การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๕

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,788 view

                    เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๕ ณ นครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามที่ประชุมได้หารือภายใต้หัวข้อ “การเติบโตอย่างมีนวัตกรรม การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ  และการจ้างงานอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล (Innovative Growth, Inclusion and Sustainable Employment in the Digital Age)” และ “พลังขับเคลื่อนใหม่ทางการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงในภูมิภาค (New Drivers for Regional Trade, Investment and Connectivity)”

                   ที่ประชุมเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน ทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอื่น ๆ ทำให้เอเปคต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และร่วมกันกำหนดทิศทางเพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างมีคุณภาพ สร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม

                 นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอมุมมองของไทยโดยเห็นว่า สิ่งที่สมาชิกเอเปคสามารถเริ่มดำเนินการเพื่อวางรากฐานไปสู่การเติบโตอย่างมีนวัตกรรมครอบคลุมและการจ้างงานที่ยั่งยืนในยุคดิจิทัล ได้แก่ การพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการเตรียมกำลังคนทุกภาคส่วนให้สอดรับกับยุคดิจิทัล และการสนับสนุน  สตารท์อัพและผู้ประกอบการใหม่ ๆ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยการส่งเสริมให้เกิดความทั่วถึงทางดิจิทัล และการส่งเสริมธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสีเขียว ซึ่งในเรื่องนี้ ไทยได้มีบทบาทนำร่วมกับเปรูในการจัดทำยุทธศาสตร์เอเปคว่าด้วยการส่งเสริม MSMEs ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม (APEC Strategy for Green, Sustainable and Innovative MSMEs) นอกจากนี้ กลไกประชารัฐของไทยถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการร่วมกันพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง

                  เอเปคได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตที่ครอบคลุม ที่ประชุมได้ชื่นชมการจัดทำกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล (APEC Framework on Human Resource Development in the Digital Age) และวาระการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม (Action Agenda for Advancing Economic, Financial and Social Inclusion) ซึ่งส่งเสริมการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

                 ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคล้วนเห็นพ้องว่า “นวัตกรรม” และ “เทคโนโลยีดิจิทัล” ได้กลายมาเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน  เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไทยเห็นว่า เอเปคควรให้ความสำคัญกับ (๑) การปฏิรูปโครงสร้างและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งไทยมีนโยบาย “ประเทศไทย ๔.๐” เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจสู่ Value Based Economy เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ (๒) การส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุนซึ่งไทยสนับสนุนการดำเนินงานของเอเปคในด้าน Ease of Doing Business และการจัดทำกรอบความร่วมมือเอเปคว่าด้วยการอำนวยความสะดวกพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (APEC Cross Border E-Commerce Facilitation Framework) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ SMEs เข้าถึงตลาดโลกได้ง่ายขึ้น และมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานโลกได้โดยตรง (๓) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางดิจิทัล โดยไทยมีโครงการเน็ตประชารัฐด้วยการขยายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และการลงทุนเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบ Asia-Africa-Europe-1 (AAE-1) เพื่อพัฒนาโครงข่ายเชื่อมไทยสู่โลก ซึ่งไทยยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกับสมาชิกเอเปคในเรื่องนี้เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ และ (๔) การเรียกความเชื่อมั่นในระบอบการค้าเสรีท่ามกลางกระแสการปกป้องทางการค้าและการต่อต้านโลกาภิวัฒน์ โดยเอเปคควรเผยแพร่ข้อมูลผลประโยชน์ของการค้าเสรีแก่สาธารณชนให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ไทยได้ร่วมกับสมาชิกเอเปคอื่นที่หวังให้การประชุมระดับรัฐมนตรีภายใต้องค์การการค้าโลก ครั้งที่ ๑๑ ซึ่งจะมีขึ้นที่กรุงบูเอโนสไอเรส ประสบความสำเร็จ

                 นอกจากนี้ ผู้นำฯ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับอนาคตและทิศทางของเอเปคหลังการบรรลุเป้าหมายโบกอร์ในปี ๒๕๖๓ (ค.ศ. ๒๐๒๐) โดยไทยมองว่า วิสัยทัศน์สำหรับ APEC Post-2020 ควรสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเสนอประเด็นที่เอเปคอาจพิจารณาให้ความสำคัญในอนาคต ได้แก่ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาบุคลากร ความเชื่อมโยง และส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทมากขึ้นในการบริหารธรรมาภิบาลโลกที่มีความโปร่งใสและเท่าเทียม

                   ที่ประชุมผู้นำเอเปคได้รับรองปฏิญญาดานังและถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๒๙ ซึ่งทุกฝ่ายได้แสดงความยินดีต่อเวียดนามถึงความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี ๒๕๖๐ และพร้อมสนับสนุนปาปัวนิวกินี เจ้าภาพคนต่อไปในการจัดการประชุมเอเปคในปี ๒๕๖๑