ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรร่วมแถลงข่าวภายหลังการประชุมการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – สหราชอาณาจักร (Thai - Strategic Dialogue) ครั้งที่ ๑

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรร่วมแถลงข่าวภายหลังการประชุมการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – สหราชอาณาจักร (Thai - Strategic Dialogue) ครั้งที่ ๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 พ.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,305 view

เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ และนาย Hugo Swire รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ได้แถลงข่าวร่วมกันภายหลังการประชุมการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร (Thai – UK Strategic Dialogue) ครั้งที่ ๑ ณ กระทรวงการต่างประเทศ สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

การประชุมหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร (Thai – UK Strategic Dialogue) ครั้งนี้ นับเป็นการประชุมฯ ครั้งแรก ซึ่งเกิดขึ้นภายในเวลา ๖ เดือนภายหลังจากที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะจัดตั้งกลไกหารือทวิภาคีระดับสูงระหว่างกัน ในช่วงการเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕  

ในการหารือ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ในฐานะประธานร่วม ได้แลกเปลี่ยนทัศนะและข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ อย่างกว้างขาวง ทั้งประเด็นยุทธศาสตร์ที่สองฝ่ายให้ความสำคัญในบริบทของความสัมพันธ์ทวิภาคี ประเด็นในภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศที่มีความสนใจร่วมกัน รวมถึงการติดตามผลในประเด็นที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้หยิบยกหารือกับนายกรัฐมนตรี สหราชอาณาจักร หรือประเด็นที่มีการตกลงกันไว้ระหว่างการเยือนฯ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ระหว่างการหารือเชิงยุทธศาสตร์ครั้งที่ ๑ นี้  ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับประเด็นหลัก ได้แก่ (๑) การเพิ่มพูนด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน โดยเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการเพิ่มพูนมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี ๒๕๖๑  (๒) การส่งเสริมการลงทุนสองฝ่าย (two-way trade)  ซึ่งขณะนี้  มีบริษัทเอกชนจากสหราชอาณาจักรเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากเป็นอันดับ ๓ รองจากประเทศอื่นในสหภาพยุโรป ขณะที่ นักธุรกิจของไทยสนใจไปขยายฐานการลงทุนในต่างประเทศรวมทั้งสหราชอาณาจักร (๓) ความร่วมมือในการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานในไทย อาทิ ระบบรถไฟฟ้า และการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น (๔) ความร่วมมือด้านการศึกษา ซึ่งสหราชอาณาจักร โดยบริติชคาน์ซิลเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรม/โครงการด้านการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของไทยอย่างโดดเด่น (๕) ประเด็นด้านกงสุลและมาตรการการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย (๖) การส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคง การบังคับใช้กฎหมาย และด้านกลาโหม ตลอดจน (๗) การส่งเสริมความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ อาทิ การป้องกันการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ สิทธิมนุษยชน การต่อต้านการค้ามนุษย์ และการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  เป็นต้น

โดยที่ประเด็นการกงสุล การตรวจลงตรา รวมทั้งการท่องเที่ยว และการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรเดินทางมาประเทศไทยปีละประมาณเกือบ ๙๐๐,๐๐๐ คน และมีคนสัญชาติอังกฤษพำนักระยะยาวอยู่ในประเทศไทยอีกประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน  ในขณะที่ มีนักเรียนไทยเดินทางไปศึกษาในสหราชอาณาจักร ประมาณ ๘,๐๐๐ คน  ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ประชาชนของสองประเทศเดินทางไปมาระหว่างกันให้มากขึ้น โดยเห็นควรที่จะดำเนินการขจัด/ผ่อนคลายกฎระเบียบและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม ผู้เดินทางของทั้งสองฝ่ายจะต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในของแต่ละประเทศด้วย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่าย ยังได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวของไทย อาทิ การรักษาความปลอดภัยทั่วไป การป้องกันการเกิดอาชญากรรมและการหลอกลวงนักท่องเที่ยว ความปลอดภัยบนท้องถนน ฯลฯ และเพื่อให้มีการหารือในประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ ป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีเวทีหารือร่วมกันในประเด็นด้านกงสุล การคุ้มครองดูแลคนสัญชาติอังกฤษ และการตรวจลงตราอย่างใกล้ชิดต่อไป 

ฝ่ายสหราชอาณาจักรแจ้งความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - สหราชอาณาจักร ครั้งที่ ๒ ในปี ๒๕๕๗
                        

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

media-center-20130520-204904-174613.doc