เมื่อวันที่ ๑๔ – ๑๘ ก.ค. ๒๕๕๘ นายสุชาติ เลียงแสงทอง กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง นำคณะนักธุรกิจซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารเอกชนรายใหญ่ของมณฑลยูนนาน ๘ ราย เดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อศึกษาศักยภาพการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย และเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นที่จะนำไปสู่การกระตุ้นและส่งเสริมให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนประเทศไทย
วันที่ ๑๕ ก.ค. ๒๕๕๘ คณะฯ ได้เข้าพบหารือกับนายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ สภาหอการค้าฯ ได้เชิญสมาชิกสภาหอการค้าฯ รวม ๒๑ ราย ในสาขาที่อยู่ในความสนใจของฝ่ายจีน เข้าร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย ซึ่งภาคเอกชนไทย ๖ รายสนใจที่จะส่งออกผลไม้ไทยไปจีน (ทุเรียน ลำไย เงาะ มะพร้าวน้ำหอม ชมพู่ และฝรั่ง) ลงทุนร่วมกับฝ่ายจีนด้านการพัฒนาโลจิสติกส์ ดำเนินธุรกรรมทางการเงิน และพัฒนาเว็บไซต์เพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรไทยในจีน
วันที่ ๑๖ ก.ค. ๒๕๕๘ กงสุลใหญ่สุชาติฯ ได้นำคณะฯ เข้าเยี่ยมคารวะและหารือเรื่องความร่วมมือกับนางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ณ กระทรวงการต่างประเทศ
ต่อมาในช่วงบ่าย ได้รับฟังการบรรยายเกี่ยวการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมีนางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. เป็นประธาน โดยได้เชิญผู้แทน BOI กรมศุลกากร กรมสรรพากร และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมบรรยายให้ข้อมูลแก่คณะฯ
นอกจากนี้ คณะฯ ได้ร่วมการเจรจาธุรกิจกับภาคเอกชนของไทย อาทิ บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด (เครือ ThaiBev) มีธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์และเมล็ดกาแฟ ซึ่งคณะฯ สนใจที่จะสั่งซื้อเมล็ดกาแฟจากบริษัทฯ
บริษัท General Electronic Commerce Services จำกัด ดำเนินธุรกิจให้บริการการค้าออนไลน์ โดยจะนำเว็บไซต์ Thai Fruits ของบริษัท Kunming Zhan Dian Culture Communication จำกัด มาเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลและระบบของ GEC เพื่อให้ลูกค้าชาวจีนสามารถสั่งซื้อสินค้าไทยจากฐานข้อมูลของ GEC ได้ และลูกค้าชาวไทยของ GEC ก็สามารถสั่งซื้อสินค้าจีนผ่านเว็บไซต์ Thai Fruits ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นการขยายตลาดที่ต้นทุนต่ำแต่ครอบคลุมวงกว้าง
สวนส้มโอกิตติรัช อัมพวา เพื่อเจรจาการนำเข้าส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ไปจีน โดย บริษัท Yunnan De Fu Agriculture Development จำกัด และบริษัท Kunming Pa Wa Import&Export Trade จำกัด ได้ลงนามสัญญากับ บริษัทนำเข้าผลไม้ในกรุงปักกิ่ง เพื่อส่งผลไม้ไทยมูลค่า ๔๐๐ ล้านหยวน/ปี (หรือประมาณ ๒,๒๐๐ ล้านบาท) ขณะนี้ สามารถจัดส่งผลไม้ไทยให้บริษัทดังกล่าวเป็นมูลค่า ๒๐๐ ล้านหยวนแล้ว
นักธุรกิจจีนที่เยือนไทยครั้งนี้มีความสนใจที่จะดำเนินธุรกิจในไทยหรือร่วมลงทุนกับฝ่ายไทย การพบกับหน่วยงานไทยของภาครัฐและเอกชน ทำให้ได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาวะเศรษฐกิจไทย นโยบายการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย รวมถึงได้สัมผัสถึงพลวัตรทางเศรษฐกิจของไทย เกิดความเชื่อมั่นว่า ไทยยังเป็นตลาดนำเข้าและส่งออกที่สำคัญของจีน ไม่ว่าจะเป็นด้านประเภทสินค้า คุณภาพสินค้า ราคาสินค้า สิทธิประโยชน์ในการลงทุนในกิจการที่กำหนดในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-จีน
โดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งประเทศจีนมีความปริมาณต้องการสูง อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผลประโยชน์ตกไปถึงเกษตรกรไทยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ฝ่ายไทยอาจจำเป็นต้องพัฒนากลไกที่ช่วยให้มีการรักษามาตรฐานสินค้า ซึ่งรวมถึงคุณภาพ บรรจุภัณฑ์ และการกำหนดราคามาตรฐาน เพื่อป้องกันผู้ซื้อจีนกดราคาหรือผู้ขายไทยขายตัดราคา รวมถึงการส่งเสริมให้มีการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรอื่นตามฤดูกาลและเหมาะสมกับสภาพการเพาะปลูกของไทย ควบคู่ไปกับผลผลิตที่ตลาดจีนต้องการ ซึ่งในทางหนึ่งจะเป็นการขยายตลาดสำหรับผลผลิตทางการเกษตรของไทย และในอีกทางหนึ่ง จะเป็นการป้องกันผลผลิตที่ตลาดจีนต้องการล้นตลาด ทั้งนี้ ในระยะยาว ผู้ขายไทยควรพัฒนาศักยภาพให้เป็นผู้ส่งออกให้ได้เช่นกัน