คำกล่าวในช่วงการแถลงข่าวร่วมของนายกรัฐมนตรีภายหลังการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย – ลาว ครั้งที่ ๓ วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ นครหลวงเวียงจันทน์

คำกล่าวในช่วงการแถลงข่าวร่วมของนายกรัฐมนตรีภายหลังการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย – ลาว ครั้งที่ ๓ วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ นครหลวงเวียงจันทน์

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ธ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,473 view
คำกล่าวในช่วงการแถลงข่าวร่วมของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ภายหลังการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย – ลาว ครั้งที่ ๓
วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๑
 
*   *   *   *   *
 
ฯพณฯ นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
 
พี่น้องสื่อมวลชนทุกท่าน
 
ผมรู้สึกยินดีที่ได้กลับมาเยือน สปป. ลาวอีกครั้งหนึ่ง ตามคำเชิญของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด เพื่อเข้าร่วมการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ หรือ Joint Cabinet Retreat (JCR) ไทย – ลาว ครั้งที่ ๓ และขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สปป. ลาวและพี่น้องชาวลาวที่ให้การต้อนรับคณะรัฐมนตรีไทยอย่างอบอุ่นดุจญาติสนิทและเป็นมิตรยิ่ง
 
ผมขอกล่าวเสริมถ้อยแถลงข่าวของ ฯพณฯ อีกเล็กน้อย โดยขอย้ำว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้มีโอกาสเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ บุนยัง วอละจิด ประธานประเทศ สปป. ลาว และหารืออย่างเป็นกันเองกับ ฯพณฯ ทองลุนและคณะรัฐมนตรีของ สปป. ลาว ในการเยือนลาวครั้งนี้
 
วันนี้ ผม รองนายกรัฐมนตรี ๒ ท่าน และรัฐมนตรีจาก ๑๓ กระทรวง ได้เดินทางมาร่วมประชุมที่ นครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย – ลาว/ ลาว – ไทยในประเด็นสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลของเราทั้งสองได้เห็นชอบกันให้ยกระดับความสัมพันธ์ไทย – ลาวให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อไปสู่ศักราชใหม่ของความเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อความเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ร่วมกัน โดยไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ดังกล่าวใน ๓ มิติ ดังนี้
 
๑. ด้านการบริหารจัดการชายแดน ไทยยืนยันที่จะร่วมพัฒนาให้ชายแดนไทย – ลาวเป็นชายแดนแห่งความเจริญรุ่งเรือง เพื่อเผชิญความท้าทายด้านความมั่นคงและรับมือกับภัยจากการลักลอบค้ายาเสพติด และการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สองฝ่ายตกลงที่จะเพิ่มบทบาทของกองทัพในการร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดนไทย – ลาว โดยใช้กำลังทหารในพื้นที่สนับสนุนการปฏิบัติงาน
 
๒. ด้านการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงไร้รอยต่อ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันผ่านการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อตามแผนแม่บท ACMECS (ACMECS Master Plan) โดยได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เป็นสองเท่าภายในปี ๒๕๖๔ (จากปี ๒๕๕๙) หรือเป็นจำนวน ๑๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ฝ่ายไทยกำลังดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ ๕ (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) และพิจารณาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงใน สปป. ลาวที่เชียงแมน – หลวงพระบาง ส่วนฝ่ายลาวได้ตกลงที่จะเร่งรัดเปิดพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (CCA) ที่ด่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ ๒ (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) ภายในปี ๒๕๖๒ เพื่อลดระยะเวลาในการตรวจปล่อยสินค้าลง และเพิ่มเส้นทางหมายเลข ๑๒ เข้าไปเป็นเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อให้คนและสิ่งของของเราทั้งสองประเทศสามารถเดินทางไปมาระหว่างกันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
๓. ด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เพื่อให้ สปป. ลาวมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง ไทยจึงสนับสนุนให้ลาวใช้ประโยชน์จากโครงการตามพระราชดำริใน สปป. ลาวให้มากขึ้น และจะร่วมกับลาวจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านการพัฒนา (Joint Development Strategy: JDS) ไทย – ลาว และแผนแม่บทการพัฒนาเชื่อมโยงการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาว
 
ในฐานะตัวแทนประชาชนชาวไทย ผมมีความยินดีที่ได้มีโอกาสมอบเงินจากประชาชนชาวไทยเพิ่มเติมอีก ๗๕ ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือบูรณะฟื้นฟูแขวงอัตตะปือจากเหตุอุทกภัยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยไทยจะช่วยก่อสร้างสะพานและที่พักชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัย และให้ความช่วยเหลือในการพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ตามความประสงค์ของฝ่ายลาว ในโอกาสเดียวกัน ผมยังได้ส่งมอบอาคารตามโครงการพัฒนาวิทยาลัยพลศึกษา สปป. ลาวที่กระทรวงการต่างประเทศให้ความช่วยเหลือกับฝ่ายลาวอีกด้วย
 
ผมยินดีที่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ/ เอกสารต่าง ๆ ในวันนี้ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจร่วมกันถึง ๗ ฉบับ และบันทึกความเข้าใจระหว่างภาคเอกชนของสองประเทศอีกจำนวนหนึ่ง
 
บันทึกความเข้าใจและเอกสารข้างต้นล้วนแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่หน่วยงานของทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันเร่งรัดความร่วมมือต่าง ๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น ด้านยุติธรรม กฎหมาย คมนาคม การซื้อไฟฟ้า และการตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น
 
หลังจากการแถลงข่าวนี้ ผมและท่านทองลุนฯ จะเข้าร่วมพิธีครบรอบ ๕๐ ปี รัฐพิธีสายส่งไฟฟ้า ไทย – ลาว นอกจากนี้ ปี ๒๕๖๒ เป็นวาระครบรอบ ๒๕ ปีสะพานมิตรภาพ ๑ (หนองคาย – เวียงจันทน์) เชื่อมสองประเทศ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ นอกจากนี้ ในปี ๒๕๖๓ จะเป็นโอกาสพิเศษของการครบรอบ ๗๐ ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับลาว ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและลาวที่มีความแนบแน่นและใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น
 
ในการประชุมครั้งนี้ ผมและคณะรัฐมนตรีไทยและลาวได้เห็นชอบร่วมกันในเรื่องที่เป็นประโยชน์ และมีความสำคัญต่อความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสองประเทศและเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งไทย และ สปป. ลาว เพื่อสานต่อสิ่งที่คนรุ่นก่อนได้สร้างไว้ให้มั่นคงและเข็มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป
 
ท้ายนี้ ผมขอขอบคุณ ฯพณฯ ทองลุนฯ และคณะรัฐมนตรี สปป. ลาวอีกครั้ง สำหรับความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะร่วมกันยกระดับความสัมพันธ์ไทย – ลาว เข้าสู่ศักราชใหม่ของความเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อความเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยไทยและลาวจะ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ไปด้วยกัน
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ