ไทยเข้าร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ครั้งที่ ๓ ณ เนปิดอว์

ไทยเข้าร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ครั้งที่ ๓ ณ เนปิดอว์

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 มี.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,624 view

เมื่อวันที่ ๒ – ๔ มีนาคม ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ครั้งที่ ๓ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation- BIMSTEC Summit) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ เนปิดอว์ เมียนมาร์ ในการประชุมครั้งนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้แทนพิเศษ (Special Envoy) สำหรับประชุมระดับผู้นำ และได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้เป็นผู้แทนสำหรับประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ ๑๔

การประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ ๓ ภายใต้หัวข้อ “หุ้นส่วนเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและความมั่งคั่ง” มีผู้นำจากบังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมาร์ เนปาล ศรีลังกา และผู้แทนพิเศษจากไทยเข้าร่วม

ในการประชุมฯ ผู้แทนพิเศษของไทยได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแก่ประชาชนในภูมิภาค BIMSTEC ไทยทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งภายใต้กรอบความร่วมมือในสาขาต่างๆ ของ BIMSTEC รวมทั้งการเตรียมรับกับโอกาส ความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลก ผู้แทนพิเศษได้ผลักดันประเด็นการเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรี BIMSTEC และการเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งจะเปิดประตูการค้า การลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น รวมทั้งประเด็นการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีสีเขียว เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนและทั่วถึง

ผู้แทนพิเศษได้ย้ำความสำคัญของการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ ได้เสนอแนะการส่งเสริมเทคโนโลยีและการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข รวมทั้งการส่งเสริมบทบาทของการประชุมกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ (BIMSTEC Business Forum) เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและลดช่องว่างในการพัฒนาในภูมิภาค

ผู้แทนพิเศษให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาคในการจัดการกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และยินดีกับการจัดตั้งศูนย์ BIMSTEC ด้านอากาศและภูมิอากาศที่อินเดีย รวมทั้งส่งเสริมให้ศูนย์ดังกล่าวทำงานร่วมกับศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center—ADPC) ในประเทศไทยอีกด้วย นอกจากนี้ ได้แสดงความห่วงใยเกี่ยวกับปัญหาการสิ้นเปลืองด้านอาหารที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระหว่างขั้นตอนการผลิตและการเก็บรักษาอาหาร ซึ่งไทยยินดีที่จะแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านวิชาการเกษตรและการเก็บรักษาอาหารซึ่งจะช่วยในการสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค

ในการประชุมผู้นำฯ ครั้งนี้ ผู้นำได้ลงนามในตราสารการจัดตั้งสำนักเลขาธิการถาวร BIMSTEC ที่กรุงธากา บังกลาเทศ และได้ยินดีที่ได้มีการแต่งตั้งนาย Sumith Nakadala ชาวศรีลังกา เป็นเลขาธิการคนแรก การจัดตั้งสำนักเลขาธิการของ BIMSTEC จะช่วยส่งเสริมสมรรถนะในการขับเคลื่อนการทำงานการประสานงานการดำเนินการและการติดตามกิจกรรมต่างๆ ของ BIMSTEC

ผู้นำ BIMSTEC ได้เป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม BIMSTEC และศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม BIMSTEC (Memorandum of Understanding on the Establishment of the BIMSTEC Cultural Industries Commission (BCIC) and BIMSTEC Cultural Industrial Observatory (BCIO) ที่ภูฎาน และรับรองร่างปฏิญญาการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ ๓ ซึ่งแสดงเจตนารมณ์และความพยายามในการดำเนินการให้บรรลุตามปฏิญญากรุงเทพฯเมื่อปี ๒๕๔๐

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกได้รับทราบและทบทวนการดำเนินความร่วมมือใน ๑๔ สาขา อาทิ การค้าการลงทุน พลังงาน ขนส่งและการสื่อสาร เป็นต้น ในส่วนของไทยเป็นประเทศนำ (lead country) ใน ๓ สาขา ได้แก่ ประมง (fishery) สาธารณสุข (public health) และการติดต่อเชื่อมโยงระหว่างประชาชน (people-to-people contact) 

ในสาขาประมง กรมประมงของไทยได้จัดโครงการฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชพันธุ์น้ำและการประมงอย่างยั่งยืนในช่วง ๘ ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังจะจัดการฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย

ในประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนและการส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับกรอบความร่วมมือ BIMSTEC กระทรวงการต่างประเทศและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดการประชุมระหว่างประเทศเรื่องการเชื่อมโยงใน BIMSTEC และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนขึ้นที่เชียงใหม่ในปี ๒๕๕๕ รวมทั้งกำหนดจัดตั้งเครือข่ายของหน่วยงานด้านการวิจัย (Think-Tank) ในปี ๒๕๕๗

ไทยแสดงบทบาทสำคัญในการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรี BIMSTEC การพัฒนาด้านเกษตรกรรมและเกษตรกรรมอินทรีย์ การส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน รวมทั้งความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ

BIMSTEC เป็นกรอบความร่วมมือซึ่งริเริ่มโดยไทยเมื่อปี ๒๕๔๐ ตามวิสัยทัศน์การมองตะวันตก   (look west) ของไทยและการมองตะวันออก (look east) ของอินเดียและเอเชียใต้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การส่งเสริมพัฒนาการทางสังคม BIMSTEC มุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือผ่านความช่วยเหลือต่างๆ ในรูปแบบ เช่น การฝึกอบรม การค้นคว้าวิจัยในประเด็นด้านการพัฒนา เป็นต้น

การประชุมระดับผู้นำครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๗ ที่กรุงเทพฯ ส่วนครั้งที่สองจัดที่กรุงนิวเดลีเมื่อปี ๒๕๕๑ ส่วนการประชุมระดับผู้นำครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในช่วงที่เนปาลประธาน

ประเทศกลุ่ม BIMSTEC มีพัฒนาการและเป็นกลุ่มความร่วมมือภูมิภาคที่แข็งแกร่ง และมีศักยภาพด้วย มีประชากรกว่า ๑ ใน ๔ ของประชากรโลก รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมกว่า ๒,๔๖๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถึง ๖.๔% ในปี ๒๕๕๕

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ