คณะกรรมการอาเซียนฯ เยี่ยมคารวะประธานคณะกรรมการด้านการต่างประเทศและความมั่นคงแห่งชาติของสภาผู้แทนราษฎรบราซิล

คณะกรรมการอาเซียนฯ เยี่ยมคารวะประธานคณะกรรมการด้านการต่างประเทศและความมั่นคงแห่งชาติของสภาผู้แทนราษฎรบราซิล

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ก.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 533 view
            เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๕๘ เอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลียในฐานะประธานคณะกรรมการอาเซียนในกรุงบราซิเลีย (ASEAN Committee in Brasilia – ACB) ได้นำเอกอัครราชทูตมาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อุปทูตอินโดนีเซีย และอุปทูตสิงคโปร์ เข้าเยี่ยมคารวะนาง Jo Moraes สส และประธานคณะกรรมการ ด้านการต่างประเทศและความมั่นคงแห่งชาติของสภาผู้แทนราษฎรบราซิล โดยมีนาย Atila Lins สส และเลขาธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรบราซิลเข้าร่วมในฐานะผู้แทนประธานรัฐสภาของบราซิล
 
            โอกาสดังกล่าว นาง Moraes กล่าวต้อนรับ ACB และแจ้งว่าการพบหารือครั้งนี้มีความสำคัญยิ่งต่อทั้งบราซิลและประเทศอาเซียน ที่ผ่านมาบราซิลให้ความสำคัญกับการดำเนินความสัมพันธ์และมีความตกลงระหว่างกลุ่ม Mercosur กับกลุ่มประเทศอื่น ๆ มากขึ้น เพราะเชื่อว่าการดำเนินการในลักษณะนี้จะทำให้ทุกประเทศได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
 
            เอกอัครราชทูตฯ ได้เล่าประวัติความเป็นมาของการจัดตั้ง ACB และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดบรรยาย ASEAN Lecture ที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และการจัดเทศกาลอาหารและวัฒนธรรมอาเซียน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเห็นว่าความสัมพันธ์อาเซียน-บราซิล มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นหลังจากบราซิลแต่งตั้งเอกอัครราชทูตบราซิลประจำคณะผู้แทนถาวรอาเซียน เมื่อปี ๒๕๕๔ และเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia – TAC) เมื่อเดือน พ.ย. ๕๕ และบราซิลได้แสดงความประสงค์จะเป็นคู่เจรจา (Dialogue Partner) ของอาเซียนมาโดยตลอด
 
            ในด้านการค้า อาเซียนกับบราซิลมีมูลค่าการค้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือในช่วง ๑๐ ปี  ที่ผ่านมา (ค.ศ. ๒๐๐๔ – ๒๐๑๔) มูลค่าการค้ารวมบราซิล – อาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๘๐ จาก ๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นประมาณ ๒๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี ค.ศ. ๒๐๑๔ บราซิลได้เปรียบดุลการค้ากับอาเซียนเกือบ ๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการค้าของบราซิลกับอาเซียนคิดเป็นร้อยละ ๔.๔ ของมูลค่าการค้ารวมของบราซิลกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เอกอัครราชทูตฯ เห็นว่าปลายปี ๒๕๕๘ สมาชิกอาเซียนจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งมีประชากรรวมกว่า ๖๒๐ ล้านคน จะทำให้มีการไหลเวียนของการค้า การลงทุน การบริการ รวมถึงแรงงานกันได้อย่างเสรีมากขึ้น ตลอดจนการที่อาเซียนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะทำให้มีประชากรรวมกันกว่า ๒พันล้านคน จึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงด้านการค้าและการลงทุนสำหรับบราซิล พร้อมย้ำว่า การพบหารือในครั้งนี้ถือเป็นจังหวะก้าวที่สำคัญของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อาเซียน – บราซิลที่จะช่วยส่งเสริมให้ทั้ง ๒ ภูมิภาคมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ