ไทย-ฝรั่งเศส ผลักดันความร่วมมือให้คืบหน้าครอบคลุมทั้งการค้า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และความมั่นคง

ไทย-ฝรั่งเศส ผลักดันความร่วมมือให้คืบหน้าครอบคลุมทั้งการค้า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และความมั่นคง

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.พ. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,696 view

เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ นายฌอง-มาร์ค เอโรต์ (H.E. Mr. Jean-Marc Ayrault) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฝรั่งเศส เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ  และร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการและการตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้น เป็นการหารือข้อราชการเต็มคณะ ณ ห้องสีงาช้าง ซึ่งประกอบไปด้วยบุคคลสำคัญฝ่ายไทย ได้แก่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

สำหรับคณะทางการฝรั่งเศส ประกอบไปด้วยบุคคลระดับสูง ได้แก่ นางฌอง-มาร์ค เอโรต์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฝรั่งเศส นางนิกอล บริก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศ และนางยามินา เบนกีกี รัฐมนตรีช่วยประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ในการหารือ ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและยาวนานระหว่างสองประเทศและมุ่งมั่นสานต่อความสัมพันธ์ให้มีพัฒนาการก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป และได้มีการหารือถึงความร่วมมือในการพัฒนาความร่วมมือทั้งด้านการค้า การลงทุน รวมทั้ง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นทวิภาคีและพหุภาคี สรุปดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับการเยือนประเทศไทยของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ที่ห่างจากการเยือนฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรีเพียง ๖ เดือน ซึ่งแสดงถึงมิตรภาพที่แน่นแฟ้นและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งระหว่างกัน  โดยการเดินทางเยือนอาเซียนครั้งที่ ๒ ในรอบ ๔ เดือน ยังแสดงให้เห็นว่าฝรั่งเศสให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้ และไทยยินดีที่จะให้การสนับสนุนการเข้ามามีส่วนร่วมของฝรั่งเศสในภูมิภาคนี้อย่างสร้างสรรค์

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย และแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับฝรั่งเศสในทุกด้าน โดยเฉพาะในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสได้นำคณะนักธุรกิจมาเยือนประเทศไทยและร่วมการสัมมนาสำหรับภาคธุรกิจในช่วงบ่าย ซึ่งเชื่อว่า จะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนให้แก่ภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย และช่วยสร้างงานให้แก่ทั้งสองประเทศ

ในการนี้ ผู้นำทั้งสองต่างแสดงความยินดีที่มีการลงทุนจากทั้งสองทาง ภายหลังการเยือนฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคม โดยบริษัทมิชลินของฝรั่งเศสได้เข้ามาลงทุนเพิ่ม มูลค่ารวมกว่า ๘๗ ล้านยูโร (๓,๕๐๐ ล้านบาท) ในขณะที่บริษัทดับเบิ้ลเอของไทย ได้ไปซื้อกิจการโรงงานผลิตกระดาษในฝรั่งเศส รวมทั้งบริษัทด้านอาหารอื่นๆของไทย

นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองเห็นว่า กลไกการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) จะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ ซึ่งขณะนี้ กรอบการเจรจา FTA ไทย-อียู ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว และคาดว่า จะสามารถเริ่มเจรจากับอียูได้ภายในครึ่งแรกของปีนี้

โดยฝรั่งเศสยังได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทย โดยเฉพาะรถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง  ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ฝ่ายไทยจะพิจารณาเรื่องเทคโนโลยีเป็นหลัก รวมถึง เรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร และแผนการบำรุงรักษาที่จะเป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย โดยจะกำกับดูแลกระบวนการประมูลต่างๆให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสชื่มชมแนวทางที่ชัดเจนในการประมูลราคาของรัฐบาลไทยและมั่นใจว่าไทยและฝรั่งเศสจะได้ทำงานร่วมกันในเรื่องนี้ต่อไปในอนาคต

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอากาศยาน ไทยมีแผนที่จะตั้งนิคมอากาศยานและศูนย์ซ่อมอากาศยานทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การซ่อมบำรุงและการบริการ ซึ่งไทยมีจุดแข็งเรื่องที่ตั้งภูมิศาสตร์ อุตสาหกรรมสนับสนุนและแรงงานฝีมือ โดยได้เชิญให้ฝรั่งเศสเข้ามาสำรวจลู่ทางการลงทุนในด้านนี้ ซึ่งเป็นสาขาที่ฝรั่งเศสมีความชำนาญ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเชิญชวนให้ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรกับไทยแบบไตรภาคีเพื่อการพัฒนาในประเทศที่สาม ซึ่งฝรั่งเศสมีความสนใจที่จะร่วมกับไทยในเรื่องนี้ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจทวาย ตลอดจน การเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาของประเทศในแอฟริกา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความสนใจของฝรั่งเศส โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการเพิ่มพูนบทบาทของไทยในกรอบความร่วมมือแบบ South-South กับแอฟริกา ที่เน้นการเผยแพร่องค์ความรู้และประสบการณ์ของไทยในด้านการเกษตร สาธารณสุข และการศึกษา ซึ่งฝรั่งเศสสนใจที่จะเข้าร่วมกับไทยในเรื่องนี้

ด้านการศึกษา ทั้งสองต่างยินดีที่ความร่วมมือทางการศึกษาและการวิจัยมีความก้าวหน้า โดยในวันนี้จะมีการลงนามด้านการศึกษาถึง ๒ ฉบับ ซึ่งจะช่วยรองรับความต้องการของตลาดแรงงานที่มีคุณภาพและพัฒนาการสอนภาษาฝรั่งเศสในไทย โดยที่ฝรั่งเศสประสงค์ให้มีการส่งเสริมการเรียนภาษาฝรั่งเศสในไทยมากขึ้น

ด้านพลังงาน ไทยและฝรั่งเศสจะร่วมมือกันด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะในสาขาเชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ และ Smart Grids และยินดีที่จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กับสถาบัน CIRAD ของฝรั่งเศส ซึ่งคลอบคลุมความร่วมมือในสาขาที่หลากหลาย รวมถึงสาขาการวิจัยเรื่องพลังงานชีวภาพด้วย

สำหรับความร่วมมือในระดับภูมิภาค ฝรั่งเศสมีความสนใจต่อภูมิภาคอาเซียนและเอเชียมากขึ้น และไทยได้ย้ำถึงโอกาสทางเศรษฐกิจในอาเซียนที่ฝรั่งเศสสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยเฉพาะการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค (connectivity)  นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคทั้งในเอเชียและยุโรป  โดยเห็นพ้องว่า อาเซียนและฝรั่งเศส พร้อมอียู จะร่วมกันส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และมั่งคั่งของภูมิภาคต่อไป

โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ได้กล่าวถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้มีพระพลานามัยสมบูรณ์เข็งแรงโดยเร็ว พร้อมฝากสารจากประธานาธิบดีฝรั่งเศสถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านรัฐบาลไทยในโอกาสนี้ด้วย

ภายหลังการหารือข้อราชการแบบเต็มคณะเมื่อเวลา ๑๘.๑๕ น. ณ ตึกสันติไมตรี หลังใน นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามเอกสารความตกลง ๕ ฉบับ ดังนี้

๑) ความตกลงด้านการป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส สาระหลัก ครอบคลุมความร่วมมือด้านการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ การวิจัยและพัฒนา การทหาร การส่งกำลังบำรุง ความร่วมมือด้านยุทโธปกรณ์ การศึกษาและการฝึกบุคลากรกองทัพ

๒) หนังสือแสดงเจตจำนงเพื่อความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส สาระหลัก นำอาสาสมัครนักศึกษาฝรั่งเศสระดับปริญญาโทด้านการสอนภาษาฝรั่งเศส เป็นภาษาต่างประเทศ มาช่วยครูไทยที่สอนภาษาฝรั่งเศสในโรงเรียน  เป็นเวลา ๗-๑๒ สัปดาห์ ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน

๓) บันทึกข้อตกลงโครงการความร่วมมือในการผลิตวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก- ไอกรน - ตับอักเสบบี ในระดับต้นน้ำ (Upstream Production) ในประเทศไทย สาระหลัก เพื่อให้มีการผลิตวัคซีนรวม ๔ ชนิด โดยบริษัท Sanofi จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคคอตีบให้องค์การเภสัชกรรม และจะลงทุนสร้างโรงงานผลิตวัคซีนตับอักเสบบี ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยจะนำเข้าเฉพาะวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักและไอกรน เพื่อนำมารวมผลิตเป็นวัคซีนรวม

๔) General Memorandum of Understanding on Cooperation for Development-Oriented Research between Thailand Research Fund and Centre de Coopération Internatíonale en Recherche Agronomique pour le Développement สาระหลัก เป็นความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมการเกษตร  การผลิตและแปรรูปอาหาร  การควบคุมโรคในสัตว์ ชีวพลังงาน โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล ประสบการณ์ และนักวิชาการระหว่างกัน รวมทั้งดำเนินกิจกรรมด้านวิชาการร่วมกัน

๕) บันทึกความเข้าใจระหว่างกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลของราชอาณาจักรไทยกับ กลุ่มสถาบันเทคโนโลยีอุดมศึกษาของสาธารณรัฐฝรั่งเศส สาระหลัก เพื่อพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรม อาหารและอุตสาหกรรมเกษตร และภาคบริการโดยจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล ประสบการณ์ และนักวิชาการระหว่างกัน รวมทั้งดำเนินกิจกรรมด้านวิชาการร่วมกัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ