กิจกรรมนำคณะทูตภูมิภาคอเมริกาและแปซิฟิกและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

กิจกรรมนำคณะทูตภูมิภาคอเมริกาและแปซิฟิกและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ม.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 5,446 view

เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้นำคณะทูตภูมิภาคอเมริกาและแปซิฟิก และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป รวม ๑๑ ประเทศ ดูการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร (โรงงานผลิตกุ้งแช่แข็งส่งออก Thai Royal Frozen Food และโรงงานผู้ผลิตวัตถุดิบ ส.สมพล) ที่ถูกกล่าวหาและอ้างอิงในรายงานข่าวสื่อต่างประเทศว่ารับวัตถุดิบจากสถานแปรรูปกุ้งเบื้องต้น (ล้ง) ที่มีการใช้แรงงานเด็ก การว่าจ้างแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และการค้ามนุษย์ โดยภายหลังการดูงานข้างต้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ดังนี้     

๑. เป็นภูมิหลังว่า จากการที่เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากการถูกปรับระดับลงเป็น Tier 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรายงาน TIP Report ประจำปี ๒๕๕๕ ของฝ่ายสหรัฐฯ และยังคงสถานะอยู่ในระดับ Tier 2 Watch List เนื่องจากประเทศไทยได้ส่งแผนปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำปี ๒๕๕๕ - ๒๕๕๖ ให้แก่ฝ่ายสหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ประกอบกับได้หยิบยกขึ้นหารือในระดับสูงกับฝ่ายสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่ตนเดินทางเยือนกรุงวอชิงตันเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ซึ่งก็ได้มีโอกาสหยิบยกขึ้นกับนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และกับวุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ ที่เป็นเพื่อนของไทย

๒. ต่อมา นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งตนให้เป็นผู้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ตามแผนปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทยที่ประเทศไทยได้ส่งให้ฝ่ายสหรัฐฯ ดังกล่าว ตนจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจติดตามความคืบหน้าการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ตามแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวขึ้น โดยมีอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน และมีหน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้องด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ร่วมเป็นคณะทำงาน

๓. การลงพื้นที่ดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนหารือกับภาคเอกชน คือ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป  ทำให้ทราบว่า มีสื่อและ NGO ต่างประเทศเผยแพร่ข่าวกล่าวหาว่ากุ้งส่งออกจากประเทศไทยมีราคาถูกเนื่องจากมีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ และมีการกล่าวพาดพิงถึงโรงงาน Thai Royal Frozen Food ซึ่งผลิตกุ้งแช่แข็งส่งออกไปยังสหรัฐฯ แคนาดาและสหภาพยุโรป ว่ารับวัตถุดิบมาจากสถานแปรรูปวัตถุดิบ (ล้ง) ที่มีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสินค้าอาหารทะเลแปรรูป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ากุ้งและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

๔. หลังจากที่ได้หารือกับภาคเอกชนดังกล่าว ตนจึงได้หารือกับรองนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายสันติ พร้อมพัฒน์) ว่าน่าจะจัดกิจกรรมพาคณะทูตจากประเทศต่าง ๆ  ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะจากภูมิภาคอเมริกาและแปซิฟิกใต้และสหภาพยุโรป มาเยี่ยมชมโรงงานผลิตอาหารทะเลแปรรูปเพื่อการส่งออก รวมทั้งเยี่ยมชมโรงงานที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ (ล้ง) ซึ่งคือที่ ล้ง ส. สมพล แห่งนี้ เพื่อให้คณะทูตได้เห็นกับตาว่า โรงงานเหล่านี้มีมาตรฐานในการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งรวมถึงมาตรฐานด้านแรงงานและที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ที่เคร่งครัดอย่างไร โดยเป็นมาตรฐานที่ถูกกำหนดและควบคุมโดยภาครัฐ และที่ภาคเอกชนสมัครใจทำเอง เพื่อประโยชน์ในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในที่ประชุมที่กระทรวงการต่างประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งได้แจ้งว่าบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ พร้อมและยินดีที่จะเปิดให้สถานเอกอัครราชทูตเข้าตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทด้วย โดยภาครัฐจะจัดตั้งกลไกเพื่อประสานรับคำร้องจากสถานเอกอัครราชทูตเพื่อแจ้งต่อไปยังสมาคมต่อไป

๕. การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้เชิญคณะทูตและสื่อมวลชน ทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมด้วย โดยมีเอกอัครราชทูตและผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรมกว่า ๑๕ ท่าน เพื่อจะได้ช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ประชาชนเพื่อช่วยกันป้องกันเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ด้วย รวมทั้งหวังจะให้กระจายข่าวและข้อเท็จจริงออกไปว่า กุ้งส่งออกของไทยมีมาตรฐานในการผลิตที่รวมถึงมาตรฐานด้านแรงงาน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและมีความสบายใจว่ากุ้งไทยไม่ได้ผลิตจากแรงงานเด็กและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างแน่นอน

๖. อีกส่วนหนึ่งของกิจกรรม คือ เมื่อช่วงเช้าได้พาคณะทูตไปดูการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการหารือผ่านระบบ video conference กับทีมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จังหวัดสมุทรสาครและภาคประชาสังคมในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้คณะทูตเห็นการสั่งการและการประสานงานของหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายและการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 

๗. นอกจากนี้ ตนได้แจ้งและย้ำกับคณะทูตไปว่า รัฐบาลยินดีหากคณะทูตรวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ หรือ NGOs ใดที่มีหลักฐานกรณีการค้ามนุษย์ ก็ขอให้ส่งมาให้ เพื่อเราจะได้ดำเนินการในขั้นต่อไป รวมทั้งกิจกรรมการนำคณะทูตลงพื้นที่ในครั้งนี้ มิใช่จะเป็นแค่ครั้งเดียวแล้วจบ แต่เราจะจัดให้คณะทูตดูงานการดำเนินการในด้านอื่น ๆ ของไทยเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ด้วย เช่น การให้ความคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์และการดำเนินคดี ที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

media-center-20130116-172507-439395.doc