การบรรยายสรุปแก่คณะทูตานุทูตและองค์การระหว่างประเทศ เกี่ยวกับผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย

การบรรยายสรุปแก่คณะทูตานุทูตและองค์การระหว่างประเทศ เกี่ยวกับผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565

| 10,240 view

คณะทูตานุทูตและองค์การระหว่างประเทศร่วมรับฟังผลลัพธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ปี ๒๕๖๕ และรับทราบสาระสำคัญของเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เอกสารที่วางรากฐานให้เอเปคมีทิศทางการทำงานด้านความยั่งยืนอย่างครอบคลุมและเป็นระบบ

เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย ได้เป็นประธานการบรรยายสรุปแก่คณะทูตานุทูตและองค์การระหว่างประเทศเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ปี ๒๕๖๕ ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีผู้แทนจาก คณะทูตานุทูตและองค์การระหว่างประเทศในประเทศไทยเข้าร่วมกว่า ๘๐ ราย เพื่อรับฟังผลลัพธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ปี ๒๕๖๕ และรับทราบสาระสำคัญของเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เอกสารที่วางรากฐานให้เอเปคมีทิศทางการทำงานด้านความยั่งยืนอย่างครอบคลุมและเป็นระบบ

ตลอดปี ๒๕๖๕ ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมกว่า ๑๐๐ รายการ ซึ่งรวมถึงการประชุมระดับคณะทำงานและคณะกรรมการต่าง ๆ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ๔ ครั้ง การประชุมระดับรัฐมนตรีรายสาขา ๘ สาขา (ประกอบด้วยด้านการค้า การท่องเที่ยว ป่าไม้ สาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร สตรี SMEs และการคลัง) การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๓๓ และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๙

ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคปีนี้ ไทยได้บรรลุผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ๓ ข้อตามที่ไทยตั้งเป้าไว้ ได้แก่

(๑) การผลักดันให้เอเปคทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกในบริบทหลังโควิด-๑๙ โดยมีแผนงานการขับเคลื่อนการหารือที่ต่อเนื่องระหว่างปี ค.ศ. ๒๐๒๓-๒๐๒๖ เพื่อให้เอเปคสามารถเดินหน้า
ได้อย่างชัดเจน
(๒) การฟื้นฟูการเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกปลอดภัย โดยคณะทำงานเฉพาะกิจที่ไทยเป็นประธานได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้เอเปคมีกลไกและแนวทางการรับมือกับความท้าทายในอนาคต และ
(๓) การรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว” ซึ่งเป็นเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนฉบับแรกของเอเปค โดยเน้นเป้าหมายหลัก ๔ ข้อ ได้แก่ การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืน และการลดและจัดการของเสียอย่างยั่งยืน โดยได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.bangkokgoals.apec.org รวบรวมแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและข้อริเริ่มของสมาชิกเอเปคให้เป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้สนใจสืบค้น ศึกษา และประยุกต์ใช้ต่อไป

นอกจากนี้ การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๓๓ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ รัฐมนตรีเอเปคได้รับรองถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๒ และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๙ เมื่อวันที่ ๑๘ - ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม ๒ ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๒ และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสะท้อนผลสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพเอเปค ๒๕๖๕ ของไทยที่ขับเคลื่อนให้เอเปคสามารถเดินหน้าทำงานท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายในปัจจุบันและคงความสำคัญในการเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาค

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

Tag