แถลงการณ์ร่วมของการหารือระดับผู้นำครั้งที่ 1 ว่าด้วยการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

แถลงการณ์ร่วมของการหารือระดับผู้นำครั้งที่ 1 ว่าด้วยการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 พ.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 พ.ค. 2568

| 723 view

แถลงการณ์ร่วมของการหารือระดับผู้นำครั้งที่ 1

ว่าด้วยการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

 

  1. นายปราโบโว ซูบียันโต ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้เดินทางเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ตามคำเชิญของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย

  2. ในระหว่างการเยือนนี้ นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร และประธานาธิบดีปราโบโว ซูบียันโต ได้ร่วมเป็นประธานการหารือระดับผู้นำครั้งแรกในบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นมิตร โดยทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันความมุ่งมั่นต่อมิตรภาพอันยาวนาน และแสดงเจตจำนงร่วมกันที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไทยกับอินโดนีเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติของทั้งสองประเทศ ได้แก่ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ของไทย และวิสัยทัศน์สีทองของอินโดนีเซีย 2045 (Golden Indonesia Vision 2045)

  3. ในโอกาสดังกล่าว ผู้นำทั้งสองฝ่ายจึงเห็นพ้องให้ยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับอินโดนีเซียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ซึ่งนับเป็นหมุดหมายสำคัญในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ และจะมอบหมายให้คณะทำงานร่วมของทั้งสองฝ่ายจัดทำแผนปฏิบัติการหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

  4. ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ทบทวนความก้าวหน้าของการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีซึ่งมีความครอบคลุมและหลากหลาย โดยรวมถึงด้านความมั่นคง การค้าและการลงทุน เกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว การศึกษา และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ พร้อมทั้งเน้นย้ำความสำคัญของประสิทธิภาพของกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ ซึ่งรวมถึงกรอบการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission Meeting - JC) การประชุมหารือด้านความมั่นคง (Security Dialogue) เวทีการประชุม คณะทำงาน และคณะกรรมการระดับสูง (High-Level Committee: HLC) ในฐานะประเทศที่เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ผู้นำทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างและขยายความร่วมมือในสาขาที่สำคัญ ดังนี้:

    • ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง – ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการรับมือกับอาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมทางไซเบอร์ และการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายระหว่างกัน รวมถึงส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานด้านการป้องกันประเทศ และความร่วมมือในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

    • ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ – กระชับความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนผ่านการจัดประชุม คณะกรรมการร่วมทางการค้าซึ่งมีกำหนดจัดครั้งแรกที่ประเทศไทยในปี 2568 และการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร การส่งเสริมการสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาล การท่องเที่ยว ความมั่นคงด้านพลังงาน การเติบโตสีเขียว และเศรษฐกิจดิจิทัล

    • ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม – เสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ส่งเสริมการศึกษาโดยการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา การส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุข วัฒนธรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน

  5. ผู้นำทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการรักษาความเป็นเอกภาพ ความเข้มแข็ง ความเป็นศูนย์กลาง และการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงของอาเซียน เพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ ความร่วมมือ และการพัฒนาในภูมิภาคและนอกภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากขนาดตลาดร่วมของอาเซียนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การเสริมสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจภายในอาเซียน การเพิ่มความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และการส่งเสริมความร่วมมือที่กว้างขวางยิ่งขึ้นกับหุ้นส่วนภายนอก ท่ามกลางบริบทความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก

  6. นอกจากความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน ผู้นำทั้งสองยังได้ยืนยันถึงความสำคัญของการสนับสนุนซึ่งกันและกันและการประสานงานอย่างใกล้ชิดในเวทีพหุภาคีอื่น ๆ เช่น BRICS องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations) เพื่อรับมือกับความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลกร่วมกัน

  7. ประธานาธิบดีปราโบโว ซูบียันโต แสดงความขอบคุณอย่างจริงใจต่อรัฐบาลไทยสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นและเปี่ยมด้วยมิตรไมตรี พร้อมทั้งได้เชิญนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร เยือนอินโดนีเซียในโอกาสที่เหมาะสม ซึ่งนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้ตอบรับคำเชิญด้วยความยินดี

  8. ผู้นำทั้งสองยังเห็นพ้องที่จะจัดการหารือระดับผู้นำครั้งที่สองที่ประเทศอินโดนีเซียในช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเหมาะสมร่วมกัน

 

*******************

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ