คณะนักธุรกิจและผู้แทนหน่วยงานไทยจัดสัมมนาสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าประมงไทย ในงานเอ็กซ์โปด้านอาหารครั้งยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗

คณะนักธุรกิจและผู้แทนหน่วยงานไทยจัดสัมมนาสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าประมงไทย ในงานเอ็กซ์โปด้านอาหารครั้งยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ต.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 1,820 view

เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ที่งาน Salon International de l’Agroalimentaire (SIAL) 2014  ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีชื่อเสียงระดับโลก กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมประมง กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ผนึกกำลังกับสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย จัดสัมมนาในหัวข้อ “Thai Seafood: Advancement of Labour and Social Responsibility” เพื่อนำเสนอสถานการณ์และความคืบหน้าในการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ของไทย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการรักษามาตรฐานการผลิตสินค้าประมงไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสินค้าอาหารที่ดีรวมทั้งเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

คณะผู้แทนไทยได้บรรยายในงานสัมมนาว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายและปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด โดยรัฐบาลปัจจุบันได้บรรจุเป็นวาระระดับชาติและเร่งรัดให้หน่วยงานต่างๆ บูรณาการการแก้ปัญหาทุกจุดที่อยู่ในความรับผิดชอบ โดยมาตรการเร่งด่วนที่สุดคือ การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทยทั้งหมด ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม เพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองสิทธิที่เป็นธรรมตามกฎหมายแรงงาน และไม่ตกเป็นเหยื่อของนายหน้าหรือขบวนการค้ามนุษย์อีก นอกจากนี้ ยังมีมาตรการระยะกลาง เช่น การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการเดินทางเข้าประเทศไทยมาทำงานให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและความต้องการของนายจ้างและลูกจ้างในปัจจุบัน รวมถึงมาตรการระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นทาง เช่น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนเพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวสามารถเดินทางเข้ามาทำงานและกลับประเทศของตนได้ 

ผู้สนใจเข้าร่วมฟังงานสัมมนาครั้งนี้จำนวนมาก ประกอบด้วย องค์กรอิสระภาคเอกชนผู้ซื้อสินค้าประมงรายใหญ่ทั้งในยุโรปและสหราชอาณาจักร และสื่อมวลชน ซึ่งผู้แทนเหล่านี้ได้ตั้งคำถามเจาะลึก ถึงปัญหาต่างๆ ที่เคยปรากฏในสื่อ เช่น ปัญหาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ไทย ปัญหาเรือที่หลีกเลี่ยงการตรวจตรา ฯลฯ โดยผู้บรรยายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาด้วยข้อเท็จจริง ทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งภาคเอกชน สื่อมวลชนและภาคประชาสังคมของต่างประเทศได้รับทราบความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหานี้ของไทย โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แสดงความยินดีที่รัฐบาลไทยเดินทางมาให้ข้อมูลอย่างละเอียดแท้จริง และหวังว่าจะดำเนินความพยายามเช่นนี้ต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ