การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565

| 9,297 view

เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partners: DPs) ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในรูปแบบการประชุมแบบผสม (hybrid) ที่กรุงเทพฯ และมีเอกอัครราชทูตอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงของไทย และนายกิ่งโพธิ์แก้ว พมมะหาไซ เจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงของ สปป. ลาว เป็นประธานร่วมของการประชุมฯ

การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่าง ACMECS กับ DPs โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแจ้งพัฒนาการล่าสุดของ ACMECS ให้ DPs ได้รับทราบ และหารือเกี่ยวกับบทบาทของ DPs ในการสนับสนุน ACMECS รวมทั้งรับรองเอกสารแผนพัฒนาร่วม (Joint Development Plans: JDPs) ระหว่าง ACMECS กับ DPs กลุ่มที่ ๑ ของ ACMECS เป็นรายประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสหรัฐอเมริกา รวม ๖ ฉบับ ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ACMECS กับแต่ละ DPs นอกจากนี้ ไทยยังได้เชิญอิสราเอลและนิวซีแลนด์ ซึ่งได้รับเชิญเข้าร่วมเป็น DPs กลุ่มที่ ๒ ของ ACMECS เข้าร่วมการประชุมฯ ด้วย

ในระหว่างการประชุม ฝ่าย ACMECS แจ้งพัฒนาการล่าสุดของ ACMECS ๓ ประการ ได้แก่ (๑) การดำเนินการภายใต้แผนแม่บท ACMECS (ค.ศ. ๒๐๑๙-๒๐๒๓) (๒) การจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS (ACMECS Interim Secretariat: AIS) ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นที่ไทยและเริ่มดำเนินการในไตรมาสที่ ๑ ของปีปฏิทิน ๒๕๖๖ โดยมีสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute: MI) เป็นองค์กรสนับสนุน (back office) และ (๓) ความคืบหน้าในการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS (ACMECS Development Fund: ACMDF) เพื่อการระดมทุนเพื่อขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือในกรอบ ACMECS

ที่ประชุมได้รับรอง JDPs ทั้ง ๖ ฉบับ โดยประเทศสมาชิก ACMECS และ DPs กลุ่มที่ ๑ ของ ACMECS รวมทั้งอิสราเอลและนิวซีแลนด์ ได้ยืนยันความมุ่งมั่นในการร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านกรอบ ACMECS โดยมีสาขาความร่วมมือสำคัญ อาทิ การฟื้นฟูภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ การพัฒนาและการเสริมสร้างสมรรถนะทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาที่ยั่งยืน การบริหารจัดการน้ำ ความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร และการสร้างความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อนึ่ง ACMECS เป็นกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคที่ไทยริเริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๖ ประกอบด้วยประเทศสมาชิก ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม มีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาและความเชื่อมโยงของอนุภูมิภาคฯ ในทุกมิติ และเป็น “แกนของแกนกลาง” (core of the core) ในการผสานผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสถาปัตยกรรมในอนุภูมิภาคฯ โดยมีวาระการพัฒนาของอนุภูมิภาคฯ ในการกำหนดทิศทางความร่วมมือ ACMECS มีการประชุมระดับคณะทำงานและเจ้าหน้าที่อาวุโส อย่างสม่ำเสมอ และมีการประชุมระดับผู้นำทุก ๒ ปี ปัจจุบัน สปป. ลาว ดำรงตำแหน่งประธาน AMECS และไทยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้ประสานงาน ACMECS สำหรับ DPs

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ