องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe - OSCE)

องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe - OSCE)

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 มิ.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 26,968 view

ภูมิหลัง

  • องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe – OSCE) พัฒนามาจากการประชุมว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Conference on Security and Cooperation in Europe – CSCE) CSCE มิได้เป็นองค์การระหว่างประเทศตามกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นการประชุมแบบต่อเนื่อง (Series of Conferences) การประชุม CSCE ครั้งที่ 1 เมื่อเดือน สิงหาคม 2518 ณ กรุงเฮลซิงกิหลังจากที่สหภาพโซเวียตยอมให้สหรัฐฯ และแคนาดา เข้าร่วมประชุม แม้จะมิได้ตั้งในยุโรป
  • เมื่อปี 2537 ที่ประชุมระดับผู้นำ CSCE ณ กรุงบูดาเปสต์ ได้เปลี่ยนชื่อ CSCE เป็น OSCE และกลายเป็นองค์การระหว่างประเทศ
  • สำนักงานใหญ่ OSCE ตั้งอยู่ ณ กรุงเวียนนา
  • เลขาธิการ OSCE (Secretary General) คนปัจจุบัน คือ นาย Mark Perrin de Brichambaut ชาวฝรั่งเศส
  • ประธาน OSCE (Chairman in Office – CiO) คนปัจจุบัน คือ นาย Audronius Azubalis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลิธัวเนีย
  • ประเทศ OSCE Troika สำหรับปี 2554 คือ คาซัคสถาน (ประธาน OSCE ปี 2553) และลิทัวเนีย (ประธาน OSCE ปี 2554) และไอร์แลนด์ (ประธาน OSCE ปี 2555)

 

ประเทศสมาชิก

ปัจจุบันประเทศสมาชิก OSCE มี 56 ประเทศ ได้แก่ แอลเบเนีย อันดอร์รา อาร์เมเนีย ออสเตรีย อาเซอร์ไบจาน  เบลารุส เบลเยียม บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บัลแกเรีย แคนาดา โครเอเชีย ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก  เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส จอร์เจีย เยอรมนี กรีซ นครรัฐวาติกัน ฮังการี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิตาลี คาซัคสถาน คีร์กิซสถาน ลัตเวีย ลิคเตนสไตน์ ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มาเซโดเนีย มอลตา มอลโดวา โมนาโก มอนเตเนโกร เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส รัสเซีย โรมาเนีย ซานมารีโน เซอร์เบีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ทาจิกิสถาน ตุรกี เติร์กเมนิสถาน ยูเครน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และอุซเบกิสถาน

วัตถุประสงค์

OSCE จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1.)    เพื่อเสริมสร้างมาตรการความไว้เนื้อเชื่อใจ (confidence building measures) ทางด้านความมั่นคง 3 ด้าน  ได้แก่ ด้านการเมืองและการทหาร  ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และด้านความมั่นคงในมิติมนุษย์

2.)    เพื่อเป็นเวทีปรึกษาหารือ หาข้อยุติ และระงับข้อพิพาทและข้อขัดแย้งในยุโรป ควบคุมดูแลความมั่นคงโดยรวมของภูมิภาค เพื่อมิให้เกิดวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรง และปฎิบัติการทางทหาร เพื่อรักษาสันติภาพในบริเวณที่ปฏิบัติเท่านั้น

 

การดำเนินงาน

OSCE ให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน ดังนี้

1.) ส่งเสริมค่านิยมร่วมของประเทศสมาชิก ตลอดจนส่งเสริมประชาธิปไตยและประชาสังคม บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย

2.) ป้องกันการเกิดความขัดแย้งในระดับท้องถิ่นและเสริมสร้างเสถียรภาพในพื้นที่ที่ประสบวิกฤตการณ์

3.) ส่งเสริมระบบความมั่นคงร่วมกัน

 

ขอบเขต

ถึงแม้ความสำคัญและขอบเขตในการดำเนินงานของ OSCE ในยุคหลังสงครามเย็นจะปรับเปลี่ยนไปจากช่วงสงครามเย็น แต่การดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์ขององค์การเพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันทางด้านความมั่นคง 3 ด้าน (Three Baskets) ดังกล่าวยังคงมีอยู่ ดังนี้

1.)  ความมั่นคงด้านการเมือง และการทหาร OSCE ประสงค์ที่จะเสริมสร้างความมั่นคงด้านการทหารโดยส่งเสริมความเปิดกว้าง ความโปร่งใส และความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิกกับรัฐภายนอกที่มีความสัมพันธ์กับ OSCE โดยการสร้างเวทีหารือเพื่อความร่วมมือด้านความมั่นคง (The Forum for Security Cooperation) และการใช้มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (Confidence and Security Building Measures: CSBMs) เป็นต้น

2.)  ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม OSCE ให้ความสำคัญกับ  การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากความร่วมมือในประเด็นดังกล่าวช่วยเสริมสร้างบรรยากาศที่เกื้อกูลต่อสันติภาพ ความมั่งคั่ง และเสถียรภาพ ในภูมิภาคยุโรปโดยรวม ทั้งนี้ ขอบเขตของความร่วมมือด้านนี้ของ OSCE ได้แก่ การติดตาม (monitor) พัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในประเทศสมาชิกเพื่อเตือนภัยหากมีเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง และอำนวยความสะดวกแก่รัฐสมาชิกในการจัดทำนโยบายเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

3.)  ความร่วมมือทางด้านมนุษย์ ความร่วมมือด้านมนุษย์ของ OSCE ครอบคลุมประเด็นเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การส่งเสริมหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย การเสริมสร้าง และการพัฒนาสถาบันประชาธิปไตย โดย OSCE ได้จัดตั้งกลไกเพื่อส่งเสริมพันธกรณีของประเทศสมาชิกในการดำเนินการ  ตามหลักการดังกล่าว อาทิ สำนักงานสถาบันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (Office for Democratic Institutions and Human Rights) และข้าหลวงใหญ่ด้านชนกลุ่มน้อยแห่งชาติ (High Commissioner on National Minorities) เป็นต้น

 

ความร่วมมือกับประเทศนอกกลุ่ม

  • นอกเหนือจากสมาชิก 56 ประเทศแล้ว OSCE ยังมีความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศนอกกลุ่ม ในฐานะหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือ (Partner for Cooperation) ของ OSCE  ได้แก่เป็นประเทศหุ้นส่วนฯ ฝ่ายเอเชีย และฝ่ายเมดิเตอร์เรเนียน
  • นอกจากนี้ ในการประชุมต่าง ๆ ของ OSCE ยังมีผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ อาทิ องค์การสหประชาชาติ สหภาพยุโรป คณะมนตรียุโรป องค์การว่าด้วยความมั่นคงแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ เข้าร่วมด้วย

 

ประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือฝ่ายเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Partners for Co-operation)

  • มี 6 ประเทศ ได้แก่ อัลจีเรีย อียิปต์ อิสราเอล จอร์แดน โมร็อคโก และตูนีเซีย ซึ่งเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนฯ ตั้งแต่ปี 2533
  • เป็นความร่วมมือในลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากประเทศหุ้นส่วนฯ ฝ่ายเอเชีย โดยเป็นผลจากบทบัญญัติเฮลซิงกิ ปี 2518 ซึ่งได้ระบุให้ OSCE  มีความร่วมมือทางด้านการเมืองและความมั่นคงกับประเทศในภูมิภาคดังกล่าว เนื่องจากมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ทางด้านความมั่นคงของภูมิภาคยุโรปโดยรวม

 

ประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือฝ่ายเอเชีย (Asian Partners for Co-operation)

  • มี 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น (2535) เกาหลีใต้ (2537) ไทย (2543) อัฟกานิสถาน (2546) และมองโกเลีย (2547) ออสเตรเลีย (2552)
  • ญี่ปุ่นมีระดับความร่วมมือสูงกว่าประเทศอื่นและสามารถเข้าร่วมการประชุมของ OSCE  ได้ในทุกระดับ เท่าเทียมกับสมาชิก OSCE เนื่องจากญี่ปุ่นสนใจและมีบทบาทในปัญหาด้านความมั่นคงกับยุโรปอย่างเต็มที่มาโดยตลอดมา เช่น การเข้าร่วมคณะติดตามทางการเมืองและผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งในบอสเนียตามข้อตกลงเดย์ตัน และการบริจาคเงินจำนวน 500  ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจบอสเนีย ปัจจุบัน ญี่ปุ่นสนใจจะมีความร่วมมือกับ OSCE ในเอเชียกลาง เช่น การควบคุมด่านชายแดน การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การแก้ปัญหายาเสพติด และการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูอัฟกานิสถาน
  • เกาหลีใต้มีความร่วมมือในระดับรองลงมา โดยได้ระบุเจตจำนงความร่วมมือกับ OSCE  ว่าจะมุ่งเรียนรู้ประสบการณ์ เพื่อนำไปปรับใช้ในการส่งเสริมความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี OSCE จึงได้พิจารณาเชิญเกาหลีใต้มาเข้าร่วมการประชุมเป็นรายกรณี ทั้งนี้ เมื่อปี 2539 เกาหลีใต้ได้มีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาด้วย
  • ไทยเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนฯ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2543 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

               1.) เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ของ OSCE ด้านการเมืองและความมั่นคงของยุโรป เช่น มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความมั่นคง (Confidence and Security Building Measures – CSBMs) การทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) การป้องกันความขัดแย้ง และการจัดการวิกฤตการณ์ (Crisis Management) เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงในกรอบ ASEAN และ ASEAN Regional Forum (ARF)

               2.) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการและความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศในยุโรป ซึ่งทำให้ทราบความเคลื่อนไหวที่สำคัญในยุโรป

               3.) เพื่อชี้แจงและทำให้ประเทศในยุโรปทราบและมีความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการที่สำคัญในเอเชีย โดยเฉพาะนโยบายและบทบาทของไทยด้านความมั่นคงในภูมิภาค

                4.) เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน เช่น มิติด้านมนุษย์ของความมั่นคง

  • อัฟกานิสถานเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนฯ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2546 เพื่อรับความช่วยเหลือจาก OSCE ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 OSCE ได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในอัฟกานิสถาน
  • มองโกเลียเข้าเป็นประเทศสมาชิกหุ้นส่วนฯ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2547 เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ของ OSCE ด้านความมั่นคงในมิติมนุษย์ โดยเฉพาะด้านหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม
  • ออสเตรเลียเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนฯ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 เนื่องจากชื่นชมการทำงานในด้านต่างๆ ของ OSCE โดยเฉพาะการต่อต้านการก่อการร้าย การป้องกันและการแก้ไขความขัดแย้ง และการฟื้นฟูภายหลังความขัดแย้ง

 

การมีส่วนร่วมของไทยในระหว่างปี 2552-2553

  • การประชุม 2009 OSCE-Japan Conference เมื่อวันที่ 10 – 11 พฤษภาคม 2552 ณ กรุงโตเกียว
  • การประชุม OSCE Ministerial Council ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 1 – 2 ธันวาคม 2552 ณ กรุงเอเธนส์
  • ไทยเป็นเจ้าภาพ Workshop on Combating Illicit Crop Cultivation and Enhancing Border Security and Management: Thailand as a Case Study เมื่อวันที่ 24 – 28 มกราคม 2553 ณ จ. เชียงใหม่และ จ. เชียงราย
  • ไทยส่งผู้แทนในการบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง ARF and Areas of Possible Contributions with the OSCE ต่อที่ประชุม Asian Contact Group Meeting ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ณ กรุงเวียนนา
  • การประชุม OSCE-Republic of Korea Conference เมื่อวันที่ 17 – 19 พฤษภาคม 2553 ณ กรุงโซล
  • กิจกรรมพิเศษ OSCE-CICA “Security and Economic Cooperation in Eurasia in the 21st Century” เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 ณ นครอิสตันบูล
  • นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลที่ประชุม OSCE Permanent Council เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2553 ณ กรุงเวียนนา
  • การประชุม Informal OSCE Ministerial Meeting เมื่อวันที่ 16 – 17 กรกฎาคม 2553 ณ นครอัลมาตี
  • การประชุมระดับผู้นำ OSCE เมื่อวันที่ 1 – 2 ธันวาคม 2553 ณ กรุงอัสตานา