องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation - NATO)

องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation - NATO)

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 มิ.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 229,445 view

ภูมิหลัง

          เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2492 (ค.ศ. 1949) สหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ในยุโรปรวม 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอรเวย์ และโปรตุเกส ได้ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (the North Atlantic Treaty) ก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ขึ้นในช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่สอง โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2492     
         วัตถุประสงค์เริ่มแรกก่อตั้ง คือ เพื่อจัดตั้งระบบพันธมิตรทางทหารในการถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ (สหภาพโซเวียต) และให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในกรณีที่ประเทศสมาชิกถูกคุกคามจากภายนอก ตลอดจนส่งเสริมความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ


การขยายสมาชิกภาพของนาโต้

  • ระหว่างปี 2495 – 2525 นาโต้รับสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ ได้แก่ กรีซ ตุรกี เยอรมนี และสเปน       
  • เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2542 นาโต้รับสมาชิกเพิ่มอีก 3 ประเทศ คือ เช็ก ฮังการี และโปแลนด์
  • เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2547 สมาชิกนาโต้ลงนามในพิธีสารว่าด้วยการรับสมาชิกใหม่ ที่กรุงบรัสเซลส์ โดยเพิ่มประเทศในเขตยุโรปตะวันออกอีก 7 ประเทศ ได้แก่ บัลแกเรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย และโรมาเนีย ซึ่งถือเป็นการเปิดยุคใหม่ของการเป็นพันธมิตรครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติ ศาสตร์ เพราะทำให้นาโต้มีสมาชิกที่เคยเป็นอดีตคอมมิวนิสต์ถึงร้อยละ 40 และทำให้ขอบเขตของนาโต้ขยายไปจดพรมแดนของรัสเซีย
  • ปัจจุบัน นาโต้มีสมาชิก 26 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส กรีซ ตุรกี เยอรมนี สเปน เช็ก ฮังการี โปแลนด์  บัลแกเรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย และโรมาเนีย

โครงสร้าง

     1   องค์กรฝ่ายพลเรือน
         1.)  คณะมนตรีแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Council - NAC) เป็นองค์กรหลักรับผิดชอบต่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ของนาโต้ที่เกี่ยวกับการตีความสนธิสัญญาและการนำไปปฏิบัติ คณะมนตรีฯ ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิก มีการประชุมอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
        2.)  สำนักงานเลขาธิการนาโต้ตั้งอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม มีหน้าที่บริหารงานทั่วไปขององค์กร รวมถึงการวางแผนนโยบาย หัวหน้า สนง. / เลขาธิการนาโต้ คนปัจจุบัน คือ นาย Jaap de Hoop Scheffer (อดีต รมว. กต. เนเธอร์แลนด์) เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2547
    
     2   องค์กรฝ่ายทหาร
         • คณะกรรมาธิการทางทหาร (The Military Committee) มีหน้าที่ให้คำแนะนำด้านการทหารแก่คณะมนตรีและผู้บัญชาการกองกำลังผสม ประกอบด้วยเสนาธิการทหารของทุกประเทศภาคี ยกเว้นฝรั่งเศส และไอซ์แลนด์ (ซึ่งไม่มีกำลังทหาร) มีการประชุมอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยนาโต้ได้แบ่งเขตยุทธศาสตร์ตามภูมิศาสตร์เป็น 3 เขต คือ
           1.) เขตยุโรป (The European Command) อยู่ภายใต้การดูแลของผู้บัญชาการกองกำลังผสมยุโรป (Supreme Allied Commander Europe - SACEUR) โดยมีกองบัญชาการ เรียกว่า Supreme Headquaters Allied Powers Europe (SHAPE) ประกอบด้วยกองกำลังเคลื่อนที่เร็วจากประเทศสมาชิก ซึ่งพร้อมจะปฏิบัติการได้ทันที เขตการรับผิดชอบ คือ แอฟริกาเหนือ เมดิเตอร์เรเนียน ยุโรปกลาง และยุโรปเหนือ ยกเว้นโปรตุเกส และสหราชอาณาจักร SHAPE มีกองบัญชาการย่อยในยุโรปเหนือที่เมืองโคสชัส ประเทศนอรเวย์ ในยุโรปกลางที่เมืองบรุนส์ชุน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในยุโรปใต้ที่เมือง Naples ประเทศอิตาลี
           2.) เขตแอตแลนติก (The Atlantic Ocean Command) อยู่ภายใต้การดูแลของ Supreme Allied Commander Atlantic (SACLANT) เขตการรับผิดชอบตั้งแต่ขั้วโลกเหนือถึงเส้น Tropic of Cancer และจากฝั่งสหรัฐอเมริกาถึงยุโรป SACLANT มีหน้าที่หลักในการพิทักษ์เส้นทางเดินเรือในเขตแอตแลนติก ซึ่งเน้นลักษณะการปฏิบัติการกองกำลังทัพเรือแอตแลนติก (Standing Naval Force Atlantic -- STANA RR LNT) มีกองบัญชาการตั้งอยู่ที่ Norfolk สหรัฐฯ
           3.) เขตช่องแคบ (The Channel Command) อยู่ภายใต้การดูแลของ Allied Commander in Chief Channel – CINCHAN) เขตการรับผิดชอบบริเวณช่องแคบอังกฤษ และทะเลเหนือตอนใต้ ทำหน้าที่คุ้มครองป้องกันเรือพาณิชย์ในเขตประสานงานกับ SACEUR ในการป้องกันภัยทางอากาศในเขตช่องแคบ CINCHAN มีกองกำลังเรือรบอยู่ภายใต้การควบคุมเรียกว่า Standing Naval Force Channel (STANAFORCHAN) มีกองบัญชาการอยู่ที่ Nortwood สหราชอาณาจักร

นโยบายของนาโต้ยุคหลังสงครามเย็น

         หลังจากที่สงครามเย็นสิ้นสุดลง นาโต้ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างและปรับปรุงนโยบายในหลายๆ ด้านเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ดังนี้
         1.) การให้ความสำคัญแก่ปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (Peace-keeping) ได้แก่ การ   สร้างความเข้าใจในกระบวนการรักษาสันติภาพ การสร้างความร่วมมือ การวางแผน และการสร้างความสัมพันธ์กับองค์การสหประชาชาติ และองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ในกระบวนการดังกล่าว รวมทั้งการประสานงานระหว่างฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารโดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม
         2.) การหาแนวทางที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์กับรัสเซีย โดยมุ่งเน้นให้รัสเซียมีบทบาทสำคัญและสร้างสรรค์ในการสร้างเสถียรภาพในยุโรป ในกรอบกว้าง
         3.) การปรับบทบาททางการทหารให้เอื้อต่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนการ ดำเนินนโยบายทางด้านความมั่นคงที่เอื้อต่อพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ และการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม ระหว่างงบประมาณด้านการทหารและงบประมาณด้านเศรษฐกิจของประเทศ
        4.) ความร่วมมือในโครงการวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม
        5.) การเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก

บทบาทของนาโต้ในคาบสมุทรบอลข่าน

  • บอสเนีย : นาโต้มีบทบาทนำในกองกำลัง Stability Force (SFOR) ระหว่างปี 2539-2547 เพื่อรักษาสันติภาพตามข้อตกลง Dayton ต่อจากนั้น ได้ส่งมอบให้กองกำลังของสหภาพยุโรป (European Union Force – EUFOR) ซึ่งใช้ชื่อว่า Operation ALTHEA โดยยังคงได้รับการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงและการทหารจากนาโต้
  • มาซิโดเนีย : นาโต้ได้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพและความปลอดภัยในมาซิโดเนียในเดือน มี.ค. 2546 หลังจากนั้น ได้มอบให้สหภาพยุโรปมีบทบาทนำจนกระทั่งสิ้นสุดการปฏิบัติการในปลายปีเดียว กัน โดยในขณะนี้ นาโต้ยังคงให้ความช่วยเหลือด้านการปฏิรูปและพัฒนาการทหารในมาซิโดเนีย
  • เซอร์เบียและมอนเตเนโกร (โคโซโว) : กองกำลัง Kosovo Force (KFOR) นำโดยนาโต้           ได้เริ่มปฏิบัติการในโคโซโวตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2542 ภายใต้อาณัติขององค์การสหประชาชาติเพื่อรักษาสันติภาพและให้การสนับสนุน UN Mission in Kosovo (UNMIK)

ความสัมพันธ์ไทย-นาโต้

        เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2546 ในระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ประธานาธิบดีจอร์จ บุช แห่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้ไทยเป็น “ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต้” (Major Non-NATO Ally -- MNNA) การได้รับสถานะดังกล่าวไม่ได้หมายถึงการมีหลักประกันด้านความมั่นคงและการ ป้องกันประเทศร่วมกันเช่นเดียวกับที่สหรัฐฯมีกับประเทศสมาชิกนาโต้ แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสําคัญที่สหรัฐฯ ให้แก่ความสัมพันธ์ในลักษณะพันธมิตรกับประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 
         
ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต้ (Major Non-NATO Ally – MNNA)

            ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา สถานะ "ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต้" มี 2 ประเภท คือ สถานะที่ 1 เป็นการให้ตาม title 10 หมวดที่ 2350 (a) ของ U.S. code (แก้ไขโดย Nunn Amendment ปี 2530) และสถานะที่ 2 เป็นการให้ตามกฎหมายว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ ปี 2541 (ตามที่ได้มีการแก้ไขโดย title 22 หมวดที่ 2321 (k) ของ U.S. Code) หมวดที่ 571

          1.)   สถานะ MNNA ตาม title 10 หมวดที่ 2350 (a)
                 กฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในการให้สถานะ “ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต้” ด้วยความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในการ  กําหนดสถานะ "ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต้" โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศที่ได้รับสถานะ MNNA สามารถเข้าร่วมในโครงการวิจัยและการพัฒนาของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ ประเทศที่ได้รับสถานะ MNNA ประเภทนี้มี 11 ประเทศ ได้แก่ อิสราเอล อียิปต์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สาธารณรัฐเกาหลี (2530) จอร์แดน (2539) อาร์เจนติน่า (2541) นิวซีแลนด์ บาห์เรน (2545) ฟิลิปปินส์และไทย (2546)
ประเทศที่ได้รับสถานะ MNNA ประเภทนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้
        • บริษัทของประเทศที่ได้รับสถานะ MNNA สามารถเข้าร่วมการประมูลสัญญาการซ่อมบํารุง การซ่อมแซม หรือการปรับปรุงยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในบางโครงการนอกผืนแผ่นดินสหรัฐฯ
        • ประเทศที่ได้รับสถานะ MNNA จะมีสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการวิจัยและพัฒนาด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ร่วมกับสหรัฐฯ บางโครงการ
        • กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สามารถเข้าร่วมโครงการร่วมมือเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงขีดความ สามารถในการป้องกันประเทศของประเทศที่ได้รับสถานะ โดยรับผิดชอบ  ค่าใช้จ่ายร่วมกันอย่างเป็นธรรม

        2.)  สถานะ MNNA ตามหมวดที่ 517 ของกฎหมายว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ พ.ศ. 2504 ฉบับแก้ไข
             กฎหมายให้อํานาจประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการให้สถานะ MNNA แก่ประเทศใดประเทศหนึ่งได้หลังจากที่ได้แจ้งต่อรัฐสภาภายใน 30 วัน โดยมีวัตถุประสงค์ตามกฎหมายว่าด้วย       การให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการส่งออกอาวุธ การให้สถานะ MNNA ตามกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในปี 2539 โดยเริ่มแรกมีประเทศที่ได้รับสถานะ คือ ออสเตรเลีย    อิสราเอล อียิปต์ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และนิวซีแลนด์ ต่อมาได้มีการให้สถานะ MNNA เพิ่มเติมแก่ จอร์แดน (2539) อาร์เจนตินา (2541) บาห์เรน (2545) ฟิลิปปินส์ และไทย (2546) รวมทั้งหมด 11 ประเทศ
ประเทศที่ได้รับ MNNA ประเภทที่ 2 จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้
          • สำหรับประเทศที่ได้รับสถานะ MNNA ที่อยู่ด้านทิศใต้หรือตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศกลุ่มนาโต้จะได้รับสิทธิ์ ได้รับอุปกรณ์ทางทหารส่วนเกินจากสหรัฐฯ เป็นลำดับแรก
          • สิทธิ์ในการซื้อกระสุนที่ทำจากกากยูเรเนียมและสิทธิ์ได้รับคลังอาวุธ ยุทโธปกรณ์สำรองของสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในประเทศของตนนอกค่ายทหารสหรัฐฯ
          • สิทธิ์ในการทําข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในการจัดการฝึกในแบบทวิภาคีหรือ     พหุภาคีโดยใช้ระบบการใช้จ่ายต่างตอบแทนที่อาจยกเว้นการใช้คืนค่าใช้จ่ายทาง อ้อม และค่าธรรมเนียมต่างๆ เฉพาะรายการ
          • สิทธิ์ในการเช่าอุปกรณ์ทางทหารบางอย่างเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ตาม      โครงการการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินทางทหารแก่รัฐบาลต่างประเทศของสหรัฐฯ
          • สิทธิ์ในการขอยืมวัสดุ อุปกรณ์ และยุทโธปกรณ์ สําหรับโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมกันและสำหรับการทดสอบและประเมินผล
          • สิทธิ์ในการขอให้มีการพิจารณาได้รับใบอนุญาตส่งออกดาวเทียมเพื่อการ พาณิชย์ รวมถึงเทคโนโลยี ส่วนประกอบและระบบของดาวเทียมนั้นๆ โดยเร่งด่วน
        
           การ ให้สถานะ MNNA ประเภทที่ 2 นี้ อาจถูกยกเลิกได้โดยดุลพินิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งต้องแจ้งรัฐสภาล่วงหน้า 30 วัน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการยกเลิกการให้สถานะ MNNA ประเภทนี้ และไม่มีหลักเกณฑ์ในการยกเลิกสถานะดังกล่าว 

Tag