รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย - ยุโรป ครั้งที่ ๑๓ ณ กรุงเนปยีดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย - ยุโรป ครั้งที่ ๑๓ ณ กรุงเนปยีดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 3,806 view
          เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย - ยุโรป (ASEM Foreign Ministers’ Meeting) ครั้งที่ ๑๓ ณ กรุงเนปยีดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ภายใต้หัวข้อ “การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Strengthening Partnership for Peace and Sustainable Development) ที่ประชุมได้หารือร่วมกันในประเด็น (๑) การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสันติภาพและการพัฒนาที่งยืน (Synergizing Peace and Sustainable Development) และ (๒) การส่งเสริมพลวัตการดำเนินงานและความเชื่อมโยงของอาเซมในทศวรรษที่ ๓ (3rd Decade of ASEM: Making ASEM Partnership More Dynamic and Connected) 
          การประชุมครั้งนี้มีนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นเจ้าภาพและเป็นประธานการประชุมฯ โดยมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ รัฐมนตรีต่างประเทศหรือผู้แทนระดับสูงของ ๕๑ ประเทศ จากทวีปเอเชียและทวีปยุโรป รวมทั้งผู้แทนระดับสูงด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงของสหภาพยุโรป และเลขาธิการอาเซียน
          ที่ประชุมได้หารืออย่างกว้างขวางเกี่ยวกับบทบาทของอาเซมในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน ท่ามกลางการเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล สถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงพลวัตการขับเคลื่อนความเชื่อมโยงระหว่างเอเชียและยุโรปในสามเสาหลักของอาเซม ได้แก่ เสาหลักด้านการเมือง เสาหลักด้านเศรษฐกิจ และเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม
          ที่ประชุมได้สนับสนุนวาระการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่สมาชิกอาเซมให้ความสำคัญ อาทิ การพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ การสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม การอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน การศึกษา การบริหารจัดการภัยพิบัติ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพลังงานทดแทน รวมทั้งความร่วมมือทางทะเล การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ การต่อต้านการก่อการร้าย และความมั่นคงทางไซเบอร์ เป็นต้น
          สำหรับการประชุมในครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเห็นว่า สันติภาพที่ยั่งยืนย่อมมาจากการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุม และเน้นการเเก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งและความไม่สงบ นอกจากนี้ ไทยยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและสังคม และย้ำว่า การพัฒนาให้เกิดความสงบและการพัฒนาที่ยั่งยืนจำเป็นต้องเน้นที่ “คน” เป็นหลัก หากประชาชนมีชีวิตที่ดี ประเทศจะมั่นคงและมั่งคั่ง
          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอให้นำหลักของความยั่งยืน (sustainability) มาใช้ใน ๓ เสาหลักของอาเซมในทุกมิติ ทั้งด้านการเมือง โดยให้เพิ่มช่องทางการหารือเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกันให้มากขึ้น (more dialogues for more understanding) ด้านเศรษฐกิจ ให้มีการพัฒนาความเชื่อมโยงและการส่งเสริมความร่วมมือในการปรับปรุงระเบียบและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน (more connectivity and coordination on rule and regulations on trade and investment) และด้านสังคม/วัฒนธรรม ให้ผลักดันแนวทางการเติบโตอย่างสมดุล โดยคำนึงถึงการรักษาสภาพแวดล้อมและสังคม โดยยึดถือประชาชนเป็นหลัก (more balanced growth with environmental and social protection with people-centered) รวมทั้งยังได้กล่าวถึงการจัดการประชุมอาเซียน - สหภาพยุโรป ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่กรุงเทพฯ ว่า เป็นหนทางที่ถูกต้องในการร่วมมือระหว่างเอเชียกับยุโรปเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
          นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้พบหารือทวิภาคีกับหัวหน้าคณะผู้แทนระดับรัฐมนตรีประเทศสมาชิกอาเซม ได้แก่ สหภาพยุโรป เยอรมนี สวีเดน ฮังการี จีน เอสโตเนีย โปรตุเกส และสหราชอาณาจักร เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันในกรอบอาเซม และความสัมพันธ์ทวิภาคี รวมทั้งได้พบปะกับเยาวชนไทย ๒ ราย ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ Model ASEM (การจำลองสถานการณ์การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซม) ครั้งที่ ๘ ร่วมกับเยาวชนจากประเทศสมาชิกอาเซมอื่น ๆ อีก ๕๑ ประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมคู่ขนานของการประชุมระดับผู้นำและรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซม จัดโดยมูลนิธิเอเชีย - ยุโรป (Asia-Europe Foundation) เป็นประจำทุกปี
          อนึ่ง การประชุมเอเชีย – ยุโรป เป็นเวทีหารือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียกับยุโรปในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายสนใจร่วมกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ขยายความร่วมมือ และเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกัน โดยครอบคลุม ๓ เสาหลัก ได้แก่ (๑) การเมือง (๒) เศรษฐกิจ และ (๓) สังคม วัฒนธรรม การศึกษาและอื่น ๆ โดยมีการประชุมและกิจกรรมในทุกระดับ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ทั้งนี้ สหภาพยุโรปจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดเอเชีย - ยุโรป ครั้งที่ ๑๒ ที่กรุงบรัสเซลส์ ในปี ๒๕๖๑ และสเปนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย - ยุโรป ครั้งที่ ๑๔ ในปี ๒๕๖๒
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ