(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)
แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
- นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ พ.ศ. 2519 ไทยและเวียดนามได้วางรากฐานความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและกว้างขวางบนพื้นฐานของความไว้วางใจและความเข้าใจซึ่งกันและกันการประกาศความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับเวียดนามเมื่อ พ.ศ. 2556 ได้ช่วยกระชับความร่วมมือทวิภาคีของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและยังประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมมาสู่ทั้งสองประเทศและประชาชน
- ผลประโยชน์ร่วม ความปรารถนาเพื่อสันติภาพ เอกราช การพึ่งพาตนเอง ตลอดจนวิสัยทัศน์ร่วมกันในด้านความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรือง การพัฒนาที่ยั่งยืน การปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงกฎบัตรสหประชาชาติ ล้วนเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง
- เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับเวียดนามให้สูงขึ้นไป นาย ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ได้ร่วมกันประกาศยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านในช่วงการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 4 ระหว่างการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2568 วาระสำคัญดังกล่าวสะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของทั้งสองประเทศในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ครอบคลุมและความร่วมมือที่ลึกซึ้ง
- ในการประกาศการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน ทั้งสองประเทศต่างมุ่งมั่นที่จะสอดประสานและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับความสัมพันธ์ทวิภาคีในทุกด้าน โดยคำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศ อิสรภาพ อธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน ผลประโยชน์ร่วมกัน และระบบการเมืองของแต่ละประเทศ
- ในการนี้ รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจึงได้ตกลงที่จะเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านเพื่อสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ผ่านสามเสาหลัก ได้แก่ (1) หุ้นส่วนเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืน (2) หุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และ (3) หุ้นส่วนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
หุ้นส่วนเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืน
เพิ่มพูนความร่วมมือในด้านการเมือง การป้องกันประเทศ และความมั่นคงปลอดภัย
- ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนและความร่วมมือในทุกช่องทาง ทั้งในระดับรัฐ รัฐบาล พรรค รัฐสภา ประชาชน จังหวัด และท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชน โดยรวมถึงการพบหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศเป็นประจำทุกปีที่เวียดนาม ไทย หรือในช่วงการประชุมระดับสูงในกรอบพหุภาคี
- ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดทำแผนปฏิบัติการการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างไทยกับเวียดนาม พ.ศ. 2568-2573 ที่สอดคล้องกับพัฒนาการใหม่ ๆ และเป็นไปตามแผนปฏิบัติการการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งระหว่างไทยกับเวียดนาม ระหว่าง พ.ศ. 2565 - 2570 นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามบันทึกความร่วมมือระหว่างสภาผู้แทนราษฎรไทยกับรัฐสภาเวียดนามที่ลงนามไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างรากฐานทางกฎหมายในการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะดำเนินการตามกลไกความร่วมมือทวิภาคีต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี การประชุมคณะกรรมการร่วมด้านความมั่นคง การหารือระดับสูงเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและความมั่นคง การประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง และการประชุมเพื่อปรึกษาหารือด้านการเมือง
- ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมและกองทัพของทั้งสองประเทศ รวมถึงกองทัพเรือ กองทัพอากาศ หน่วยยามฝั่ง ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การลาดตระเวนร่วม การแลกเปลี่ยนประสบการณ์เฉพาะด้าน การศึกษาและการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง และการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ยังตกลงที่จะแสวงหาความร่วมมือในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การแพทย์ทหาร ภารกิจค้นหาและช่วยเหลือ และการบังคับใช้กฎหมายในทะเล
- ทั้งสองฝ่ายย้ำความมุ่งมั่นที่จะไม่อนุญาตให้บุคคลหรือองค์กรใดใช้ดินแดนของประเทศหนึ่งในการดำเนินกิจกรรมต่อต้านอีกประเทศหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคง และทำงานร่วมกันในการป้องกันและต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงการค้ายาเสพติด การโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติ การค้ามนุษย์ การลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน การลักลอบขนอาวุธ การก่อการร้าย การฟอกเงิน อาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาชญากรรมเทคโนโลยีขั้นสูง และอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม สองฝ่ายยังตกลงที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการจัดการการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU)
- ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านกฎหมายและความร่วมมือทางกระบวนการยุติธรรม และมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การโอนตัวนักโทษและร่วมมือในการบังคับใช้บทลงโทษ ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการเจรจาสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและสนธิสัญญาความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา และพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีในการขจัดการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก และการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นที่จะดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรมของเวียดนามและกระทรวงยุติธรรมของประเทศไทย พ.ศ. 2558 อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มพูนการสนับสนุนและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเวทีพหุภาคีทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และแสวงหาการจัดทำความตกลงอื่น ๆ ที่เหมาะสมเพื่อสร้างกรอบกฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อความร่วมมือระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามอาชญากรรม
ส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคี ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ
- ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือของทั้งสองประเทศในเวทีระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ รวมถึงองค์การสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การประชุมเอเชีย-ยุโรป ตลอดจนกรอบรัฐสภา โดยเฉพาะในเรื่องสันติภาพและความมั่นคง การรักษาสันติภาพระหว่างประเทศ การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการตอบสนองต่อความท้าทายในระดับโลก
- ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะรักษาความร่วมมือและการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดภายในอาเซียนและกลไกที่อาเซียนเป็นแกนนำ ทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมความเป็นเอกภาพและการเป็นแกนกลางของอาเซียนและผลักดันกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนให้ก้าวหน้า รวมถึงการพัฒนาและการนำแผนวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2588 และแผนยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติ ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในด้านที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน ฯลฯ รวมถึงการรับมือกับความท้าทายใหม่ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในการพัฒนาอนุภูมิภาค โดยเฉพาะอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
- ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือและประสานงานภายใต้กลไกความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคในกรอบลุ่มแม่น้ำโขงต่าง ๆ รวมถึงยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงที่เกี่ยวข้องอื่นเพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่นและความยั่งยืนของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะส่งเสริมการสอดประสาน ความเกื้อกูล และความสอดคล้องระหว่างกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคกับกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างการพัฒนาและส่งเสริมการพัฒนาอย่างครอบคลุมของอาเซียน ทั้งสองฝ่ายยังยืนยันความมุ่งมั่นในการรับมือกับความท้าทายข้ามพรมแดน รวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ความมั่นคงและการใช้ประโยชน์จากน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษจากหมอกควัน และความมั่นคงทางอาหาร ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแสวงหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาความร่วมมือไตรภาคีกับประเทศอื่นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในเรื่องต่าง ๆที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
- ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะทำงานร่วมกันและร่วมมือกับประเทศอื่นทั้งในและนอกภูมิภาคเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย และเสรีภาพในการเดินเรือในและเดินอากาศเหนือพื้นที่ทางทะเลทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะทะเลจีนใต้ และในเรื่องนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำจุดยืนของอาเซียนในเรื่องทะเลจีนใต้ โดยยืนยันความสำคัญและเรียกร้องให้ใช้ความยับยั้งชั่งใจในการดำเนินกิจกรรมที่อาจทำให้ข้อพิพาทซับซ้อนหรือทวีความรุนแรงขึ้น และบั่นทอนสันติภาพและเสถียรภาพ ทั้งสองฝ่ายยังย้ำการหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้สถานการณ์ซับซ้อนขึ้น และเรียกร้องให้มีการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี โดยปราศจากการคุกคามหรือการใช้กำลัง ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS) โดยให้เคารพกระบวนการทางกฎหมายและการทูตอย่างเต็มที่ ทั้งสองฝ่ายย้ำว่า UNCLOS ค.ศ. 1982 กำหนดกรอบกฎหมายสำหรับการดำเนินกิจกรรมทั้งหมดในมหาสมุทรและทะเล ทั้งสองฝ่ายยืนยันการสนับสนุนการดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีฝ่ายต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้ (DOC) อย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจรจาและการหาข้อสรุปเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) ที่มีประสิทธิผลและมีเนื้อหาที่ครอบคลุม สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ UNCLOS ค.ศ. 1982
หุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
เพิ่มพูนความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ
- ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะสนับสนุนกลไกความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาล สมาคมกับสมาคม จังหวัดกับจังหวัด และธุรกิจกับธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศผ่านความร่วมมือและการเกื้อกูลจุดแข็งซึ่งกันและกันภายใต้แนวคิด “ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์และเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน"
- ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงบทบาทของแต่ละฝ่ายในฐานะคู่ค้าอันดับต้นและมุ่งมั่นที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน เพื่อมุ่งสู่การค้าทวิภาคีที่สมดุลและเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นบรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้าทวิภาคี 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามที่ผู้นำของทั้งสองประเทศได้ตกลงไว้ และกำหนดเป้าหมายใหม่สำหรับช่วงเวลาถัดไป ในด้านการเยียวยาการค้า ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะลดการพิจารณาหารไต่สวนทางการค้าบนพื้นฐานของหลักการความเป็นกลาง ความโปร่งใสและความเป็นธรรม ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายของแต่ประเทศและพันธกรณีขององค์การการค้าโลก (WTO) ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องที่ทั้งสองประเทศห่วงกังวล
- ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้ธุรกิจในแต่ละประเทศขยายการลงทุนและดำเนินกิจการระยะยาวในตลาดของอีกประเทศหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะร่วมมือและสนับสนุนกันและกันให้มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นในห่วงโซ่คุณค่าและส่งเสริมแนวปฏิบัติทางธุรกิจที่ยั่งยืน ทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อธุรกิจเพื่อลดผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าโลกในปัจจุบัน
- ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านแรงงาน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม รวมถึงการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างไทยกับเวียดนามฉบับใหม่ และความตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานเวียดนามในราชอาณาจักรไทยโดยเร็ว
- ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้มีการประสานงานและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการขนส่ง ศุลกากร การเงินและการธนาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกการค้า การขนส่งและการผ่านแดนของสินค้าของทั้งสองประเทศ และการขนส่งไปประเทศที่สาม โดยเฉพาะที่จุดผ่านแดน ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแบ่งปันประสบการณ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในด้านการชำระเงินข้ามพรมแดน การตรวจสอบและกำกับดูแลธนาคาร และนวัตกรรมทางการเงิน
- ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะใช้ประโยชน์จากกรอบเศรษฐกิจและความตกลงการค้าเสรีที่ทั้งสองฝ่ายเป็นสมาชิกอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) และความตกลงการค้าเสรีอื่นระหว่างอาเซียนกับหุ้นส่วนต่าง ๆ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อดำเนินการตามมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) และวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 ของเอเปค เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อท้องถิ่น ธุรกิจ และประชาชน
ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ “การเชื่อมโยง ๓ ด้าน” อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมร่วมมือในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศ
- ภายหลังจากการจัดตั้งคณะทำงานร่วม ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะใช้ประโยชน์จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการผลิตและห่วงโซ่อุปทานโลกเพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในด้านที่เกื้อกูลและเป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น เกษตรกรรม ปิโตรเคมี เครื่องจักร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโลจิสติกส์ ทั้งสองฝ่ายยังตั้งเป้าหมายที่จะสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ในพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพและมีจุดแข็ง
- ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะระหว่างท้องถิ่นและวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) รวมถึงธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะแสวงหามาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาดของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของแต่ละฝ่าย รวมถึงการจัดทำข้อตกลงการรับรองผลิตภัณฑ์ภายใต้โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของไทยและโครงการหนึ่งชุมชนหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OCOP) ของเวียดนาม ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเชื่อมโยงผ่านการขนส่งและการเชื่อมโยงโลจิสติกส์หลายรูปแบบระหว่างสองประเทศและอนุภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาเส้นทางการขนส่งทางทะเลที่เชื่อมโยงไทย กัมพูชา และเวียดนาม ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระดับท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนตามระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตกและระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้
- ทั้งสองฝ่ายจะแสวงหาความร่วมมือที่มีศักยภาพเพื่อดำเนินการตามกลยุทธ์การเติบโตสีเขียวและยั่งยืนของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวแห่งชาติเวียดนาม ค.ศ. 2021 – 2030 ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่จะดำเนินการจนถึงปี ค.ศ. 2050 และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยเพื่อนำเศรษฐกิจทั้งสองประเทศให้มุ่งสู่เวทีความร่วมมือที่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ เช่น เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่ยุติธรรม การเกษตรอัจฉริยะที่ปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการตอบสนองต่อความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งสองฝ่ายจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อพัฒนารูปแบบความร่วมมือที่ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสีเขียว มุ่งสู่การบรรลุเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในที่สุด
หุ้นส่วนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
ส่งเสริมความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
- ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึง การแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ในการพัฒนาระบบนิเวศทางนวัตกรรมและเชื่อมโยงเครือข่ายสตาร์ทอัพเชิงนวัตกรรมระหว่างสองประเทศ รวมถึงการปูทางสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์และการนำไปใช้เชิงพาณิชย์ต่อไป
- ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเน้นด้านที่มีศักยภาพ เช่น การทำธุรกรรมข้ามพรมแดน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) และบริการการเงินดิจิทัล ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการบูรณาการทางการเงินระหว่างสองประเทศและภายในภูมิภาค
- ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือและการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการจัดทำนโยบาย เอกสารทางกฎหมาย กลยุทธ์การพัฒนาและการจัดการในประเด็นเฉพาะด้าน เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล รัฐบาลดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และเมืองอัจฉริยะ
ส่งเสริมความเข้าใจที่ลึกซึ้งและมิตรภาพที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ
- ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะดำเนินกิจกรรมร่วมกันเพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญของทั้งสองประเทศ รวมถึงการครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเวียดนามในปี พ.ศ. 2569
- ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน โดยเฉพาะการเพิ่มกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเยาวชน ผ่านกิจกรรมในด้านการศึกษา วัฒนธรรม การเป็นผู้ประกอบการ ภาษา และสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน มิตรภาพที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และการตระหนักถึงความร่วมมือเพื่อมุ่งสู่อนาคตร่วมกันที่เข้มข้นยิ่งขึ้นระหว่างประชาชน เยาวชน และทั้งสองประเทศ
- ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการศึกษาและการฝึกอบรม โดยส่งเสริมและขยายการเรียนการสอนภาษาไทยและภาษาเวียดนามในแต่ละประเทศอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการเปิดศูนย์ภาษา วัฒนธรรม และการศึกษาของแต่ละประเทศในอีกประเทศหนึ่ง และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักเรียนระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของทั้งสองประเทศ
- ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามข้อเสนอของไทยเกี่ยวกับการเชื่อมโยงภายในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางอย่างไร้รอยต่อและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากนอกภูมิภาคภายใต้โครงการ “หกประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง” ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะสนับสนุนการเปิดเที่ยวบินตรงใหม่ระหว่างจังหวัดของทั้งสองประเทศเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในทั้งสองประเทศ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน และเพิ่มพูนการเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
- ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมกันอนุรักษ์คุณค่าทางวัฒนธรรมและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม รวมถึงการรักษาแหล่งวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น อนุสรณ์สถานที่เกี่ยวข้องกับประธานาธิบดีโฮจิมินห์ วัดเวียดนาม และเวียดนามทาวน์ เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ ทั้งสองยังตกลงที่จะสนับสนุนการแลกเปลี่ยนคณะผู้แทนสงฆ์อันนัมนิกายระหว่างสองประเทศ
- ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ รวมถึงกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศของไทย และกระทรวงแผนการและการลงทุนของเวียดนาม เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และขยายโครงการความร่วมมือเพื่อ การพัฒนาของไทยในเวียดนาม โครงการเหล่านี้ครอบคลุมถึงโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ในจังหวัดท้ายเงวียนและเบ๊นแจ โครงการพัฒนาภาษาไทยและการศึกษาภาษาไทย และการจัดให้มีอาสาสมัครชาวไทยจำนวน 5 คนเป็นผู้ช่วยสอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัย 4 แห่งในเวียดนาม ภายใต้โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย
- ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือเมืองคู่มิตรระหว่างจังหวัดของทั้งสองประเทศอย่างเต็มที่ รวมถึงการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ การจัดเวทีเสวนาและการประชุมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือโดยตรงระหว่างจังหวัดในรูปแบบที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมจุดแข็งและผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น รวมถึงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในระดับท้องถิ่นให้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
- ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัย การทำงาน และการศึกษาของพลเมืองเวียดนามในไทย และพลเมืองไทยในเวียดนาม นอกจากนี้ ยังให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนบทบาทเชิงรุกของชุมชนชาวเวียดนามในไทย และชุมชนชาวไทยในเวียดนาม ในการเสริมสร้างความสามัคคีและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม และสมาคมมิตรภาพเวียดนาม-ไทย กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-เวียดนาม และเวียดนาม-ไทย ตลอดจนสมาคมไทย-เวียดนาม และเวียดนาม-ไทย อื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ มิตรภาพ และความร่วมมือระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ
จัดทำเป็นคู่ฉบับภาษาอังกฤษเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ซึ่งมีความถูกต้องเท่าเทียมกัน
สามารถดูฉบับภาษาอังกฤษได้ที่: https://www.mfa.go.th/en/content/joint-statement-th-vn-com-str-par-en
* * * * * * *