ภารกิจทวิภาคีของนายกรัฐมนตรีระหว่างการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ ๒

ภารกิจทวิภาคีของนายกรัฐมนตรีระหว่างการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ ๒

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 พ.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,457 view

ภายหลังเสร็จสิ้น การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย – ลาว ครั้งที่ ๒ นายกรัฐมนตรีหารอทวิภาคีกับ นาย มิเคอิล ซาคาชวิลี (Mikheil Saakashvili) ประธานาธิบดีจอร์เจีย นายชอง ฮง-วอน (Chung Hong-won) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเกาหลี และนายทาเคฮิโกะ นากาโอะ ประธาน ADB ตามลำดับ สรุปสาระสำคัญดังนี้

การหารือกับนาย มิเคอิล ซาคาชวิลี (Mikheil Saakashvili) ประธานาธิบดีจอร์เจีย ซึ่งเป็นการพบกันครั้งที่ ๒ นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณประธานาธิบดีจอร์เจียที่ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งเอเชีย-แปซิฟิก และมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจอร์เจียให้แน่นแฟ้น โดยทั้งสองฝ่ายหารือถึงความร่วมมือในการเป็นประตูสู่ภูมิภาคระหว่างกัน และจอร์เจียเป็นตลาดใหม่ของภูมิภาคคอเคซัส ทั้งนี้ จอร์เจียให้ความสำคัญกับประเทศไทย และเห็นว่าการจัดทำความตลงการค้าเสรีระหว่างจอร์เจียและสหรัฐอเมริกา และระหว่างจอร์เจียกับสหภาพยุโรปที่ใกล้จะแล้วเสร็จ จะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจอร์เจีย รวมทั้ง การแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับ โดยจอร์เจียขอเชิญนายกรัฐมนตรีเยือนจอร์เจียอย่างเป็นทางการ และการแลกเปลี่ยนระหว่างภาคธุรกิจทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ มีการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนและขยายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความชำนาญ อาทิ การเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่าไทยและจอร์เจียสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน รวมทั้ง การแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการต่อต้านการคอร์รัปชั่น

การหารือกับนายชอง ฮง-วอน (Chung Hong-won) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเกาหลี ต่างแสดงการเห็นพ้องกันในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยมุ่งหวังให้บรรลุเป้าหมายการค้าระหว่างกันที่ ๓๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ปี ๒๕๕๙ โดยจะเร่งรัดให้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม ๕ ปี และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ครอบคลุม (Comprehensive Economic Partnership Agreement-CEPA) ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเกาลียังกล่าวสนับสนุนการลงทุนของเกาหลีใต้ในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทดแทน ปิโตรเคมี ซึ่งเป็นสาขาที่สาธารณรัฐเกาหลีมีความเชี่ยวชาญ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้แสดงความขอบคุณสาธารณรัฐเกาหลีที่ให้ความสนใจเข้าร่วมแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย และการเชื่อมโยงในภูมิภาคในด้าน การบริหารจัดการน้ำ รถไฟความเร็วสูง และโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย นอกจากนี้ ไทยยังยินดีต่อข้อริเริ่มของสาธารณรัฐเกาหลีว่าด้วยความร่วมมือ Mekong – ROK Business Forum เพื่อร่วมมือกับไทยในการพัฒนาอนุภูมิภาคด้วย ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเกาหลีได้ร่วมเป็นสักพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยความร่วมมือระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทย และกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค และการขนส่งของสาธารณรัฐเกาหลี ระว่างนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายชอน แจ-มัน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย

การหารือกับกับนายทาเคฮิโกะ นากาโอะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย มีการหารือในประเด็นความร่วมมือระหว่าง ADB และประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณในการสนับสนุนของ ADB ต่อแผนบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะแนวทางการเตรียมความพร้อมกับภัยพิบัติในระยะยาวพร้อมทั้งย้ำความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับ ADB โดย ประธานฯ ได้ชื่นชมความสำเร็จของความร่วมมือระหว่าง ADB กับไทย ที่ไทยถือเป็นประเทศแรกที่ ADB ให้การสนับสนุน และประสบควาสำเร็จในการสร้างการเติบโตการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนให้มีการเร่งจัดทำยุทธศาสตร์หุ้นส่วนการพัฒนาระดับประเทศของไทย (country partnershipstrategy: CPS) ฉบับที่ ๒ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ (Technical Assistance) การแบ่งปันความรู้ (Knowledge Sharing) และการเสริมสร้างขีดความสามารถ (Capacity Building) นอกจากนี้ ยังได้หารือในประเด็นความช่วยเหลือของ ADB เพื่อขยายความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะทางการปฏิรูประบบรถไฟในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS)ตลอดจนการสนับสนุนการจัดทำแนวนโยบายและกฎหมายสำหรับหุ้นส่วนความร่วมมือภาครัฐ – เอกชน (Public-PrivatePartnerships: PPP) เพื่อเป็นช่องทางเพิ่มการลงทุนจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ไทยเสนอให้ ADB เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ