เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ นางสาวดาว วิบูลย์พานิช ผู้อำนวยการกองสันติภาพ ความมั่นคงและการลดอาวุธ กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมพิธีส่งมอบพื้นที่ปลอดภัยที่ได้จากการกวาดล้างทุ่นระเบิดของโครงการ “ปฏิบัติการปรับลดทุ่นระเบิดบริเวณพื้นที่ชายแดนกัมพูชา จังหวัดสุรินทร์ พร้อมทั้งการเผยแพร่ประสบการณ์ที่ได้รับ” (The Implementation and Dissemination of the Experience of Minefield Releasing at Border Area with Cambodia in Surin Province, Thailand) หรือที่เรียกโดยย่อว่า “โครงการ MRCT”ณ บ้านจรัสพัฒนา ตำบลจรัสพัฒนา อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เข้าร่วมในพิธี ได้แก่ นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พลโท วิทยา วชิรกุล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) นายฮัตโตริ ทาคาโนริ เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พลเอก ธำรงศักดิ์ ดีมงคล ประธานสมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย (TDA) และผู้แทนส่วนราชการท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง
พิธีส่งมอบพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าวนับเป็นการเสร็จสิ้นการดำเนินการเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดตกค้างในพื้นที่บ้านจรัสพัฒนา อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ตามโครงการ ซึ่งดำเนินการโดยสมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย (Thai Civilian Deminer Association – TDA) ภายใต้การสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย และโดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านกองทุน Japan-ASEAN Integration Fund (JAIF) ผ่านการประสานงานของกระทรวงการต่างประเทศ
โครงการ MRCT เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๗ และใช้เวลาปฏิบัติงานทั้งสิ้นประมาณ ๑ ปี ๖ เดือน สามารถเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและสรรพาวุธสงครามที่ยังไม่ระเบิด (Unexploded Ordnances – UXOs) ซึ่งตกค้างในพื้นที่ใกล้แนวชายแดนไทย-กัมพูชา จำนวน ๒,๗๒๙ ทุ่น ส่งผลให้สามารถส่งมอบพื้นที่ปลอดภัยขนาด ๒,๔๔๕,๔๙๕.๔๙ ตารางเมตร ให้แก่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ใช้ประโยชน์ในการเก็บของป่าเพื่อการดำรงชีพต่อไป ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ MRCT ไม่เกิดอุบัติเหตุแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหรือประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงมีพื้นที่ที่มีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ จำนวน ๑๗ จังหวัด รวมเป็นพื้นที่ประมาณ ๔๗๐ ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นผลตกค้างมาจากความขัดแย้งและการสู้รบในอดีต ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine Ban Convention) จึงมุ่งมั่นปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตกค้างให้หมดไปจากแผ่นดินไทย เพื่อป้องกันมิให้เกิดความสูญเสียแก่ประชาชน และเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่เหล่านั้นอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งนี้ โครงการ MRCT เป็นตัวอย่างความร่วมมือที่ดีระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในการส่งเสริมการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังจะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการไปมาหาสู่ตามแนวชายแดนระหว่างชาวไทยกับชาวกัมพูชาซึ่งนับเป็นการส่งเสริมความเชื่อมโยงของภูมิภาคอีกด้วย