องค์การรัฐอเมริกัน

องค์การรัฐอเมริกัน

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ต.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 21,645 view


องค์การรัฐอเมริกัน
The Organization of American States

ข้อมูลทั่วไป

ประวัติโดยสังเขป

องค์การรัฐอเมริกัน (OAS) ก่อตั้งขึ้นตามกฎบัตรโบโกตา ณ กรุงโบโกตา สาธารณรัฐ
โคลอมเบีย เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1948 ในระหว่างการประชุม the Ninth International American Conference จวบจนปัจจุบัน OAS นับว่าเป็นองค์การความร่วมมือทางการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในทวีปอเมริกา

ความพยายามที่จะก่อตั้งองค์การความร่วมมือของประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกานั้น
เริ่มต้นขึ้นภายหลังจากที่ประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาประกาศเอกราชจากจักรวรรดินิยมยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยในปี ค.ศ.1826 Simon Bolivar รัฐบุรุษผู้นำคนสำคัญของลาตินอเมริกาพยายามรวบรวมประเทศเอกราชใหม่ในช่วงนั้นมารวมตัวกันภายใต้การประชุม Congress of Panama แต่ความคิดริเริ่มดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากการต่อต้านและแทรกแซงจากมหาอำนาจ คือ อังกฤษและสเปน

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1890 ความพยามยามที่จะสถาปนาองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยมีการจัดการประชุม The First International Conference of American States ขึ้นที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา นำมาซึ่งการจัดตั้งองค์การความร่วมมือระดับภูมิภาคแห่งแรกในทวีปอเมริกา คือ International Union of American States โดยมี Commercial Bureau of the American Republics ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานด้านเลขานุการขององค์การดังกล่าว โดยจะทำหน้าที่เป็นเพียงองค์การความร่วมมือทางด้านการค้าเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาในปี ค.ศ. 1910 Commercial Bureau of the American States ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Pan American Union โดยมีสำนักงานอยู่ที่กรุงวอชิงตัน (ที่ตั้ง OAS ปัจจุบัน) จวบจนการประชุม The Ninth International American Conference ในปี ค.ศ. 1948 ที่ประชุมจึงได้มีการลงนามใน กฎบัตรโบโกตาดังที่กล่าวมาแล้ว ให้สถาปนาองค์การความร่วมมือทางการเมืองในทวีปอเมริกาภายใต้ชื่อ Organization of American States (OAS) ขึ้นทำหน้าที่แทน Pan American Union เดิม ซึ่งจะถูกยุบไปภายหลังการประชุมดังกล่าว

โดยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า OAS เป็นองค์การความร่วมมือที่เก่าแก่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และมีจำนวนประเทศสมาชิกมากที่สุดในทวีปอเมริกา ตลอดจนเป็นหนึ่งในต้นแบบขององค์การความร่วมมือต่าง ๆ ภายในภูมิภาคที่จะเกิดขึ้นตามมาในระยะหลังด้วย

วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์เดิม ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าองค์การรัฐอเมริกัน หรือ OAS นั้นเป็นองค์การความร่วมมือด้านการเมืองระหว่างประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกา วัตถุประสงค์หลักของ OAS จึงมุ่งเน้นเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านการเมือง ความมั่นคงในภูมิภาค การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี การส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขหลักสำหรับประเทศที่จะเข้าเป็นสมาชิก OASโดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการต่อต้านการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทวีปอเมริกา ซึ่งมีสหภาพโซเวียตและคิวบาเป็นหัวหอกสำคัญ อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิก OAS ยังมีการขยายความร่วมมือระหว่างกันในสาขาอื่น ๆ นอกเหนือจากการเมืองด้วย อาทิ การศึกษา การค้า สังคม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวัฒนธรรม เป็นต้น

วัตถุประสงค์ปัจจุบัน นับตั้งแต่ภาวะสงครามเย็นสิ้นสุดลงในต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา นำไปสู่การที่ประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาต่างพากันปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองในด้านต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง ให้สอดรับกับความตึงเครียดที่ผ่อนคลายลงและกระแสโลกาภิวัฒน์ ดังจะเห็นได้จาก มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากรัฐบาลเผด็จการทหารมาสู่มือรัฐบาลพลเรือน และการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์มาสู่ระบบตลาดเสรี ในหลาย ๆ ประเทศสมาชิก OAS อีกทั้งยังมีการรวมกลุ่มเศรษฐกิจภายในภูมิภาคเกิดขึ้นหลายกลุ่ม เช่น NAFTA, Andean Community, G3 ฯลฯ ซึ่งแม้ว่าในทางการเมือง OAS ยังได้รับการยอมรับในฐานะองค์การหลักทางด้านการเมืองของทวีปอเมริกาอยู่เช่นเดิม หากแต่จากสภาวะการเมืองและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ทำให้ OAS ต้องปรับบทบาทและวัตถุประสงค์ของตน โดยการลดความสำคัญของการต่อต้านการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ลงและหันมาให้น้ำหนักกับการสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การค้า การศึกษา สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การป้องกันและปราบปรามการลับลอบค้ายาเสพติด และการฉ้อราษฎร์บังหลว

ประเทศสมาชิก

ประเทศสมาชิก 35 ประเทศ ประกอบด้วยสมาชิกก่อตั้ง 21 ประเทศ (ค.ศ. 1948)
ได้แก่ อาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล ชิลี โคลัมเบีย คอสตาริกา คิวบา สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา เฮติ ฮอนดูรัส เม็กซิโก นิการากัว ปานามา ปารากวัย เปรู สหรัฐอเมริกา
อุรุกวัย เวเนซุเอลา และสมาชิกที่เข้าร่วมภายหลัง 14 ประเทศ ได้แก่ แอนติกัวและบาร์บูดา เซนต์วินเซนต์และ เกรนาดีน จาเมกา บาร์เบโดส เกรนาดา สุรินัม โดมินิกา เซนต์ลูเซีย บาฮามาส เซนต์คิตส์และเนวิส แคนาดา เบลิซ กายอานา ตรินิแดดและโตเบโก

หมายเหตุ: คิวบาและฮอนดูรัส ถูกระงับการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ขององค์การฯ แต่ยังมิได้ถูกขับออกจาก สมาชิกภาพ (คิวบา ปี ค.ศ.1962 – 2009 ฮอนดูรัส ปี ค.ศ. 2009 – ปัจจุบัน)

ประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวร (Permanent Observer)

OAS เปิดให้ประเทศที่สนใจสมัครเข้าเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวร โดยในปี ค.ศ. 2009 มีประเทศผู้สังเกตการณ์ 65 ประเทศ และสหภาพยุโรป ประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวร (Permanent Observer) ของ OAS มีสิทธิในการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมสมัชชาใหญ่ คณะมนตรี และคณะกรรมาธิการต่างๆ รวมทั้งอาจเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมเฉพาะของคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ด้วย หากได้รับคำเชิญจากประธานที่ประชุม นอกจากนี้ ประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวรจะได้รับเอกสาร และข่าวสารต่าง ๆ ของ OAS และได้รับเชิญให้ร่วมในการประชุมวาระพิเศษต่าง ๆ ด้วย

โครงสร้างภายใน OAS

1. สมัชชาใหญ่ (General Assembly)

เป็นองค์กรสูงสุดของ OAS มีขอบเขตหน้าที่ในการพิจารณาสถานการณ์ทั่วไปงบประมาณ โครงการต่างๆ ของหน่วยงานภายใต้ OAS และกำหนดกรอบการปฏิบัติงานให้สำนักเลขาธิการ (General Secretariat) โดยปกติสมัชชาใหญ่จะเป็นที่ประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิก มีวาระการประชุมสามัญปีละ 1 ครั้ง ซึ่งอาจจัดขึ้นที่ประเทศสมาชิกหรือที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในกรณีที่มีสถานการณ์พิเศษ คณะมนตรีถาวร (Permanent Council) สามารถเรียกประชุมสมัยวิสามัญได้มติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ใช้หลักเสียงข้างมาก โดยประเทศสมาชิกมีสิทธิออกเสียงประเทศละ 1 คะแนน

2. คณะมนตรีถาวร (Permanent Council)

ทำหน้าที่ดูแลการปฏิบัติงานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมติของสมัชชาใหญ่ หรือที่ประชุมหารือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (Meeting of Consultation of Ministers of Foreign Affairs) และดูแลการปฏิบัติการของคณะกรรมาธิการประจำต่าง ๆ คณะมนตรีประกอบด้วยผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ โดยมีการจัดประชุมเป็นประจำทุกๆ เดือน ที่สำนักงานใหญ่ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ

3. สำนักเลขาธิการใหญ่ (General Secretariat)

มีหน้าที่ดูแลการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ของคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ของ OAS ซึ่งได้รับอนุมัติจากสมัชชาใหญ่ โดยมีเลขาธิการ (Secretary General) และผู้ช่วยเลขาธิการ (Assistant Secretary General) ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากสมัชชาใหญ่ ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปีหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคนปัจจุบันคือนาย José Miguel Insulza อดีตรับมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยชิลี (ดำรงตำแหน่งเมื่อ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 2005)
นอกจากนี้ สมัชชาใหญ่ได้แต่งตั้งเลขาธิการอาวุโส (senior secretariat officials) และรองเลขาธิการทำหน้าที่ควบคุมและดูแลการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน เช่น คณะกรรมาธิการด้านการพัฒนา (Inter-American Council for Integral Development – CIDI) คณะกรรมาธิการควบคุมและปราบปรามยาเสพติด (the Inter-American Drug Abuse Control Commission – CICAD) คณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน (Inter-American Commission on Human Rights – IACHR) และหน่วยงานส่งเสริมการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย (Unit for Promotion of Democracy – UPD)

4. คณะกรรมาธิการต่างๆ

OAS มีคณะกรรมาธิการที่สำคัญๆ ได้แก่ Inter-American Council for Integral Development (CIDI), Inter-American Juridical Committee (IAJC), Inter-American Commission on Human Rights (IACHR)

- คณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนา (Inter-American Council for Integral Development : CIDI) ก่อตั้งโดยกฎบัตรมานากัว (Managua Protocol) เพื่อทำหน้าที่แทนคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม โดยทำหน้าที่ดูแลการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วิทยาศาสตร์ ทั้งในด้านแนวนโยบาย ส่งเสริมกิจกรรม และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น การสร้างงาน แลกเปลี่ยนและถ่ายโอนเทคโนโลยี การส่งเสริมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การพัฒนาแบบยั่งยืนในด้านการท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม และการแก้ปัญหา ความยากจนในหมู่ประเทศสมาชิก

- คณะกรรมาธิการตุลาการ (Inter-American Juridical Committee-IJC)
มีหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ส่งเสริมการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ และศึกษาประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการรวมกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในทวีปอเมริกา คณะกรรมาธิการฯ ประกอบด้วยตุลาการจำนวน 11 คน ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากสมัชชาใหญ่และมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี

- คณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน (Inter-American Commission on Human Rights: IACHR) เป็นองค์กรอิสระ ประกอบด้วยสมาชิกของคณะกรรมาธิการที่ได้รับเลือกตั้งอย่างอิสระและไม่ได้ถือเป็นตัวแทนรัฐบาลของประเทศสมาชิกจำนวน 7 คน คณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนมีสิทธิพิเศษที่จะสืบสวนเรื่องสิทธิมนุษยชนได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากเลขาธิการและสมัชชาใหญ่ขององค์การรัฐอเมริกัน โดยพิจารณาประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนบนพื้นฐานของ American Declaration of the Rights and Duties of Man ปี ค.ศ. 1948 และ American Convention on Human Rights ปี ค.ศ. 1969 คณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนมีหน้าที่ในการ จัดทำรายงานประจำปีเรื่องปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและสถานะด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิก

5. หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ OAS

การดำเนินโครงการต่าง ๆ ระหว่างประเทศสมาชิกยังสามารถดำเนินการภายใต้หน่วยงานอิสระอื่น ๆ ซึ่งอาจได้รับความสนับสนุนด้านงบประมาณ และเงินทุนบางส่วน หรือทั้งหมดจาก OAS โดยมีขอบข่ายความร่วมมือครอบคลุมด้านการเกษตรแรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายระหว่างประเทศ การขนส่ง โทรคมนาคม การสาธารณสุข การเดินทาง สถิติ การท่องเที่ยว ฯลฯ หน่วยงานที่สำคัญ ๆ อาทิ Inter-American Children’s Institute, Inter-American Commission on Women, Inter-American Defense Board, Inter-American Development Bank, Inter -American Institute for Cooperation in Agriculture ฯลฯ


พัฒนาการล่าสุดขององค์การรัฐอเมริกัน

การเลือกตั้งเลขาธิการองค์การรัฐอเมริกัน

นาย Jose Miguel Insulza อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของชิลี เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ OAS เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 2005 โดยมีชัยชนะเหนือนาย Luis Ernesto Derbez รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโก และนาย Francisco Flores อดีตประธานาธิบดีเอลซัลวาดอร์ ซึ่งได้ถอนตัวออกจากการเลือกตั้งแม้ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ก็ตาม นอกจากนี้ ในการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 39 ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 2010 นาย Insulza ได้รับรับการเลือกตั้งให้เป็นเลขาธิการ OAS เป็นสมัยที่สอง โดยมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 5 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2553

ทั้งนี้ นาย Insulza มีข้อเสนอที่จะปฏิรูปกฎบัตรที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยของ OAS ที่มุ่งให้อำนาจ OAS มากขึ้นในการป้องกันและสามารถดำเนินการหากมีประเทศสมาชิกฝ่าฝืน/ทำลายความเป็นประชาธิปไตย


การเมืองการปกครอง

เศรษฐกิจการค้า

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับองค์การรัฐอเมริกัน


ประเทศไทยในฐานะผู้สังเกตการณ์ถาวรองค์การรัฐอเมริกัน


ในสภาวะสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ประเทศต่างๆ หันมาให้ความสนใจขยายความสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้นโดยไม่เฉพาะแต่จะให้ความความสำคัญเฉพาะต่อประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศมหาอำนาจเท่านั้น รัฐบาลไทยเองก็ได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงได้มีนโยบายแน่ชัดที่จะขยายความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น และเห็นว่าลาตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่มีประชากรจำนวนมาก มีพลังทางเศรษฐกิจ มีพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว และเป็นแหล่งทรัพยากรของโลก ทั้งยังมีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกับไทย ประกอบกับไทยมีความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่ราบรื่นกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค จึงเห็นว่าไทยกับลาตินอเมริกาจะสามารถเพิ่มพูนความสัมพันธ์ เพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ และให้สามารถใช้ศักยภาพของกันและกันอย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น ไทยเล็งเห็นว่าองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States: OAS) เป็นองค์กรเก่าแก่และมีสมาชิกเป็นประเทศในทวีปอเมริกาถึง 35 ประเทศ ครอบคลุมประเด็นที่อยู่ในความสนใจหลากหลายทั้งทางการเมือง สังคม และมีส่วนสนับสนุนด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอเมริกาด้วย รัฐบาลไทยจึงได้อาศัยโอกาสครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาองค์การรัฐอเมริกัน สมัครเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์องค์การรัฐอเมริกันและได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ.1998 โดยได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เป็นผู้สังเกตการณ์ถาวร
ไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ของ OAS มาโดยตลอด โดยครั้งล่าสุดเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา ได้เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ OAS ครั้งที่ 40 เมื่อวันที่ 6 - 8 มิถุนายน ค.ศ. 2010 ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู โดยสรุปสาระสำคัญถ้อยแถลงต่อที่ประชุมของผู้แทนไทยในโอกาสดังกล่าว ดังนี้

1) สถานการณ์ทางการเมืองไทยได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

2) ไทยมีนโยบายเสริมสร้างความสัมพันธ์กับ OAS และประเทศสมาชิกมาโดยตลอด

3) ไทยมีความสัมพันธ์กับอเมริกาใต้มากขึ้นตามลำดับ

4) ไทยให้ทุนการศึกษาแก่ประเทศลาตินอเมริกาปีละ 10 -12 ทุนและในปีนี้จะให้ทุนอีก 4 สาขา คือ การท่องเที่ยว เศรษฐกิจรากหญ้า การขจัดความยากจน และการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

5) ในช่วงที่ผ่านมา ไทยให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรุนแรงในลาตินอเมริกา คือ แผ่นดินไหวในเปรู (2007) น้ำท่วมในโบลิเวีย (2008) แผ่นดินไหวในเฮติ (2010)

นอกจากนี้ ไทยได้ใช้ OAS เป็นช่องทางในการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือในกรอบพหุภาคีกับประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยเฉพาะความร่วมมือด้านวิชาการ โดยได้เสนอให้ทุนฝึกอบรมระยะสั้นผ่านสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005

ในส่วนความร่วมมือในปัจจุบันสำหรับปี ค.ศ. 2010 สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศได้แจ้งเวียนทุนฝึกอบรมระยะสั้น (AITC) ให้แก่ประเทศสมาชิก OAS จำนวน 3 หลักสูตร ๆละ 1 ทุน ดังนี้

- Grassroot Economic Development followed Sufficiency Economy Philosophy (August 2010)

- Enhancing Entrepreneurship in SME Development and Export Consortia (August 2010)

- Tourism in Asia: Development, Management and Sustainability (July 2010

**********

ปรับปรุงล่าสุด ตุลาคม 2553


เอกสารประกอบ

world-country-389-document.pdf