู่ค้า (2553) แคนาดา สหภาพยุโรป นอร์เวย์ สหรัฐอเมริก

การนำเข้า (2553)1.398 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้า แร่น้ำมันและสารหล่อลื่น อาหารและสัตว์มีชีวิต

ประเทศคู่ค้า (2553)สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ตรินิแดดและโตเบโก และจีน


นโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงที่ซูรินาเมอยู่ภายใต้การปกครองของคณะทหาร เกิดภาวะความไม่แน่นอนทางการเมือง และความวุ่นวายอันเนื่องมาจากการหยุดงานของกรรมกรอยู่เป็นประจำ รวมทั้งการระงับความช่วยเหลือทางการเงินของเนเธอร์แลนด์มีผลทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลงไปด้วย ต่อมาเมื่อซูรินาเมมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และรายได้ประชาชาติก็เพิ่มขึ้นด้วย

นโยบายต่างประเทศ

ภายหลังได้รับเอกราช ซูรินาเมได้เข้าเป็นสมาชิกองค์กรสหประชาชาติ องค์กรรัฐอเมริกัน องค์การการประชุมอิสลาม และกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซูรินาเมเป็นสมาชิกกลุ่มประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (CARICOM) นอกจากนี้ ซูรินาเมยังมีส่วนร่วมใน กติกาสัญญาอเมซอน (Amazonian Pact) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำอเมซอน (Amazon Basin) ที่เน้นเรื่องการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในบริเวณภูมิภาคอเมซอน และในปี 2551 ซูรินาเมได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ The Rome Statute of the International Criminal Court) ปัจจุบันเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ให้เงินช่วยเหลือแก่ซูรินาเมเป็นจำนวนมากที่สุด โดยในปี 2544 รัฐบาลทั้งสองได้ตกลงที่จะใช้เงินช่วยเหลือใน 6 สาขา คือ สุขภาพอนามัย การศึกษา สิ่งแวดล้อม การเกษตร การเคหะ และการปกครอง

ซูรินาเมพยายามกระชับความสัมพันธ์กับหลายประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา แต่ปัญหาเรื่องพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กายอานา และเฟรนช์กายอานายังคงมีอยู่ ส่วนในเรื่องพรมแดนกับบราซิลซึ่งเคยมีปัญหาในอดีตนั้น ได้มีการตกลงที่จะปักปันเขตแดนอย่างเป็นทางการแล้ว

นอกจากนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ซูรินาเมได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเวทีความร่วมมือเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asian – Latin America Cooperation – FEALAC) ซึ่งการเข้าร่วมกรอบความร่วมมือดังกล่าวน่าจะช่วยเพิ่มการติดต่อและกระชับความสัมพันธ์ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนของซูรินาเมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ผ่านทางโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ได้อีกด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐซูรินาเม

การทูต

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์กับซูรินาเมเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2530 เมื่อ 18 กรกฎาคม 2549 โดยรัฐบาลไทยมอบให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย เป็นจุดติดต่อประสานงาน ความสัมพันธ์ระหว่างกันค่อนข้างห่างเหิน เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2549 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการที่ซูรินาเมเสนอตั้งนายจเรรัฐ ปิงคลาศัย เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ซูรินาเมประจำประเทศไทย

ในด้านการแลกเปลี่ยนการเยือน นายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภาได้ไปเยือนซูรินาเมอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน 2548 และนาย Salam Paul Somohardjo ประธานรัฐสภาซูรินาเมได้มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน 2548

การค้าการลงทุน

ไทยกับซูรินาเมยังมีการค้าการลงทุนระหว่างกันน้อยมาก มูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับซูรินาเมคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.01 ของมูลค่าการค้ารวมของไทยกับโลก ในปี 2554 มีมูลค่าการค้ารวม 17.34 ล้าน USD เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 2.82 ไทยส่งออก 17.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 1.91 ไทยนำเข้า 0.30 ล้าน USD ไทยได้เปรียบดุลการค้า 16.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในปี 2553 สินค้าที่ไทยส่งออกไปซูรินาเม 5 รายการแรกคือ 1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2) ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา สัตว์น้ำ 3) ของปรุงแต่งทำจากพืชผัก ผลไม้ 4) ยางและของทำด้วยยาง 5) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากซูรินาเมส่วนใหญ่คือสัตว์น้ำสด แช่เย็น แปรรูปและกึ่งแปรรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์

สถิติการค้าระหว่างไทยกับซูรินาเม
โปรดดูเอกสารแนบ

กงสุลกิตติมศักดิ์ซูรินาเมประจำประเทศไทย
Mr. Jrarat Pingclasai (Honorary Consul)
59/1 Soi Sukhumvit 26,
Khlong Tan, Khlong Toei,
Bangkok 10110
โทรศัพท์ 0 2259 7981
โทรสาร 0 2259 7982
E-mail: [email protected]

********************
ปรับปรุงล่าสุด
14 กุมภาพันธ์ 2555


กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2643-5113 Fax. 0-2643-5115 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-country-239-document.pdf