ไทยและปากีสถานเตรียมเจรจา FTA และความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง

ไทยและปากีสถานเตรียมเจรจา FTA และความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ส.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,095 view

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พบหารือกับนายมูฮัมหมัด นาวาซ ชารีฟ (H.E. Mr. Muhammad Nawaz Sharif) นายกรัฐมนตรีปากีสถาน

เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ เดินทางไปยังทำเนียบนายกรัฐมนตรีปากีสถานเพื่อพบหารือกับนายมูฮัมหมัด นาวาซ ชารีฟ (H.E. Mr. Muhammad Nawaz Sharif) นายกรัฐมนตรีปากีสถาน โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้

ด้านความสัมพันธ์ การเยือนปากีสถานครั้งนี้นับเป็นการเยือนระดับนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในรอบ ๑๑ ปี นับตั้งแต่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการเมื่อปี ๒๕๔๕ โดยทั้งสองยินดีที่ไทย-ปากีสถานสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบ ๖๐ ปี สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นพันธมิตรที่สำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีฯ กล่าวชื่นชมถึงความเข้มแข็งของระบบประชาธิปไตยในปากีสถาน โดยมีรัฐบาลชุดใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนายกรัฐมนตรีปากีสถานได้แสดงความยินดีที่ไทยมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกตามระบอบประชาธิปไตย

ด้านเศรษฐกิจ ไทยสามารถยกระดับความสัมพันธ์กับปากีสถานในลักษณะการเป็นหุ้นส่วนทางด้านเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง (Strong Economic Partnership) ซึ่งจะทำให้ทั้งสองเป็น Economic Hub ของภูมิภาค โดยปากีสถานเป็นประตูสู่เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง อัฟกานิสถาน และภาคตะวันตกของจีน ขณะที่ไทยยินดีเป็นประตูสู่อาเซียนแก่ปากีสถาน นอกจากนี้ ทั้งสองยินดีส่งเสริมการเพิ่มมูลค้าการค้าระหว่างกันเป็นสองเท่าภายใน ๕ ปี การจัดตั้งสภาธุรกิจร่วม และผลักดัน FTA ไทย-ปากีสถาน ผ่านกรอบการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-ปากีสถานซึ่งจะลงนามจัดตั้งในการเยือนครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ไทยยินดีสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในสาขาที่ไทยเชี่ยวชาญ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ โดยขอมีการให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการไทย เช่น การลดภาษี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ด้านการท่องเที่ยวและความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ทั้งสองยินดีที่การท่องเที่ยวระหว่างไทย-ปากีสถานเพิ่มขึ้น มีเที่ยวบินตรงระหว่างสองประเทศ ๑๘ ครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ ไทยพร้อมส่งเสริมให้ชาวปากีสถานเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยเพิ่มขึ้น สำหรับความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ไทย-ปากีสถานสนับสนุนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญในการเตรียมพร้อม การบริหารจัดการ และการฝึกอบรมร่วมกันเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้น

ด้านความร่วมมือทางทหารและความมั่นคง ทั้งสองยินดีกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกัน ภายใต้กรอบการประชุมการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมเฉพาะเรื่องอื่นๆระหว่างไทย-ปากีสถาน ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการต่อต้านการก่อการร้ายฯครั้งที่ ๓ ในสิ้นปีนี้

ความร่วมมือระดับภูมิภาคและพหุภาคี นายกรัฐมนตรีฯชื่นชมปากีสถานที่แสดงบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในเวทีระดับภูมิภาคและพหุภาคี โดยเฉพาะ การสนับสนุนท่าทีไทยในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในกรอบเวทีองค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conference - OIC) และการส่งเสริมเวที Asia Cooperation Dialogue (ACD) ที่ไทยริเริ่มขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีปากีสถานยินดีสนับสนุนและเข้าร่วมการประชุม ACD Summit ครั้งที่ ๒ ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนมีนาคมปี ๒๕๕๘ ซึ่งประเด็นสำคัญของการประชุม คือ การส่งเสริมความเชื่อมโยงภายในเอเชีย และข้อริ่เริ่มเส้นทางสายไหมใหม่ ที่จะเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และเอเชียใต้ เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ ไทยได้ขอให้ปากีสถานสนับสนุนนักเรียนไทยในปากีสถาน โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม และนายกรัฐมนตรีปากีสถานได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรีและประชาชนไทยสำหรับความช่วยเหลือช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวของปากีสถานด้วย

รายละเอียดเพิ่มเติม ติดตามได้ที่เว็บไซต์สำนักโฆษก ทำเนียบรัฐบาล