คำกล่าวที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ในการเปิดงานครบรอบ ๗๐ ปี การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ ๑ ปี การประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

คำกล่าวที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ในการเปิดงานครบรอบ ๗๐ ปี การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ ๑ ปี การประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ธ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,391 view

คำกล่าวสำหรับ ออท.วิชาวัฒน์ อิศรภักดี ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ
ในการเปิดงานครบรอบ ๗๐ ปี การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ
๑ ปี การประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น ๕ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

ท่านอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ

ท่านอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

คุณ Deirdre Boyd ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยและผู้แทนโครงการสหประชาชาติประจำประเทศไทย

คุณ Cynthia Veliko ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วิทยากรและแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

 

      ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมีอายุครบ ๗๐ ปี แล้ว ในธรรมเนียมไทย ก็ถือเป็นช่วงชีวิตที่สำคัญ ลูกหลานมักจัดงานแซยิดให้คุณพ่อคุณแม่ วันนี้ก็ถือว่า เรามาร่วมจัดงานแซยิดให้ปฏิญญาฯ และผู้คนทั่วโลกที่ได้รับการเคารพและคุ้มครองสิทธิเพราะเจตนารมณ์และความยึดมั่นต่อปฏิญญาฯ ของภาคส่วนต่างๆ  การจัดงานในวันนี้ เราตั้งใจเน้นในเรื่อง caring and sharing เพราะเรารู้สึกว่าบ่อยครั้ง คนมองสิทธิมนุษยชนในแง่ลบ มองว่านักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชอบ make unreasonable demands หรือเรียกร้องอย่างเดียว ไม่เคารพหน้าที่หรือสิทธิต่อผู้อื่น ในขณะเดียวกันผู้ที่ทำงานสิทธิมนุษยชน ก็มองว่ารัฐไม่รับฟัง  ภาพลักษณ์ต่อการคุยกันเรื่องสิทธิมนุษยชนหลายครั้งจึงกลายเป็นภาพของการปะทะ การโต้แย้ง การไม่ลงรอยกัน  กระทรวงการต่างประเทศกับหน่วยงานร่วมจัดอยากให้มุมมองต่อการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของการที่ เรามีใจเอื้อเฟื้อเผื้อแผ่ต่อกัน เราเป็นเพื่อนทุกข์กัน โดยไม่แยกเพศสภาพ สีสัน วรรณะ ชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนาหรืออื่นๆ  

      ผมขอใช้โอกาสนี้สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในไทยในห้วง ๗๐ ปีที่ผ่านมา

      (๑) ไทยมีต้นทุนที่ดีในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน -- สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องไกลตัว สังคมไทยมีความโอบอ้อมอารีย์เป็นพื้นฐาน เป็นสังคมที่มีความเมตตา ห่วงใยและแบ่งปันกัน ในขณะเดียวกัน ประชาชนชาวไทยได้ร่วมกันก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย ปัจจุบัน ไทยเป็นภาคีตราสารระหว่างประเทศหลักด้านสิทธิมนุษยชน ๗ ฉบับ มีพัฒนาการเชิงบวกทั้งด้านกฎหมายและการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความมุ่งมั่นในระดับสูง ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๑ พ.ย. ๒๕๖๐ เห็นชอบการประกาศสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ โดยเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อน Thailand 4.0 และการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับปี ๒๕๖๑-๒๕๖๒ สิ่งเหล่านี้ เป็นทุนที่สำคัญที่ทำให้ไทยสามารถเป็นผู้เล่นที่สำคัญในเวทีภูมิภาคและระหว่างประเทศ

      (๒) ไทยต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาและต่อยอดการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน -- ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องของทัศนะในการทำงาน ตราบใดที่เรายอมรับว่า มีความท้าทาย เราจึงจะสามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้ ความท้าทาย คือ โอกาสที่จะปรับปรุงให้ก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน กระทรวงการต่างประเทศยึดมั่นในบทบาท “เชื่อมไทยสู่โลก เชื่อมโลกสู่ไทย” ในการส่งเสริมให้หน่วยงานนำมาตรฐานระหว่างประเทศที่จะเป็นประโยชน์ต่อไทยมาประยุกต์ใช้ และการเผยแพร่แบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของไทยในเวทีระหว่างประเทศ

      (๓) นวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็น -- ผมดีใจที่เห็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่หลาย ๆ คนไม่เพียงชี้ประเด็น แต่เสนอวิธีการแก้ไขรูปแบบใหม่ ๆ ที่จับต้องได้ ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานหุ้นส่วน ได้จัดเวที Collaborating for Impact: Role of Private Sector and Civil Society in Achieving SDGs เพื่อให้วิสาหกิจเพื่อสังคมขนาดเล็กๆ  นำเสนอผลงานและแนวคิดและเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองแก่กันและกัน สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากงานนี้ คือ นวัตกรรมที่จะขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากขนาดใหญ่โต แต่เริ่มจากขนาดเล็กๆ แล้วขยายต่อยอด และเกิดเพราะความห่วงใยและแบ่งปัน

      (๔) ประการสุดท้ายและสำคัญที่สุด คือ การเริ่มลงมือทำ -- ความตั้งใจมีความสำคัญ แต่ความตั้งใจนั้นจะเกิดผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการแปรไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะการทำงานระดับพื้นที่ เราทุกคน ทั้งระดับบุคคล องค์กร ภาคส่วน และประเทศ สามารถมีส่วนในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นกุญแจที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

      การจัดงานในวันนี้เป็นอีกหนึ่งในความพยายามในการเข้าถึงกลุ่มเยาวชนและกลุ่มคนรุ่นใหม่ ๆ ผ่านสื่อและวิธีใหม่ ๆ ผมดีใจที่เห็นศิลปินและคนรุ่นใหม่มีส่วนสำคัญในการผลักดันงานด้านสิทธิมนุษยชน เช่น การทำงานเพื่อผู้ลี้ภัยของคุณปู ไปรยาฯ นิทานเด็กชายก้อนเมฆที่แต่งขึ้นโดยน้องพลอย กนกนันท์ฯ การศึกษาวิจัยสื่อไทยของ อ.อลงกรณ์ฯ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และศิลปะ street art ของคุณ Alexface และ Mue Bon (อ่านว่า มือบอน) เป็นตัวอย่างที่ดีและน่าชื่นชม

      ในฐานะที่เราร่วมกันจัดงานแซยิดให้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ก็อยากจะเห็นว่า ไม่ใช่การเฉลิมฉลองด้วยถ้อยคำสวยหรู แต่เราทุกคนจะรับเอาจิตวิญญาณของปฏิญญาฯ ไปปฏิบัติและเผยแพร่จริงๆ นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา แค่การกระทำเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันของเราก็มีความหมาย

      กระทรวงการต่างประเทศขอเป็นอีกกำลังใจให้กับผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทุกท่าน วันนี้เราได้มาร่วมรำลึกความสำเร็จและความท้าทาย และมองไปข้างหน้า โดย ๗๐ ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นจิตวิญญาณและแนวทางในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน  รัฐบาลได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ  ดังนั้น เราทุกคนไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม วิชาการ ชุมชน ต้องมาร่วมกันทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า เราต้องเชื่อมั่นว่า การร่วมมือกันบนพื้นฐานของการห่วงใยและแบ่งปัน จะนำไปสู่สังคมที่น่าอยู่และเป็นสุข ก้าวหน้า และยั่งยืนต่อไปในอนาคต

      ขอบคุณครับ